โอไมครอน ลาม 47 จังหวัด จับตา ชลบุรี-อุบลราชธานี ติดโควิดพุ่ง

โอไมครอน ติดเชื้อแล้ว 1,551 ราย ลาม 47 จังหวัด ตาม สธ. คาด

กระทรวงสาธารณสุข เผยโอไมครอน ลาม 47 จังหวัด ติดเชื้อแล้ว 1,551 ราย 

วันที่ 2 มกราคม 2565 ข่าวสด รายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโอไมครอน ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โรคไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อมากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ทุกโรคที่กังวลคือกรณีที่ติดเชื้อแล้วจะมีการเสียชีวิต แต่ถ้าติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ และสร้างภูมิคุ้มกันได้ ก็ไม่เป็นอะไร

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สธ.จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 3 มกราคม นี้ ก่อนสรุปสถานการณ์และมาตรการเพื่อเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ (ศบค.) ในวันที่ 7 มกราคม

“ภาพรวมของโควิด-19 ในสายพันธุ์โอไมครอน โรคน่าจะมีการระบาด แต่ขณะนี้ยังไม่ก่อโรครุนแรง ยังอยู่ภายใต้การควบคุม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

โอไมครอนลาม 47 จังหวัด

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์โอไมครอนในประเทศ ในการตรวจหาสายพันธุ์ตั้งแต่เปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 1 มกราคม 2565 พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนสะสม 1,551 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 779 ราย และติดในประเทศ 772 ราย

โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นวันเดียว 189 ราย แบ่งเป็น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 68 ราย และติดในประเทศ 121 ราย ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 47 จังหวัด โดยจังหวัดที่พบมากสุด คือ กรุงเทพมหานคร 395 ราย ตามด้วย กาฬสินธุ์ 195 ราย ชลบุรี 148 ราย ภูเก็ต 125 ราย และ ร้อยเอ็ด 119 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามที่เราคาดสถานการณ์ไว้ว่าจะพบการติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นหลังปีใหม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มกลับมาทำงานแล้ว ทางสธ.ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ออกมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work for home) ให้มากที่สุด เพื่อประเมินสถานการณ์ประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนตรวจ ATK เพื่อคัดกรองตนเอง

โดยเฉพาะช่วงที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ แม้ผลตรวจเป็นลบก็ต้องตรวจซ้ำ ในช่วง 1-3 วัน และย้ำว่าอยู่ร่วมกันในครอบครัวก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง ย้ำว่าการกันตัวเองอย่างสูงสุด (universal prevention) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ เป็นอาวุธสำคัญเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

ชลบุรีแซง กทม. ขึ้นที่ 1 จังหวัดติดโควิดมากสุด

เพจ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงาน 10 อันดับจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุด ประจำวัน พบว่า จังหวัดชลบุรี ขยับขึ้นมาอันดับ 1 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 442 ราย ทำให้ยอดสะสมขณะนี้อยู่ที่ 113,754 ราย

ส่วนกรุงเทพมหานคร ขยับลงมาอยู่อันดับ 2 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 366 ราย มียอดการติดเชื้อสะสม 440,907 ราย อันดับ 3 จังหวัดอุบลราชธานี ติดเชื้อเพิ่ม 304 ราย ติดเชื้อสะสม 23,093 ราย อันดับ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดเชื้อเพิ่ม 128 ราย ติดเชื้อสะสม 48,116 ราย

อันดับ 5 จังหวัดขอนแก่น ติดเชื้อเพิ่ม 100 ราย ติดเชื้อสะสม 24,522 ราย อันดับ 6 จังหวัดสมุทรปราการ ติดเชื้อเพิ่ม 90 ราย ติดเชื้อสะสม 132,467 ราย อันดับ 7 จังหวัดเชียงใหม่ ติดเชื้อเพิ่ม 85 ราย ติดเชื้อสะสม 29,208 ราย

อันดับ 8 จังหวัดภูเก็ต ติดเชื้อเพิ่ม 84 ราย ติดเชื้อสะสม 18,871 ราย อันดับ 9 จังหวัดอุดรธานี ติดเชื้อเพิ่ม 65 ราย ติดเชื้อสะสม 21,102 ราย และอันดับ 10 จังหวัด ระยอง ติดเชื้อเพิ่ม 57 ราย ติดเชื้อสะสม 46,268 ราย

สธ.ห่วง ชลบุรี-อุบลฯ

มติชน รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงปีใหม่ จังหวัดที่โควิด-19 กำลังระบาดมากคือ จังหวัดชลบุรี และ จังหวัดอุบลราชธานี ขณะที่ในกรุงเทพมหานครเริ่มทรงตัว และค่อย ๆ ลดลง

ทั้งนี้ เนื่องมาจากจังหวัดชลบุรี มีคนไปรวมกลุ่มค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นคนงานในโรงงาน บางครั้งมีการจัดกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ จึงได้กำชับให้ระมัดระวังเรื่องของการเดินทางกลับบ้าน และหลังปีใหม่ หากเป็นไปได้โรงงานไม่ต้องปิดดำเนินการ แต่ขอให้ตรวจ ATK พนักงานก่อนเข้าทำงานหลังเดินทางกลับจากเทศกาลปีใหม่แล้ว และสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ เพื่อจับสัญญาณการระบาดให้เร็วที่สุด

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ที่จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ตนได้ลงพื้นที่ติดตามคลัสเตอร์ที่จังหวัดอุบลฯ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคลัสเตอร์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ คือกรณีร้านอาหารกึ่งผับที่มีคนเข้าไปเที่ยวต่อเนื่องจากผับแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง

“ขณะนี้ที่ผมจับตาอยู่ 2 จังหวัดนี้ คือชลบุรี และอุบลราชธานี อย่างสถานการณ์ที่อุบลฯนั้น พบมีผู้ติดเชื้อวันหนึ่งขึ้นไป 300 คน และขึ้นค่อนข้างเร็ว ต้องติดตามรายละเอียดกับนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัด (นพ.สสจ.) อุบลราชธานี อีกครั้งหนึ่งว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไร จะต้องปิดอะไรบ้าง

เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่คนกำลังเดินทาง ขอให้ดำเนินการตรวจ ATK เป็นระยะ ๆ อย่างน้อยกลับเข้าพื้นที่ก็ตรวจ หากมีอาการก็ตรวจอีก หรือตรวจหลัง 7 วัน ย้ำเลยว่า ATK ช่วงนี้สำคัญมาก” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะพิจารณาว่าถ้าผลตรวจ ATK พบติดเชื้อมากน้อยแค่ไหนถึงจะปรับมาตรการ นพ.โอภาสกล่าวว่า คงดูลักษณะการระบาดมากกว่า เพราะเท่าที่ดู ดูเหมือนอาการไม่รุนแรง เช่น อุบลฯ ร้อยละ 95 อาการน้อยมาก เพราะฉะนั้น หากอาการน้อยจะใช้มาตรการรักษาตัวที่บ้านหรือที่ชุมชน (HI/CI) เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลล้นเกินไป ขณะนี้ก็มีการประเมินสถานการณ์กันอยู่ทุกวัน

อุบลฯ ติดเชื้อพุ่งกว่า 200 ราย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ระบุว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 206 ราย ติดเชื้อในพื้นที่ 196 ราย ผู้ป่วยสะสม 24,133 ราย เสียชีวิตสะสม 193 ราย รักษาหาย 22,692 ราย กำลังรักษา 1,248 ราย ผู้ป่วยในเรือนจำ(PCR+) 840 ราย

สำหรับ การระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ผู้ป่วยโควิด-19 อุบลราชธานี ที่อยู่ระหว่างการควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2565 เวลา 00.30 น. ได้แก่

  1. ร้านเอกมัย (รอบที่ 2) อ.เมือง
  2. ร้านแสนคำ ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม
  3. งานบุญ ต.ท่าโพธิ์ศรี (ม.11) อ.เดชอุดม
  4. ร้านชำ ต.สีวิเชียร (ม.8) อ.น้ำยืน
  5. ตลาสด อ.น้ำยืน
  6. ต.ยางใหญ่ (ม.5)
  7. ร้านปั๊มน้ำมันส์ ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร
  8. ต.โนนก่อ (ม.10) อ.สิรินธร