5 พันโรงงานสมุทรสาครเข้าข่ายทำ FAI 10% แจ้งทำแล้ว 1.4 พันโรงงาน

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี

ผู้ว่าฯสมุทรสาครเผยโรงงานเข้าข่ายทำ รพ.สนาม FAI 10% กว่า 5 พันแห่ง ล่าสุดแจ้งทำ FAI แล้ว 1,400 แห่ง ได้เตียงเพิ่ม 3 หมื่นเตียง พร้อมชี้เกณฑ์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 3 เข้มเกิน หวั่นบุคลากรทางการแพทย์จะได้รับวัคซีนไม่กี่คน

วันที่ 1 สิงหาคม 2564 รายงานข่าวจากสมุทรสาคร เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เวลา 24.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,265 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 238 ราย 2.ในโรงงานที่ทำ Bubble&Seal 6 ราย 3.ภายในโรงพยาบาล 1,021 ราย แบ่งเป็นในจังหวัด 802 ราย และนอกจังหวัด 219 ราย เสียชีวิต 5 ราย เสียชีวิตสะสม 122 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 49,654 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 18,838 ราย รักษาหาย 13,397 ราย

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ครบกำหนดให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation: FAI) โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งบริษัทภายใน 7 วัน

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี

ปรากฏว่าจากสถานประกอบการทั้งหมดในจังหวัดสมุทรสาครเกือบ 7,000 แห่ง มีสถานประกอบการที่เข้าข่าย 5,000 แห่ง ในจำนวนนี้มีแจ้งว่าทำ FAI เรียบร้อยแล้ว 1,400-1,500 แห่ง ทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้น 30,000 เตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อในโรงงาน ส่วนสถานประกอบการและโรงงานที่ยังไม่แจ้งเข้ามาว่ากำลังทำหรือยังไม่ทำ พยายามให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการตรวจสอบ

“ก่อนบังคับให้ทำ FAI ใช้ลักษณะขอความอนุเคราะห์ขอความร่วมมือ แต่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนสถานการณ์วิกฤตไม่สามารถขอความร่วมมือได้แล้ว เปลี่ยนเป็นภาคบังคับแทน ตอนแรกพูดกันว่า สถานประกอบต้องมีเตียงรองรับพนักงาน 100% ซึ่งถ้าคนทั้งโรงงานติดโควิดกันหมด แสดงว่าสถานประกอบการนี้อยู่ไม่ได้แล้ว เราก็พูดกันที่หลายตัวเลข เช่น 20% ได้หรือไม่ ในที่สุดมาหยุดที่ 10% เช่น โรงงานมีพนักงาน 1,000 คน ต้องมีเตียง 100 เตียง จะได้แบ่งเบาภาระในการมาใช้โรงพยาบาลสนามส่วนกลาง ซึ่งรองรับผู้ติดเชื้อในชุมชนเป็นหลัก”

มีโรงงานหลายแห่งไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องบังคับให้ทำ FAI เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมชี้แจงกับผู้ประกอบการว่า ที่ให้แต่ละโรงงานทำ FAI ขึ้นมา เพราะไม่มีเตียงจริง ๆ ถ้าเกิดศูนย์พักคอย (CI) ที่ตั้งขึ้นมา 35-36 แห่งรองรับคนติดเชื้อในชุมชน ตอนนี้มีเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อเพียง 4,000 เตียง หากพบโรงงานติดโควิดสัก 2-3 แห่ง ต้องรับพนักงานในโรงงานมาเข้า ศูนย์พักคอยส่วนกลางก็เต็มแล้ว ทุกคนจึงเข้าใจและให้ความร่วมมือดีมาก และยังได้สนับสนุนเงินในการเปลี่ยนโรงพยาบาลสนามสีเขียวที่บริเวณท่าจีนให้เป็นสีเหลืองจะเสร็จภายในสัปดาห์หน้านี้

“ผู้ประกอบการบอกขออย่างเดียวผู้ว่าราชการจังหวัดอย่าเพิ่งถอดใจ อย่าเพิ่งยอมแพ้ ให้รู้ไปว่าเมื่อภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาครัฐ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกันแล้ว เราจะแพ้สงครามโควิดครั้งนี้ ก็ให้มันรู้ไป การดำเนินงานเรื่อง FAI และการช่วยดำเนินการโรงพยาบาลสนามสีเหลืองเป็นกำลังสำคัญยิ่งที่ทำให้สถานการณ์สู้รบในสงครามโควิดสมุทรสาครยังมีแสงริบหรี่เป็นความหวังให้พวกเราได้

ขณะเดียวกันต้องจัดสรรหาที่เพิ่มด้วย และรณรงค์ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้วัคซีนไม่มีให้ฉีดอย่างที่ต้องการ จริง ๆ ไม่คิดว่าจำนวนของวัคซีนที่จังหวัดได้รับจะน้อยกว่าที่คาดคิดไว้ แต่เรายังมีเรียวแรงที่จะต่อสู้ต่อ” นายวีระศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ”เพจวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ได้เขียนถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่มากมายของกระทรวงสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 3 หรือบู๊สเตอร์โด้สให้บุคลากรทางการแพทย์จนนึกไม่ออกว่าจะเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ฉีดวัคซีนกี่คน

ขอเผือกหน่อยเถอะ

พยายามจะโพสต์ลง FB ให้น้อยลง
เพราะเกรงว่าจะใช้ถ้อยคำรุนแรงไป ด่าว่าคนนั้นคนนี้มากไป
หรือบ่นมากไป จนคนคิดว่าเราท้อ ถอดใจ

แต่ครั้งนี้ขอเผือกสักเรื่องเถอะ

เราคิดทำกล่องห่วงใย (ภาคพิเศษ) เพราะทราบจาก ผอ.รพ.ทั้ง 3 อำเภอว่าหมอ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิดไปแล้วกว่า 300 คน
ไม่นับรวมของ รพ.เอกชน และเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุข
เลยทำกล่องห่วงใย (ภาคพิเศษ) ไปมอบให้
และคงต้องมอบเพิ่มอีก

เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อน
นึกดีใจที่เห็นส่วนกลางให้สำรวจบุคลากรทางสาธารณสุข ว่ามีจำนวนเท่าไร จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับจากอเมริกาให้
จะเรียกว่าเป็นเข็มสาม หรือบู๊สเตอร์โด้ส ก็แล้วแต่
ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เป็นกำลังใจ แสดงออกถึงความห่วงใยได้ชัดเจน

แต่ข่าวที่ออกมาตอนบ่ายวันนี้
กำหนดหลักเกณฑ์การฉีดวัคซีนล็อตนี้มากมาย จนนึกไม่ออกว่าจะเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ฉีดวัคซีนชุดกำลังใจนี้กี่คน
อย่าลืมนะครับว่า
รพ.หนึ่งแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน สำคัญหมดทั้งหมอ พยาบาล จนท. ยาม พลเปล แม่บ้าน รวมไปถึงบุคลากรของสาธารณสุขทุกระดับ
ตัวเลขก็มีอยู่แล้ว ตามที่ให้จังหวัดสำรวจไป

ยึดตัวเลขนั้นเถอะครับ
ส่วนจะปรับวิธีการฉีดอย่างไร ให้เป็นเรื่องที่คุณหมอในจังหวัดจะคุยกันเอง
หลักเกณฑ์เป็นเรื่องที่ดี
แต่ในยามศึกสงครามโควิดเยี่ยงนี้ ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ต้องมาก่อนครับ

#ผู้ว่าฯไม่ได้ฉีดด้วยนะ