อุบลฯ สั่งเรียนออนไลน์ ปิดโรงหนัง ถึง 17 ม.ค. เปิด 7 สถานที่เสี่ยงโควิด

อุบล ปิดเรียน โรงหนัง

คกก.โรคติดต่อ จ.อุบลฯ สั่งทุกโรงเรียนจัดสอนออนไลน์ ปิดโรงหนัง งดรวมกลุ่มเกิน 100 คน ถึง 17 ม.ค.65 เปิด 7 สถานที่เสี่ยง ให้ประชาชนรายงานตัว เข้ารับการตรวจโควิด-กักตัว

วันที่ 3 มกราคม 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวผ่านรายการ ผู้ว่าฯพงศ์รัตน์ พบชาวอุบลฯ ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 64 ถึงวันที่ 2 ม.ค.65 จังหวัดอุบลฯ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกินหลัก 100 คนตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.64 พบผู้ป่วย 120 คน วันที่ 30 ธ.ค.64 เพิ่มเป็น 150 คน วันที่ 31 ธ.ค.64 เพิ่มเป็น 250 คน วันที่ 1 ม.ค.65 สูงถึง 300 คน และวันที่ 2 ม.ค.65 พบ 200 คน และวันที่ 3 ม.ค.65 พบ 329 คน

จากการวิเคราะห์และสอบสวนโรคกันกลุ่มก้อนดังกล่าวที่เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง คาดว่าจะเป็นเชื้อโอไมครอน เพราะติดได้ง่ายมาก เช่น จากการไปรับประทานอาหาร ซึ่งในการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่พบว่า มีร้านอาหารที่มีการกิน ดื่มแอลกอฮอลล์ อาจจะมีการฝ่าฝืนมาตรการของจังหวัดในการควบคุมโรค และคนที่ติดเชื้อเหล่านี้กระจายเชื้อไปยังครอบครัว และพื้นที่ต่าง ๆ เพราะแต่ละคนมีบ้านมีครอบครัวอยู่แต่ละอำเภอ หรือไปเที่ยวในร้านอื่น ๆ ต่อก็แพร่กระจายเชื้อต่อไป จึงมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 27-28 ธ.ค.64 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานีได้ออกประกาศให้บุคคลที่เคยไปนั่งทานในร้านอาหารต่าง ๆ ตามรายชื่อที่กำหนดในช่วงวัน เวลาดังกล่าวให้มาแสดงตนตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และสังเกตอาการ ผลจากการประกาศมีผู้เข้ามาทะยอยตรวจหาเชื้อแต่ละวันนับพันคน และมีบางคนที่ไม่ได้ไปนั่งกินตรงกับวันที่กำหนด แต่ไปกินในวันถัดไปหลายคนกังวลไม่แน่ใจก็มาตรวจหาเชื้อร่วมพันคนในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ทำให้พบมีการติดเชื้อสะสมร่วม 500 คน

จนถึงปัจจุบันและยังประกาศอยู่ถ้าใครที่อยู่ในร้านดังกล่าวให้มารับการตรวจ แต่ผ่านมาประมาณ 7-8 วันที่พบการติดเชื้อในร้านต่างๆ คิดว่าคนที่ไปร้านน่าจะมาพบแพทย์กันครบแล้ว และผ่านไป 7 วันถ้าติดเชื้อน่าจะแสดงอาการแล้ว และอาจจะเริ่มหมดเชื้อไปด้วยหากใครไม่มีอาการ เชื้อจะอ่อนกำลังและหายไปเองสำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันสูง ๆ แต่หากภูมิคุ้มกันน้อยจะมีอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรงแล้วแต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน

ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ม.ค.65 ได้ขอให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดอุบลฯประชุมด่วน โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์ทั้งหมดวิเคราะห์ถึงกลุ่มก้อนการติดเชื้อ สาเหตุ ทิศทางการติดเชื้อว่าเป็นอย่างไร และมีการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์กัน จากช่วงวันนี้ (3ม.ค.65) เป็นต้นไป อาจจะยังพบผู้ติดเชื้อระดับ 100 คนขึ้นไป น่าจะยังมีอยู่ต่อเนื่องไป ยิ่งในช่วงวันหยุด และเมื่อเปิดมาทำงานมีการเคลื่อนที่ของบุคคลอาจจะทำให้การแพร่กระจายของโรคมีเพิ่มขึ้น

หลังจากผู้ติดเชื้อไปสัมผัสคนในครอบครัว ส่งผลทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของตัวเลขที่เพิ่มขึ้น และวันพุร่งนี้ (4 ม.ค.65) จะเปิดทำงานปกติ คณะกรรมการควบคุมโรคฯเห็นว่า เพื่อเป็นการสกัดการแพร่กระจายไว้ก่อน จึงได้มีมติปิดสถานที่ดังต่อไปนี้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.65 ได้แก่

1. ให้ทุกโรงเรียน สถานศึกษาทุกแห่ง ที่จะเปิดเรียนในวันที่ 4 ธ.ค.65 ให้ปิดต่อไปอีก 14 วันโดยให้เรียนออนไลน์ เพื่อไม่ให้เชื้อมากระจายแพร่ที่โรงเรียน และลูกหลานติดกลับไปที่บ้านไปสู่ครอบครัว และจากครอบครัวออกไปสู่สถานที่ทำงานของพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องอีก รวมถึงปิดโรงภาพยนต์ทุกแห่ง

2. งดนั่งรับประทานอาหารในร้านที่ติดเครื่องปรับอาการ(ห้องแอร์)ทั้งหมด 14 วัน แต่ยังให้ทางร้านสามารถเปิดจำหน่ายอาหารได้ แต่ให้กลับไปนั่งรับประทานที่อื่น เนื่องจากได้มีการประเมินกันว่า เชื้อโอไมครอนมีการกระจายได้ดี โดยเฉพาะในกิจกรรมที่มีการถอดหน้ากาก พูดคุยกันเป็นความเสี่ยงสูงสุด

หากร้านที่มีทั้งส่วนของห้องแอร์ และที่โล่งแจ้ง ยังให้เปิดบริการนั่งรับประทานอาหารบริเวณที่โล่งแจ้งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะความเสี่ยงน้อย และต้องวางโต๊ะเว้นระยะห่าง ส่วนห้องแอร์ต้องปิดไม่ให้นั่งรับประทานอาหาร เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อ

3. ขอให้งดปิดสถานที่เล่นกีฬา ลานกีฬา ฟิตเนส สถานที่ ที่มีการออกกำลังกายสัมผัสใกล้ตัวกันทุกชนิด เป็นเวลา 14 วัน เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล ตะกร้อ ฯลฯ เพราะการเล่นกีฬามักจะมีการถอดหน้ากาก มีการส่งเสียงส่งสัญญาณตะโกนบอกผู้ร่วมทีม มีการหายใจแรงๆ ปะทะใกล้ชิดกันเป็นความเสี่ยงอันตราย ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีคลัสเตอร์บางคนที่ไปติดจากสนามบาสเก็ตบอล

4. ส่วนราชการที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเป็นแนวทางว่า การเปิดทำงานวันที่ 4 ม.ค.65 ขอให้ส่วนราชการปรับมาทำงานที่บ้าน ไม่ให้กระทบต่อการบริการประชาชน เพื่อลดการกระจายเชื้อจากการเดินทางในช่วงวันหยุดปีใหม่ไปที่ต่างๆ กันมามากมาย อาจจะนำเชื้อเข้ามา ดังนั้นจึงให้ทำงานที่บ้าน

จังหวัดอุบลฯ ให้ทำงานที่บ้าน ก็ไม่ได้หมายความไม่ได้ให้ไปไหนอย่างเสรี ต้องอยู่บ้านจริงๆ ประเด็นคือไม่ให้ออกไปไหน ยกเว้นเหตุจำเป็นจริงๆ เพื่อเป็นแนวทางสกัดโรค และหากมีเชื้อก็ไม่ไปแพร่ให้ใคร เพื่อเป็นแนวทาง ทั้งนี้การที่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ระบบการนำผู้ป่วยเข้ารักษาตอนนี้อาจจะค่อนข้างตรึงตัวขึ้นมา ให้ทุกคนสอบถามติดต่อศูนย์สาธารณสุขจังหวัด นายอำเภอ ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ 1567

นอกจากนี้ ได้มีคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานีที่ 2/2565 เรื่องกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 100 คน เว้นแต่การจัดงานประเพณี การปฏิบัติศาสนากิจหรือศาสนพิธี ได้แก่ งานศพ งานบวช งานมงคลสมรส หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความจำเป็น

ขณะที่วานนี้ (3 ม.ค.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศแจ้งผ่านเฟซบุ๊กเพจ ให้ประชาชนที่เดินทางไปยังร้านอาหาร (รายชื่อด้านล่าง) ให้เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต./รพ.เพื่อตรวจ โควิด-19 ให้กักตัวเอง/สังเกตอาการตนเอง 14 วัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองทุก 5-7 วันฃ

  • ร้านชาบูชิ สาขาสุนีย์ทาวเวอร์ วันที่ 28-30 ธันวาคม 2564
  • ร้านเชยอารมณ์ (หน้า ม.อุบลฯ) อ.วาริณฯ วันที่ 24 ธันวาคม 2564
  • ร้าน 69 (หน้า ม.อุบลฯ) อ.วาริณชำราบ วันที่ 26-28 ธันวาคม 2564
  • ร้าน ย.ยก อ.เมืองฯ วันที่ 23-24 ธันวาคม 2564
  • ร้านการิน อ.เมืองฯ วันที่ 25 ธันวาคม 2564
  • ร้าน Ihere cafe อ.เมืองฯ วันที่ 24-24 ธันวาคม 2564
  • ลูกค้า พนักงาน แผนกอุปกรณ์กีฬา super sport สาขาเซนทรัล พลาซ่า อุบลฯ วันที่ 28-30 ธันวาคม 2564