ล้งจันท์กดราคาซื้อลำไย ฉีกสัญญาอ้างตกเกรดจีน

เกษตรกรสวนลำไยจันทบุรีถูกล้งเอาเปรียบสารพัด ล่าสุดตัดเกรดปัดลำไยอินโดราคาวูบ 50% ทันที ชี้การซื้อ-ขายต้องจบหน้าสวน แนะสร้างเครื่องมือมาตรฐานคัดเกรดช่วยชาวสวนที่ต้องสูญเสียรายได้กว่าครึ่งมานาน

นายชรัตน์ เนรัญชร เกษตรกรชาวสวนลำไย อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยมีปัญหากับล้งที่ทำสัญญาซื้อ-ขาย จากปกติล้งจะส่งทีมมาเก็บในสวน และทำการคัดเลือกคุณภาพบรรจุลงตะกร้าตามเบอร์ และคัดแยกลูกร่วง ซึ่งลำไยที่บรรจุในตะกร้าออกจากสวนส่งล้งถือว่าสิ้นสุดการซื้อขายหน้าสวนแต่ละครั้ง แต่แปลงสุดท้ายที่เพิ่งเก็บเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อนำลำไยไปส่งที่ล้งกลับถูกเจ้าหน้าที่ตรวจตัดเกรดลำไยในตะกร้าอีกรอบ และมีการตีกลับบางส่วนโดยอ้างว่าไม่ได้คุณภาพ โดยที่ชาวสวนไม่มีสิทธิโต้แย้งกับล้ง เพราะล้งคัดเกรดที่หน้าโรงงานฝ่ายเดียว ถือเป็นการเอาเปรียบชาวสวนโดยลดราคาลงอย่างไม่เป็นธรรม

ปกติลำไยที่ส่งออกไปตลาดจีนมี 2 เกรด คือ เกรดลำไยจีน และเกรดลำไยอินโด (เป็นลำไยเกรดรอง) แต่ทั้ง 2 เกรดส่งไปจำหน่ายที่ตลาดจีนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันไม่มีการส่งออกไปอินโดนีเซียแล้ว ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวทางการต้องเร่งแก้เรื่องการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม ควรกำหนดมาตรฐาน QC การซื้อขาย (commercial terms) ให้ชัดเจน เพราะการตัดลำไยเกรดรองหรือลำไยอินโดราคาจะต่ำกว่ากิโลละ 5-6 บาท หากชาวสวนถูกตีเป็นลำไยอินโดมาก ๆ ขาดทุนแน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 16-18 บาท การซื้อขายแบบนี้ชาวสวนลำไยถูกล้งเอาเปรียบทั้งระบบ

ตอนนี้ได้นำเรื่องเสนอ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รับทราบ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว และประสานกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาทางหยุดวงจรนี้ เท่าที่ทราบล่าสุดหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ภาคเอกชนสมาคมชาวสวนลำไย สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี จะร่วมกันหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ผลผลิตลำไยฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด

“ลำไยที่รับซื้อเกรดลำไยจีนกิโลกรัมละ 30-32 บาท ถ้าตัดเกรดรองอินโดราคาลดเหลือ กก.ละ 16-18 บาท และลูกร่วงกิโลละ 7 บาทเท่านั้น ทั้งที่ลำไยอินโดส่งจำหน่ายที่ตลาดจีนเช่นเดียวกัน แต่ราคาจะต่ำกว่ากิโลละ 5-6 บาท แต่ตีเป็นผิวอินโดทั้งตะกร้าลดราคาไป 50% หากชาวสวนถูกตีเป็นอินโดมาก ๆ ขาดทุนแน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 16-18 บาท การซื้อขายแบบนี้ชาวสวนลำไยถูกล้งเอาเปรียบทั้งระบบ ปัญหาดังกล่าวได้นำเสนอ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว และจะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาทางหยุดวงจรนี้” นายชรัตน์กล่าว

ทางด้านผู้ประกอบการรับซื้อลำไย ทีมเก็บและรับซื้อลำไยให้บริษัทส่งออกไปจีน กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดกับล้งที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ซื้อใบ) หรือเหมาสวนในราคาที่สูง เพื่อหาลูกค้าให้ได้มากที่สุด เมื่อถึงภาวะตลาดราคาลง หรือตลาดไม่ดี จำเป็นปรับราคาที่ทำสัญญาไว้ลดลงเพื่อไม่ให้ขาดทุน จึงพยายามเข้มงวดการคัดคุณภาพเพื่อให้ลำไยตกเกรดและซื้อในราคาต่ำ ประกอบกับคุณภาพลำไยปีนี้มีปัญหาคุณภาพไม่ดีนัก เนื่องจากอากาศแปรปรวน เป็นหัวลิง หัวแข็ง ลูกเล็ก รวมทั้งเป็นผิวลาย ผิวแดงที่เรียกว่าผิวอินโด ลำไยอินโดถ้านำไปอบให้ผิวสวย 5-7 วัน จะกลับสู่สภาพเดิม

ราคาขายที่ตลาดจีนจึงต่างกัน เช่น ลำไยจีนเบอร์ 1-2 กิโลกรัมละ 160-170 หยวน ลำไยอินโด 135-140 หยวน ต่ำกว่า 16% ปกติถ้าเก็บลำไยในสวนบรรจุตะกร้าลำไยอินโดจะปะปนได้ไม่ควรเกิน 10% ต้องตบแต่งไม่ให้มองเห็น คนงานเก็บเป็นผู้รับผิดชอบ ปัญหาการตัดเกรดลำไยอินโด บางล้งมือทีมเก็บไม่ใช่คนของล้งจึงไม่รับผิดชอบ

ทางด้าน ดร.วศิน ยิ้มแย้ม เจ้าของไร่พันดาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล้งเอาเปรียบชาวสวนด้วยวิธีหลากหลาย คือ 1) เก็บลำไยลงตะกร้าเฉพาะเบอร์ใหญ่ (1-2) ส่วนเบอร์กลาง (3-4) แทนที่จะลงตะกร้าตามสัญญา กลับคัดเป็นลำไยร่วง ซึ่งราคาลำไยลงตะกร้าราคา 30-35 บาท/กิโลกรัม ส่วนลำไยร่วงราคา 3 บาท 2) ไม่มาเก็บตรงตามเวลาปล่อยให้ลำไยเสียหายคาต้น ขาดทุนขายให้คนอื่นไม่ได้เพราะมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 3) โกงน้ำหนัก ตกลงตามสัญญาคือตะกร้าละ 11.5 กก. (รวมตะกร้า 12.5 กก.) แต่ใช้วิธีจัดเต็มตะกร้าเป็นเกณฑ์ ไม่ได้ชั่งน้ำหนัก บางครั้งอัดถึง 14-15 กิโลกรัม ชาวสวนเสียเปรียบรายได้หายกว่าครึ่ง ควรสร้างมาตรฐานชั่งน้ำหนักทุกตะกร้า และล้งควรจะได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เช่นเดียวกับเกษตรกร ควรทำลำไยคุณภาพตามมาตรฐาน GAP

“ลำไย 1 แปลง โดยเฉลี่ยจะมีเบอร์ 1-2 ประมาณ 40% เบอร์ 3-4 อย่างละ 20% ที่เหลือ 20% เป็นลูกร่วงตกเกรดปกติที่ล้งจะซื้อเบอร์ 1-4 ราคาเดียวกัน เช่น กิโลกรัมละ 30-35 บาท ส่วนลูกร่วงซื้อราคาต่ำมาก 3 บาท ส่วนใหญ่เบอร์ 3-4 จะถูกปัดตกเกรดเป็นราคาลูกร่วง รายได้ชาวสวนหายไปทันทีเกิน 50% การคัดแยกเกรดลำไยเบอร์ 1-4 ควรมีเครื่องคัดที่มาตรฐาน ไม่ใช่วัดด้วยสายตา เบอร์ 1-2 อาจจะไม่มีปัญหา แต่เบอร์ 3-4 แยกยาก การคัดโดยใช้ตะแกรงร่อนหรือเครื่องมือที่ควรคิดขึ้นมา ชาวสวนถูกเอาเปรียบมานานและสูญเสียรายได้มากกว่าการตัดเกรดลำไยอินโดที่เพิ่งจะมีขึ้นปีนี้”


ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีแจ้งว่า ผลผลิตลำไยปี 2564 มีปริมาณ 193,171 ตัน ลดลงจากปี 2563 จำนวน 68,798 ตัน หรือ 26.26% โดยผลผลิตเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ประมาณ 160,700 ตัน หรือ 86.94% เหลือเพียง 14% จะสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้ และจะเริ่มมีผลผลิตออกฤดูกาลต่อไปตั้งแต่เดือนตุลาคม สำหรับลำไยจีนเป็นลำไยที่มีคุณภาพ ลูกใหญ่ ผิวสวย เนื้อใส กรอบ หอม ส่วนลำไยอินโด ลูกเล็ก ผิวลาย (สีเหลืองก้ำกึ่งแดง) เนื้อแข็งด้าน แฉะน้ำ เมื่อก่อนล้งส่งขายอินโดนีเซียบรรจุตะกร้าเหล็ก 20 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ลำไยทั้งจีนและอินโดส่งไปจำหน่ายตลาดจีนเช่นเดียวกัน