อีสานน้ำท่วมหนักซ้ำสอง”หอมมะลิ”พุ่งแตะ14,000บ.

อ่วม - พื้นที่การเกษตรในภาคอีสานยังคงวิกฤต โดยเฉพาะ จ.ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียง ขณะนี้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 5 แสนไร่ และอาจขยายวงกว้างมากขึ้น

น้ำท่วมซ้ำอีกระลอกนาข้าวหอมมะลิภาคอีสาน พื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำชีสาหัสทั้งมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขณะที่ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้นแตะเกวียนละ 14,000 บาท ด้านผู้ประกอบการโรงสีรุกส่งออกเอง ลดพึ่งพ่อค้ารายใหญ่

นายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เขื่อนอุบลรัตน์จะระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนอาจมีระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ต้องดูพายุฝนที่จะมาว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้พื้นที่ปลูกข้าวใน จ.ร้อยเอ็ดที่เสียหายไม่น้อยกว่า 5 แสนไร่ น้ำระลอกใหม่จากเขื่อนคงจะขยายพื้นที่เพิ่ม แต่ภายในตัวเมืองไม่กระทบเท่าไหร่ มีเพียงพื้นที่ลุ่มน้ำทำการเกษตร บริเวณพนังกั้นลำชีที่เป็นทางเดินน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาวไหลมารวมกันในลำน้ำชีสู่ที่ราบลุ่มของ จ.ร้อยเอ็ด”

ด้านนางจวงจิรา สุริยวนากุล ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะฤดูการผลิตปี 2560/2561 ที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตปลาย ต.ค.-พ.ย.60 ราคาเริ่มปรับสูงขึ้นแล้ว เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อย ความต้องการของตลาดในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 3.2 ล้านไร่ เสียหายปีละ 20% เนื่องจากฝนแล้งและอุทกภัย ปกติจะได้ผลผลิตประมาณ 80% จากพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 2.5 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 ประมาณ 1.8 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ผลผลิตประมาณ 440 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเหนียว 7 แสนไร่ ผลผลิต 500 กิโลกรัมต่อไร่

ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2559/2560 น้ำน้อยฝนแล้ง พื้นที่ปลูกข้าวนาดอน (พื้นที่สูง) ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ แต่ในปี 2560/2561 เกิดน้ำท่วมในช่วงต้นฤดูการผลิต ทำให้พื้นที่นาดอนได้ผลผลิตดี แต่นาลุ่มได้รับความเสียหายแทน จึงคาดว่าผลผลิตในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แม้จะมีข้อมูลว่าพื้นที่ปลูกข้าวประสบภัยน้ำท่วม 7-8 แสนไร่ แต่บางพื้นที่น้ำลดเร็ว เกษตรกรสามารถกลับมาฟื้นฟูและปลูกข้าวรอบใหม่ได้ ขณะที่บางพื้นที่ผลผลิตเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมความเสียหายของนาข้าวทั้งจังหวัดน่าจะอยู่ที่ 15-20% ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสียังประมาณการราคาได้ไม่แน่ชัด ต้องรอดูตลาดต่อไป แต่คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิ 105 จะปรับราคาสูงขึ้น เพราะในปัจจุบัน (ก.ย.-ต.ค. 60) ราคาอยู่ที่ 14,000 บาท/เกวียน เพิ่มขึ้นมาจากราคาเดิม 11,000 บาท/เกวียนจากเดือน มี.ค.-เม.ย. นับเป็นปรากฏการณ์ที่คาดไม่ถึงสำหรับราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น 3,000-4,000 บาทภายในปีเดียวกัน จึงคาดว่าปีหน้าราคาจะเริ่มต้นที่ 12,000 บาท/เกวียนขึ้นไป

ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยยังเป็นตลาดจีน ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการโรงสีหันมาทำการส่งออกด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านบริษัทตัวแทนผู้ส่งออก เช่นเดียวกับ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะได้เดินทางไปหาตลาดเพื่อส่งออกข้าวไปยังสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง แต่มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ยังคงต้องพึ่งพาผู้ส่งออกรายใหญ่

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวหอมมะลิยังประเมินไม่ได้ ต้องดูปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือน ต.ค.นี้ และกังวลว่าปริมาณน้ำจะส่งผลให้คุณภาพข้าวมีความชื้นสูงและเก็บเกี่ยวยาก เพราะเกษตรกรจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ กข 15 ในช่วงกลางเดือน ต.ค. ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 จะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนราคาข้าวที่สูงขึ้นในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยหลักคือการสต๊อกข้าวของผู้ประกอบการโรงสี ฉะนั้นปีนี้ราคาไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว คาดว่าราคาขั้นต่ำที่ความชื้น 15% ไม่น่าจะต่ำกว่า 12,000 บาท/เกวียน


สำหรับที่ จ.มหาสารคาม รายงานข่าวแจ้งว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบหนักที่ อ.โกสุมพิสัย และเมืองกว่า 8 หมื่นไร่ ส่วน อ.กันทรวิชัย และเชียงยืนนั้นตัวเลขยังไม่นิ่งเนื่องจากมวลน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าน้ำจะท่วมกว่า 1 แสนไร่ ผลผลิตเสียหายไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นตัน มูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท หากนับรวมความเสียหายตั้งแต่เดือน ก.ค.60 ในพื้นที่ 4 อำเภอจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 2.3 แสนไร่ ผลผลิตเสียหายกว่า 9 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท