เปิด 5 ทำเลตั้งสนามบินพัทลุง “บ้านควนมะพร้าว” ผลโหวตแรง

ดีไว พลัส-ออมนิ โซลูชั่นส์ คลอดผลการศึกษาโครงการก่อสร้าง “สนามบินพัทลุง” เสนอ 5 ทำเลที่ตั้งสนามบิน เผยที่ประชุมลงคะแนนผลโหวต “พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าว ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง” มาแรง เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนออกแบบรายละเอียด “ขนาดรันเวย์-อาคารที่พักผู้โดยสาร” พ.ค.นี้

หลังจากกระทรวงคมนาคมได้ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาทในการว่าจ้างบริษัท ดีไว พลัส จำกัด บริษัท ออมนิ โซลูชั่นส์ จำกัด ทำการศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2563 สิ้นสุดวันที่ 13 มิ.ย. 2564

โดยเฉพาะการพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างต้องนำหลายปัจจัยมาประกอบการพิจารณา เช่น สภาพภูมิประเทศ ทิศทางลม พื้นที่ที่เหมาะสม พื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โครงข่ายการคมนาคม ระยะเวลาการเดินทางจากตัวเมืองถึงท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ ต้องมีกำหนดพื้นที่ทางเลือกอย่างน้อย 3 แห่ง พิจารณาความเหมาะสม 3 ด้าน ประกอบด้วย ความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรม และด้านเศรษฐศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางนัยนา วงศ์พนารักษ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง นายสยาม บุระดา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและคณะ ได้ร่วมกันจัดประชุมย่อยในระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 มีการเสนอพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพัทลุง จำนวน 5 แห่ง

ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 บริเวณตำบลปันแต-แหลมโตนด อ.ควนขนุน ทางเลือกที่ 2 บริเวณตำบลโตนดด้วน-มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน ทางเลือกที่ 3 บริเวณตำบลควนมะพร้าว-ลำปำ อ.เมือง ทางเลือกที่ 4 บริเวณตำบลควนขนุน-หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน และทางเลือกที่ 5 บริเวณตำบลหานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

หลังจากคณะที่ปรึกษาออกสำรวจ และขอความคิดเห็นจากประชาชนพบว่า ทางเลือกที่ 3 บริเวณตำบลควนมะพร้าว-ลำปำ บริเวณศูนย์วิจัยข้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ได้คะแนนมากที่สุด 91.17 คะแนน

โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทางเลือกที่ 3 เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบติดถนน มีความพร้อมในทุกด้าน อยู่ห่างจากท่าอากาศยานตรัง ประมาณ 75 กิโลเมตร อยู่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ประมาณ 120 กิโลเมตร

และอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชประมาณ 140 กิโลเมตร มีความพร้อมในทุกด้าน มีความคุ้มค่าในหลายบริบท และมีแนวทางในการแก้ปัญหาในหลายด้าน อาทิ การคมนาคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อเสนอว่าอยากให้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ภายในจังหวัดพัทลุง รวมถึงเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสีย ในเชิงลักษณะความคุ้มทุนของแต่ละพื้นที่

มีการขยายโครงข่ายคมนาคมได้ดีมากน้อยเพียงใด การเข้าถึงสะดวก มีพื้นที่ว่างบริเวณใกล้เคียงที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และมีการแนะนำให้ที่ปรึกษาจัดทำ Google Form เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงข้อห่วงกังวลต่อโครงการเรื่องการเวนคืนพื้นที่ในทางเลือกที่ 3 ที่มีค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 899,950,000 บาท ในขณะที่วัดคลองขุดที่อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างท่าอากาศยานตามทางเลือกที่ 3 นั้น

มีความห่วงกังวลเรื่องผลกระทบทางด้านเสียงและให้คำนึงถึงผลกระทบเชิงความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของประชาชน และหลังนี้คณะที่ปรึกษา จะนำข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาไปสู่การออกแบบรายละเอียดต่อไปอาทิ ขนาดรันเวย์ ตัวอาคารที่พักผู้โดยสาร และจะนำการออกแบบมาเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไปในประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 นี้