ตรวจต่างด้าว ‘โรงงานอาหารทะเล’ มหาชัย ติดโควิด 900 ราย

โรงงานอาหารทะเล
ภาพประกอบข่าว : Photo by STR / AFP

โควิด-19 สมุทรสาครลามไม่หยุด แรงงานต่างด้าวติดเชื้อเกือบ 1,000 คน แค่โรงงานอาหารทะเลแห่งเดียว ตัวเลขพุ่งกว่า 500 คน ส่งผลธุรกิจอาหารทะเล-แช่เยือกแข็งบนถนน “เศรษฐกิจ 1” เกิดภาวะช็อก หวั่นส่งออกมีปัญหา สมาคมแช่เยือกแข็งขอให้ตรวจแรงงานทั้งหมด สอดคล้องกับสภาอุตสาหกรรมสมุทรสาครต้องการให้ตรวจโรงงานทั้งหมดเช่นกัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร นับจากการพบผู้ป่วยรายแรกที่ตลาดค้ากุ้ง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันที่ 4 มกราคม ปรากฏมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 2,871 ราย แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 2,272 ราย คนไทย 599 ราย

ทั้งหมดนี้มาจากการค้นหาเชิงรุก 20,725 ราย มีการส่งตรวจ lab ไปแล้ว 16,333 ราย จากข้อเท็จจริงที่ว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ตรวจเชิงรุกนั้นยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในจังหวัด ที่คาดการณ์กันว่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 400,000-500,000 คน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดมีตัวเลขพุ่งสูงมาโดยตลอด และพร้อมที่จะแพร่ออกไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย หากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดในจังหวัดสมุทรสาครได้ในเร็ววันนี้

แน่นอนว่าแหล่งรังโรคใหญ่ของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นในตลาดค้าสินค้าอาหารสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดกลางค้ากุ้งสมุทรสาคร กับตลาดทะเลไทย ที่มีสินค้าสัตว์น้ำทะเลเข้าสู่ตลาดวันละหลายร้อยตัน จนจังหวัดสมุทรสาครได้ชื่อว่า เป็นเมืองหลวงของสัตว์น้ำทะเล และเป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่ของโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งแช่เยือกแข็งและแปรรูปที่ตั้งกระจายอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

ดังนั้น การระบาดของโควิด-19 ผ่านทางแรงงานต่างด้าวจึงลุกลามใหญ่โตเข้าสู่พื้นที่ภายในโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเชิงรุกในช่วงปีใหม่ ส่งผลให้เกิดความกังวลไปทั่วทั้งในหมู่แรงงาน ผู้อยู่อาศัยภายในจังหวัด และเจ้าของโรงงาน ที่เกรงว่าหากข่าวกระจายออกไปว่า แรงงานในโรงงานทั่วสมุทรสาครติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมากก็จะถูกประเทศผู้นำเข้าสั่งห้ามนำเข้า หรือตรวจทางด้านสุขอนามัยเข้มงวดมากขึ้น

ติดโควิดในแรงงานหนัก

แหล่งข่าวจากวงการค้าอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ตอนนี้ “หนักมาก” จากการตรวจเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่พักอาศัยรอบ ๆ โรงงานผลิตอาหารทะเลในแต่ละวันพบแรงงานติดเชื้อเป็นจำนวนหลายร้อยรายไปจนถึงเกือบถึง 1,000 รายคน

ที่สำคัญ แหล่งที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานผลิตปลากระป๋องและอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง บริเวณถนนเศรษฐกิจ 1 ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร หรือห่างจากตลาดกลางกุ้งที่เป็นแหล่งรังโรคขนาดใหญ่เพียง 1.4 กม.เท่านั้น

จากการตรวจเชิงรุกแรงงานบางส่วนในโรงงานอาหารทะเลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งประมาณ 4,000 คน ปรากฏพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ประมาณ 900 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว สะท้อนผ่านตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาครทยอยประกาศออกมาอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2564 พบแรงงานต่างด้าวติดเชื้อรายใหม่ 455 คน

และวันที่ 4 มกราคม 2564 พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 396 คน โดยมีข้อน่าสังเกตว่าจังหวัดสมุทรสาครไม่ยอมประกาศสถานที่ที่เข้าตรวจเชิงรุกในพื้นที่ใด เวลาไหน และโรงงานใดบ้างที่พบการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ให้กับประชาชนในจังหวัดได้ทราบ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วทั้งจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติในจังหวัดอื่น ๆ อาทิ ระยอง-ชลบุรี-จันทบุรี ที่มีการประกาศไทม์ไลน์สถานที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อให้ทุกคนได้รับทราบอย่างชัดเจน

“มีการพูดกันมากว่า ที่จังหวัดไม่ยอมประกาศว่ามีแรงงานในโรงงานใดติดเชื้อโควิด-19 นั้นอาจจะเป็นความกลัวของเจ้าของโรงงานว่า สินค้าส่งออกของตนจะถูกแบน ห้ามส่งออกจากประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากแรงงานในโรงงานติดเชื้อโควิด แต่ไม่ยอมปิดโรงงานเพื่อกักกันโรคระบาด

ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ตัวสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าแช่เย็นแช่แข็งจำพวกอาหารทะเลและภาชนะบรรจุสินค้าอาหารสำเร็จรูป อาจจะมีการปนเปื้อนการติดเชื้อเล็ดลอดออกไปได้ เหมือนกับที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ในต่างประเทศ แต่ก็ยอมรับกันว่าโอกาสที่จะปนเปื้อนในอาหารทะเลกระป๋องนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากระบบการบรรจุกระป๋องจะมีการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง เชื้อไวรัสตายหมดไม่สามารถปนเปื้อนเข้าไปได้ แต่สำหรับอาหารแช่แข็งหรือตัวภาชนะบรรจุภัณฑ์ไม่มีใครรับประกันการปนเปื้อนได้ 100%” แหล่งข่าวกล่าว

จับตาถนนเศรษฐกิจ 1 แหล่งโรงงานอาหารทะเล

มีรายงานข่าวจากผู้ประกอบการโรงงานอาหารในสมุทรสาครเข้ามาว่ากรณีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดในแรงงานต่างด้าวและแรงงานคนไทยเป็นจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในโรงงานอาหารทะเล ทำให้ผู้ประกอบการในวงการอาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครถึงกับตกอยู่ใน “ภาวะชะงักงัน” ไล่มาตั้งแต่โรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณถนนเศรษฐกิจ 1 ในรัศมีห่างออกไปเพียง 1-5 กิโลเมตร ล้วนเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเล/อาหารแช่เย็นแช่แข็งและปลากระป๋องรายใหญ่ที่ส่งออกไปตีตลาดทั่วโลก มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี แทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ถนนเศรษฐกิจ 1 เป็นที่ตั้งของโรงงานอาหารทะเลชั้นนำ อาทิ บริษัท พัทยาฟู้ด อินดัสตรี, บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทในเครือตั้งโรงงานกระจายอยู่ในละแวกเดียวกันหลายโรงงาน, บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน), บริษัท รอยัลฟู้ดส์ จำกัด และบริษัท เอเชียนแปซิฟิคแคน จำกัด เป็นต้น

ล่าสุดสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ซึ่งบรรดาโรงงานอาหารทะเลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสมาชิกอยู่ ได้มีการประชุมกันและมีมติที่จะมีการตรวจค้นหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในพนักงานทั้งหมดในแต่ละโรงงานของสมาชิกทุกแห่งในจังหวัดสมุทรสาครด้วย “แต่มีการหารือกันว่า หากให้แต่ละโรงงานไปตรวจโควิด-19 กันเอง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายละไม่น้อยกว่า 3,000 บาท จึงมีการเสนอว่าควรหารือกับสำนักงานประกันสังคม นำเงินที่เก็บไปทุกเดือนเข้ามาช่วยในเรื่องค่าตรวจค้นหาเชื้อโควิดได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอว่าภาครัฐจะว่าอย่างไรต่อไปด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครมากกว่า 100 แห่ง มีแผนที่จะตรวจค้นหาเชิงรุกเชื้อโควิดในโรงงานต่าง ๆ ทุกอำเภอในจังหวัดสมุทรสาครด้วย โดยเบื้องต้นจะพุ่งเป้าไปยังพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ที่มีการระบาดของโรคมากที่สุดก่อน

ทุ่ม 200 ล้าน สุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยง

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 1/2564 มีนายสุทธิ สุโกศล เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง การเพิ่มสิทธิตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เชิงรุกในสถานประกอบการสำหรับพื้นที่เสี่ยง รายละเอียดประกอบด้วย 1) ให้ปรับแก้ร่างประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อ

ไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019) เชิงรุกในสถานประกอบการที่เสนอ โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราดังต่อไปนี้ จังหวัดที่จะมีการสุ่มตรวจเป็นจังหวัดที่อยู่ในระดับการควบคุมสูงสุด ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้อง การสุ่มตรวจในสถานประกอบการทั้งจำนวน วิธีการ และอัตราค่าตรวจให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯเห็นชอบ

โดยในการสุ่มตรวจโควิด-19 ข้างต้น ในระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 64 จะใช้เงินไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่อรองรับการสุ่มตรวจได้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน ทั้งนี้การสุ่มตรวจในแต่ละจังหวัดให้สำนักงานประกันสังคมหารือและพิจารณาร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายธีระวิทย์ วงศ์เพชร คณะกรรมการประกันสังคม ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า สำหรับวิธีการดำเนินงานจะสุ่มตรวจในสถานประกอบการที่ค่อนข้างเสี่ยงสูงเป็นอันดับต้น ๆ และมีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งในพื้นที่เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เช่น จังหวัดสมุุทรสาคร

ทั้งนี้ ในที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมมีข้อกังวลใน 2 ประเด็น คือ 1) หากสุ่มตรวจแล้วพบแรงงานติดเชื้อโควิด-19 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ในการรักษาพยาบาล เพราะในขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน และ 2) การติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่จะกระทบต่ออันดับการค้ามนุษย์ หรือ tier ของประเทศไทยหรือไม่ด้วย

“ทียู” พนักงานติดโควิด 69 ราย ในโรงงานสมุทรสาคร

ล่าสุด นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เผยว่า ณ วันที่ 5 มกราคม 2564 พนักงานไทยยูเนี่ยนจำนวน 23,630 คน หรือมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว โดยจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในจังหวัดสมุทรสาครมีทั้งสิ้น 27,552 คน

และได้รับผลการตรวจยืนยันโดยวิธี PCR มีพนักงานที่ติดเชื้อเพียง 0.29 เปอร์เซ็นต์ หรือ 69 คน บริษัทได้ทำการแยกพนักงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อกักตัวและส่งรักษากับทางภาครัฐต่อไปหากมีอาการใดๆ ทั้งนี้การตรวจทั้งสิ้นจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์หน้า

“ผมขอย้ำตรงนี้ว่าพนักงานของเราทุกคนจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของเราทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี โดยไม่จำกัด อายุ เพศ หรือเชื้อชาติ เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าการผลิตของไทยยูเนี่ยนจะดำเนินอย่างต่อเนื่อง”