โรงสีใต้ระส่ำขาดทุนหนัก ราคาข้าวร่วง 2 พันบาท/ตัน

โรงสีข้าวใต้ระส่ำ 2 เดือนราคาร่วงหนักกว่า 2 พันบาทต่อตันขาดทุนยับ ส่งผลกระทบข้าวนาปรังราคาร่วงจาก 9,000 บาทเหลือ 7,000 กว่าบาท/ตันเผย นบข.ประกันราคายังไม่ได้อานิสงส์ภาคใต้ฤดูทำนา-เก็บเกี่ยวล่าช้ากว่าชาวนาภาคกลาง

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และเจ้าของโรงสีพัฒนโสภณเจริญพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ข้าวนาปีในปี 2564 ส่งผลให้โรงสีข้าวต่างประสบปัญหาและขาดทุนหนักสุดในรอบ 10 ปี

เนื่องจากราคาได้ทยอยลงมาต่อเนื่องประมาณ 2 เดือน โดยลงมาตามลำดับจนถึงวันนี้ จากราคา 14.50 บาท/กก. มาอยู่ที่ 12 บาท/กก. จากที่โรงสีข้าวได้รับซื้อข้าวจากชาวนาประมาณ 9,500-9,800 บาท/ตัน โดยราคาข้าวขณะนี้มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7,600-7,900 บาท/ตัน

“ตอนนี้โรงสีข้าวขาดทุนข้าวและค่าบริหารจัดการอื่น ๆ รวมประมาณ 2,800 บาท/ตัน จากปัจจัยสำคัญคือข้าวในตลาดโลกโดยประเทศอินเดียราคาได้ลดลง ประเทศเวียดนามราคาลงตามมา ส่งผลให้ราคาข้าวไทยไม่สามารถจะแข่งขันในตลาดโลกได้

“ขณะนี้ข้าวไทยส่งออกได้ประมาณ 5 ล้านตัน จากที่เคยส่งออกตลาดได้ตั้งแต่ 8-10 ล้านตัน/ปี”

นายสุทธิพรกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้อยู่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2564 จะเสร็จสิ้น ราคาลดลงมาเรื่อย ๆ เหลืออยู่ที่ 7,600-7,900 บาท/ตัน ข้าวเปลือกความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ จากข้าวนาปี ราคาประมาณ 9,800 บาท/ตัน ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบถึงชาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,500 บาท/ตัน

นายสุทธิพรกล่าวว่า ตอนนี้โรงสีได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดในรอบ 10 ปีไม่เฉพาะแต่ชาวนาเท่านั้น รัฐบาลนอกจากสนับสนุนช่วยเหลือชาวนาแล้ว ก็จะต้องสนับสนุนช่วยเหลือโรงสีข้าวด้วยเช่นกันในตอนนี้ โดยสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้และดอกเบี้ยต่ำ

ส่วนชาวนารัฐบาลจะต้องปรับปรุงโครงสร้างชาวนาใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแบบเดิม ๆ เพื่อความยั่งยืนปัจจัยสำคัญคือต้นทุนการผลิต เช่น สาธารณูปโภค น้ำ ชลประทาน เส้นทางการขนส่ง เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย

ต้องให้ชาวนาได้เข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อลดระยะเวลาการทำนาได้น้อยลง และได้ปริมาณข้าวเพิ่มขึ้น พร้อมกับได้ทำนามากขึ้นปีละ 2-3 ครั้ง ต้องให้เข้าถึงสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำสามารถจะแข่งขันในตลาดโลกได้

“ข้าวไทยมีต้นทุนการผลิตสูงถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของทางด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดตรงนี้ โดยปรับโครงสร้างชาวนาไทยครั้งใหญ่ เพื่อจะได้เกิดความยั่งยืน และสามารถแข่งขันข้าวในตลาดโลกได้ และข้าวไทยจะได้กลับมาฟื้นฟู”

นายสุทธิพรกล่าวว่า หากไม่ปรับโครงสร้างชาวนาก็จะเหลือพื้นที่นาน้อยลงตามลำดับ เฉพาะทางภาคใต้พื้นที่ปลูกข้าวรายใหญ่คือ จ.นครศรีธรรมราช เดิมมีประมาณ 1.1 ล้านไร่ ขณะนี้เหลือประมาณ 180,000 ไร่ ตามมาคือ จ.สงขลา จ.พัทลุง พื้นที่ที่เหลือหันไปปลูกพืชอย่างอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน

“ส่วนที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีนโยบายประกันรายได้ชาวนาปีการผลิต 2564/2565 จะทำให้ชาวนามีรายได้ส่วนนี้เหมือนกันทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ทางภาคใต้ฤดูกาลทำนาและเก็บเกี่ยวห้วงระยะเวลาต่างกัน โดยจะล่าช้ากว่าชาวนาทางภาคกลาง”

แหล่งข่าวจากเจ้าของโรงสีข้าวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวที่ทยอยลง ส่งผลให้พ่อค้าซื้อข้าวล่วงหน้าบางรายต่างพบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากได้ซื้อข่าวล่วงหน้าไว้กับโรงสีข้าวจำนวนหนึ่ง โดยบางรายซื้อข้าวบางสายพันธุ์ที่ 13 บาท/กก. และบางรายประมาณ 14 บาท/กก.ประมาณ ราคา 13,000 บาทและ 14,000 บาท/ตัน บางรายถึง 15,000 บาท/ตัน เมื่อราคาเฉลี่ยแล้วลงมาในระดับนี้ต้องประสบภาวะขาดทุน

แต่หากชาวนาเมื่อประสบภาวะขาดทุนก็ประสบปัญหามากที่จะต้องใช้เวลานานกว่าพ่อค้าที่จะถอนทุนคืนในฤดูกาลข้างหน้าอีกประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะไม่สามารถถอนทุนคืนก็ได้