เปิดใจ”ทาธฤษ กุณาศล” “เนสท์เล่” ชี้ไม่ได้ปิดประตูอราบิก้าใต้

กาแฟ

หลังจาก “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับวันที่ 4-7 มีนาคม 2564 ลงข่าว “เนสท์เล่เมินซื้ออราบิก้าภาคใต้ ชี้คุณภาพต่ำหวั่นสวนกาแฟต้องโค่นทิ้ง”นั้น “นายทาธฤษ กุณาศล” ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้มาไขข้อข้องใจถึงเรื่องดังกล่าว และขั้นตอนการรับซื้อกาแฟโรบัสต้าและอราบิก้ากับ “ประชาชาติธุรกิจ”

หนุนต้นน้ำยันปลายน้ำ

ทาธฤษบอกว่า ปณิธานของเนสท์เล่เป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ปลูกกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่เตรียมพันธุ์ โดยมี R&D อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อคัดเลือกพันธุ์

โดยกาแฟโรบัสต้าที่เนสท์เล่ลงทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร มี 2 สายพันธุ์ คือ R2017-1 และ R2017-2 ให้ผลผลิตสูงถึง 350 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าที่เกษตรกรปลูกทั่วไป เมล็ดใหญ่กว่า หลังจากนั้นนำไปเพาะต้นกล้า โดยมีที่เพาะต้นกล้าขนาด 24 ไร่ อยู่ที่ อ.สวี จ.ชุมพร เพื่อขายให้เกษตรกรไปปลูก

โดยบริษัทมีเป้าหมายกระจายต้นกล้าให้ได้ 3 แสนต้นต่อปี และบริษัทมีพื้นที่ทำศูนย์วิจัยทดลองปลูกจริง บนพื้นที่ 60 ไร่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ปัจจุบันบริษัทมีเกษตรกรที่ได้รับต้นกล้าจากบริษัท 5,000 กว่าคน หากคิดว่าเป็นการปลูกพื้นที่เชิงเดี่ยวใช้ต้นกล้า 177 ต้นต่อไร่ แต่ความจริง เกษตรกรภาคใต้นิยมปลูกเป็นพืชผสมแซมกับต้นทุเรียน ดังนั้น พื้นที่อาจจะไม่ได้ 177 ต้นต่อไร่

ผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าที่นำผลผลิตมาส่งบริษัทส่วนใหญ่อยู่ใน 2 จังหวัด ใน จ.ชุมพร 4 อำเภอ คือ อ.ท่าแซะ อ.สวี อ.ปะทิว อ.เมือง และ จ.ระนอง 3 อำเภอ คือ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น อ.กะเปอร์ ส่วนสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพิ่งเริ่มกลับมาปลูกส่งให้เนสท์เล่อีกครั้ง

นอกจากนี้ บริษัทมีนักวิชาการเกษตรลงพื้นที่ไปให้ความรู้กับเกษตรกรมากว่า 30 ปีแล้ว สอนการดูแลรักษา การปลูก การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ กำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่ง ทำปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟ จนกระทั่งได้ผลผลิตออกมาเป็นเม็ดเชอรี่ทางบริษัทเปิดจุดรับซื้อ 4 จุด มีศูนย์รับซื้อใหญ่อยู่ที่ อ.สวี จ.ชุมพร และมีศูนย์รับซื้อย่อย 3 แห่ง ได้แก่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง 2 แห่ง อยู่ที่ อ.กระบุรี และ อ.กะเปอร์ ก่อนส่งเข้าโรงงานแปรรูปที่ จ.ฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตาม เนสท์เล่ทั่วโลกไม่ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกร หากมีเกษตรกรรายใดสนใจจะให้บริษัทเข้าไปส่งเสริมด้านวิชาการก็ยินดีที่จะให้ความรู้ แต่หากอยากปลูกผลผลิตมาขายให้เนสท์เล่

ต้องส่งนักวิชาการเกษตรไปดู โดยติดต่อฝ่ายบริการการเกษตรที่ศูนย์รับซื้อหรือติดต่อที่สำนักงานใหญ่ได้ และทุก 3 ปีมี third party มาสุ่มตรวจประเมิน 4C แต่ละปีบริษัทจัดอบรมเกษตรกรประมาณ 2,000 คน

“ที่ผ่านมามีเกษตรกรจากหลายจังหวัดติดต่อเข้ามาอยากปลูกกาแฟ เช่น ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร เราจะให้พื้นฐานทางวิชาการว่า พื้นที่ของเกษตรกรเหมาะกับพืชกาแฟหรือไม่ เช่นกำแพงเพชร สภาพภูมิอากาศร้อนมากไม่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟ เป็นต้น”

อราบิก้าปนโรบัสต้าจริง

ทาธฤษบอกว่า กรณีบริษัทพบการเจือปนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยมีเกษตรกร 2 รายในภาคใต้นำเมล็ดกาแฟอราบิก้ามาผสมกับโรบัสต้าแล้วนำมาขายที่ศูนย์รับซื้อกาแฟของบริษัทในภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพกาแฟโรบัสต้าที่เปิดรับซื้อ ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมมา และที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยเปิดจุดรับซื้อกาแฟอราบิก้าในภาคใต้ และยังไม่ทราบว่าเกษตรกรนำเมล็ดกาแฟอราบิก้าจากที่ใดมาผสม

ตอนนี้กำลังตั้งจุดรับซื้ออยู่ ปีนี้ซื้อได้เกิน 5,000 ตันแล้ว เหลือเมล็ดกาแฟในตลาดอีก 100-200 ตันหลังจากซื้อกาแฟเสร็จ คงตามไปดูว่าอราบิก้าปนมาได้อย่างไร แต่พบไม่ถึง 20 ตัน

“ปีที่ผ่านมากาแฟอราบิก้าในภาคเหนือมีปัญหามาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ร้านกาแฟสดปิดกิจการไปจำนวนมาก ซึ่งปกติร้านขายกาแฟสดจะเป็นแหล่งรับซื้อเมล็ดกาแฟอราบิก้า เพราะฉะนั้น ราคาขายเมล็ดกาแฟอราบิก้าจึงแกว่งมาก แต่เกษตรกรที่เนสท์เล่ส่งเสริมไม่มีปัญหา”

ปกติทุกปีทางบริษัท เนสท์เล่ จะรับซื้อมล็ดกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้ ซึ่งชอบอากาศร้อนชื้นประมาณ 95% หรือประมาณ 5,000 กว่าตันต่อปี และรับซื้อกาแฟอราบิก้าในภาคเหนือ ซึ่งปลูกในที่มีอากาศเย็น ชื้นบนภูเขามีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 800 เมตร ที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ รวมประมาณ 5% หรือประมาณ 1,000 ตันต่อปี

โดยเกษตรกรที่นำเมล็ดกาแฟมาขายให้บริษัทต้องผ่านมาตรฐาน 4C หรือ Common Code for Coffee Community ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ผู้ปลูกกาแฟใช้กันทั่วโลก โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกโรบัสต้าผ่านเกณฑ์ 4C จำนวน 2,222 ราย และรัฐบาลกำหนดราคาให้บริษัทต้องซื้อจากเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ถ้ารายใดได้ 4C บริษัทจะบวกโบนัสเพิ่มให้อีก 2 บาท ด้านคุณภาพอีก 5 บาท ค่ารอยัลตี้ 3 บาท ค่าขนส่ง 1 บาท เฉลี่ยทั่วไปได้ราคาเกือบ 70 บาท/กิโลกรัม

ทาธฤษบอกว่า หลังจากรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรให้มากที่สุดแล้ว จะสรุปตัวเลขเตรียมนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ โดยเฉลี่ยประเทศไทยนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศทุกโรงงานรวมกันประมาณ 40,000 กว่าตัน

โดยปีที่นำเข้ามากที่สุดประมาณ 55,000 ตัน เฉพาะเนสท์เล่เฉลี่ยนำเข้าประมาณ 30,000 กว่าตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ราคา 30 กว่าบาท บวกภาษีต่าง ๆ รวมแล้วประมาณ 40 บาท

อราบิก้าใต้คุณภาพดีพร้อมซื้อ

หากถามว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัท เนสท์เล่ จะเปิดรับซื้อเมล็ดกาแฟอราบิก้าในภาคใต้ ทาธฤษบอกว่า “ผมพูดได้ว่า ประตูไม่ได้ปิด ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” แต่ต้องกลับไปถามก่อนว่า

กาแฟอราบิก้าในภาคใต้มีปริมาณผลผลิตมากน้อยเพียงใด ความต้องการรับซื้ออราบิก้าของบริษัท เนสท์เล่ ตอนนี้มีจำกัด แต่มีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มเปลี่ยนสูตรกาแฟสำเร็จรูป โดยนำอราบิก้าไปผสม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดรับซื้อกาแฟอราบิก้าในภาคใต้ แต่ต้องขอทราบว่า กาแฟอราบิก้าดังกล่าวปลูกมาจากพื้นที่บริเวณไหน ปลูกอย่างไร ปลูกเมื่อไหร่ ผมต้องนำมาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน 4C เราต้องผ่านเกณฑ์นี้ก่อน

หลังจากนั้นมาดูเรื่องคุณภาพหากสีเปลือกออกมาแล้วเม็ดดำมาก รสชาติมีกลิ่นแปลก ๆ คงไม่สามารถรับซื้อได้ ต้องตีกลับ เพราะคุณภาพเทียบกับกาแฟอราบิก้าในภาคเหนือไม่ได้

“พูดตรง ๆ นะ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ากาแฟอราบิก้าที่ไปส่งเสริมการปลูกในภาคใต้หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเพิ่งส่งเสริมประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตน่าจะออกปีนี้ กาแฟอราบิก้าต้องการสภาพอากาศที่เย็น ชื้น

ส่วนโรบัสต้าต้องการอากาศร้อน ชื้น ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกอราบิก้าต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่บนภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 800 เมตร แล้วพื้นที่ทางใต้ที่อยู่บนภูเขาสูงมีเพียงเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช สูงกว่าระดับน้ำทะเล 800 เมตร อากาศเย็น แต่ปลูกไม่ได้ เพราะเป็นที่ป่า และทาง อ.เบตง จ.ยะลา มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะ

ผมอยากจะเปรียบเทียบว่า ถ้าเอาข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ไปปลูกที่ชายทะเล จ.ชุมพร คงออกรวงเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าจะหอมเหมือนกับที่ทุ่งกุลาร้องไห้หรือเปล่า ยิ่งพื้นที่ต่ำมาก

ความเสี่ยงในด้านคุณภาพการชง ชิม จะมีความเสี่ยงมาก ปลูกได้ แต่อาจไม่ได้คุณภาพดี เหมือนข้าวหอมมะลิที่ออกรวง แต่ไม่หอม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการที่หน่วยงานรัฐบาลลงไปส่งเสริมไม่เคยมาหารือเรื่องการทำตลาดกับทางบริษัท”

สวนผสมต้นทุนสูงลดเสี่ยง

ส่วนกรณีการปลูกกาแฟของเกษตรกรไทยมีต้นทุนสูงกว่าหลายประเทศนั้น ทาธฤษบอกว่า ผมว่าสินค้าเกษตรหลัก ๆ ของไทยมีปัญหาเรื่อง yield ต่อหน่วย สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ยกตัวอย่าง การปลูกกาแฟโรบัสต้าของไทยได้ 0.7 ตันต่อเฮกตาร์

ผลผลิตของประเทศไทยต่ำกว่าของประเทศเวียดนามอยู่ที่ 3 ตันต่อเฮกตาร์ เพราะไทยไม่ได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดเดียว การปลูกกาแฟของไทยเป็นลักษณะสวนผสม แต่เวียดนามปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งมีความเสี่ยง ถ้าราคาไม่ดี แต่ถ้าปลูกทำสวนผสมแบบประเทศไทยลดความเสี่ยง ซึ่งในแง่เศรษฐกิจเราศึกษามาแล้วว่า เกษตรกรต้องปลูกเป็นสวนผสม

เช่น 1 ไร่ ต้องปลูกทุเรียน 8 ต้น ที่เหลือแซมด้วยการปลูกกาแฟ ต้นทุนปัจจัยการผลิตเกษตรกรอยู่ที่ 30 กว่าบาท เมื่อบวกค่าขนส่งแล้ว ต้นทุนรวมจะประมาณ 40 บาท ส่วนต้นทุนการปลูกกาแฟของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าบาท เพราะปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว ถ้านำเข้ากาแฟจากเวียดนามวันนี้ซื้อได้ในราคา 40 บาทต่อกิโลกรัม

“ผมกล้าพูดว่า ถ้าไม่มีนักวิชาการเนสท์เล่ การปลูกกาแฟอาจจะหมดไปแล้วจากประเทศไทยก็ได้ ในอดีตเคยรับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้สูงสุดประมาณ 36,000-37,000 ตัน แต่วันนี้เหลือเพียง 5,000 ตัน จากผลผลิตกาแฟทั้งประเทศผลิตได้ 10,000 ตัน”