ไฟป่า-หมอกควันภาคเหนือยวิกฤตหนัก ยอดผู้ป่วยเชียงใหม่พุ่ง 3 หมื่นคน

ไฟป่า-หมอกควันภาคเหนือยังวิกฤตหนัก PM2.5 ส่งผลผู้ป่วยในเชียงใหม่พุ่งกว่า 3 หมื่นคน ทั้งกลุ่มโรคทางเดินหายใจ  ตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ

สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือตอนบนเริ่มมีผลกระทบกับประชาชน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตากและจังหวัดพะเยา โดยภาพรวมภาคเหนือมีค่า PM 2.5 ระหว่าง 36 – 275 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ค่า PM 10 ระหว่าง 52 – 292 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI ระหว่าง 28 – 385 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

จากการตรวจสอบสาเหตุพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดการจุดไฟหาของป่า, การเผาเศษวัชพืช และการเผาเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร ประกอบกับในระยะนี้ภาคเหนือตอนบนที่มีลมตะวันตกพัดปกคลุม จึงทำให้การสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควัน

เช้าวันนี้ (9 มีนาคม 2564) เกิดจุดความร้อนในภาคเหนือ 17 จังหวัด จำนวน 926 จุด เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 617 จุด พื้นที่ป่าสงวนฯ จำนวน 283 จุด โดยพบจุดความร้อนสูงสุดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 442 จุด จังหวัดเชียงใหม่ 211 จุดและจังหวัดตาก 108 จุด

พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า จัดกำลังของชุดลาดตระเวน ทั้ง 6 ชุดปฏิบัติการ ( 60 นาย )ในจังหวัดเชียงใหม่ ห้วง วันที่ 9 – 11 มีนาคม 2564 ลาดตระเวนในพื้นที่ อ.อมก๋อย อ.ดอยสะเก็ด อ.เชียงดาว อ.สะเมิง และ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

ขณะที่กำลังทหารพรานจาก กรมทหารพรานที่ 35 จัดกำลังพล จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ จำนวน35 นาย ลาดตระเวน ดับไฟป่าในพื้นที่ดอยพระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อควบคุมจุดความร้อนในแต่ละพื้นที่ตามข้อสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 3

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 – 5 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ประกอบด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด และสมองอุดตันขาดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โดยในเดือนมกราคม มีจำนวนผู้ป่วย 22,554 คน เดือนกุมภาพันธ์ 9,084 คน และเดือนมีนาคม ณ วันที่ 5 มีนาคม 150 คน โดยมีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 31,788 คน