ทุเรียนตะวันออก…เคว้ง ! รถไฟจีน-ลาวขนได้กลางปี’65

ความกังวลใจของผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ในภาคตะวันออกยิ่งทวีคูณหนักขึ้น เมื่อนับถอยหลังอีกไม่ถึง 2 เดือนที่ผลผลิตทุเรียนฤดูกาลใหม่จะเริ่มทยอยออกเดือนมีนาคม 2565 ปีนี้มีผลผลิตทุเรียนมากถึง 721,078 ตัน และมังคุด 193,389 ตัน

ขณะที่จีนยังคงมาตรการเข้มงวดในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในสินค้าทุกชนิดที่ผ่าน 4 ด่านทางบก ได้แก่ ด่านโหยวอี้กวน ด่านตงซิน ด่านบ่อเต็น ด่านรถไฟผิงเสียง จนทำให้ช่วงปลายปี 2564 รถขนส่งลำไยไปติดยาวนานสุดถึง 50 วัน เนื่องจากเมื่อด่านใดตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในคน สินค้า หรือในรถตู้ขนส่งสินค้า จะหยุดการนําเข้าและปิดด่านทันที 14 วัน แล้วจึงกลับมาเปิดใหม่ เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

ดังนั้น ผู้ส่งออกทุเรียนจึงพยายามทุกทางให้ภาครัฐช่วยเจรจากับรัฐบาลจีน เพราะทุเรียนมูลค่าความเสียหาย 3 ล้านบาทต่อตู้คอนเทนเนอร์ ล่าสุดได้จัดเสวนา “ร่วมด้วยช่วยกัน ฝ่าฟันวิกฤตผลไม้ไทย” จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ร่วมกับ 22 องค์กรที่เกี่ยวข้องวงการผลไม้ไทย และสมาคมด้านโลจิสติกส์

ทุเรียนตะวันออกมืดแปดด้าน

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA) กล่าวว่า ได้นำมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มาใช้ควบคุมตั้งแต่สวนไปถึงการบรรจุ เพื่อรองรับการตรวจสินค้าที่นำเข้าจีนเป็นมาตรฐานเดียวกัน และได้วิจัยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ หาสารฆ่าเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ติดออกไป

จากนั้นจะนำข้อมูลนี้ผลักดันให้ภาครัฐนำเสนอทางการจีน รวมถึงเจรจากับ สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อออกมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ร่วมกัน และขอให้จีนเปิดช่อง GREEN LANE เฉพาะผลไม้ รวมทั้งเร่งเปิดขนส่งทางรถไฟจีน-ลาวให้เร็วที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2565 ผลไม้จะออกมา

นายสัญชัย ปุรณชัยคีรี นายกสมาคมการค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการส่งออกผลไม้ 1) หากจีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในคน สินค้า หรือในรถตู้ขนส่งสินค้า จะสั่งระงับการนําเข้าและปิดด่านทันที 14 วัน ไม่มีการเจรจาผ่อนผัน ส่งผลให้รถตู้ขนสินค้าติดค้างที่ด่าน มาตรการควบคุมเชื้อโควิด-19 ควรเป็นมาตรการเดียวกับจีน และให้จัดฝึกอบรมล้งเรื่องการควบคุมโควิด-19 ต้องตรวจจับหรือสั่งปิดล้งที่ไม่ปฏิบัติ รวมทั้งในสวนต้นทาง และให้มีการ ATK แรงงาน

นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) กล่าวว่า จีนมีการปิด-เปิดด่านโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่ว่าพบเชื้อเป็น เชื้อตาย ล่าสุดแก้วมังกรจากเวียดนาม 400 ตู้ ถูกระงับการนำเข้าเช่นกัน ปีนี้มาตรการโควิด-19 ต้องเข้มงวดทั้งสวนและล้ง เพราะถ้ามีปัญหา เจ้าหน้าที่จีนต้องเข้ามาตรวจสอบ (audit) ต้องเตรียมพร้อมในทุเรียนภาคตะวันออก ไม่เช่นนั้นจะล้มเป็นโดมิโนลามถึงทุเรียนภาคใต้ที่จะออกตามมา

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สวพ.6 กล่าวว่า สวพ.6 ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพิ่มมาตรการการป้องกันและการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น นอกจากมาตรการตรวจแมลงและศัตรูพืช จัดทำมาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus ล้งในภาคตะวันออกมี 700 แห่ง ต้องทำมาตรฐานทั้งหมดเพื่อไม่ให้ถูกระงับการส่งออก

ส่วนปัญหาการปิดด่านและตู้คอนเทนเนอร์ช่วงพีกมาก ๆ สวพ.6 และด่านตรวจพืชได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มอีกเท่าตัว เพื่อตรวจปล่อยตู้ให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดจันทบุรีว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (TLSP) พร้อมทั้งคณะกรรมการสมาพันธ์ ได้เข้าร่วมประชุมร่วมกับสถาบันวิจัยโลจิสติกส์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้นครคุนหมิง (SSILR) และสมาคมการค้าผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และนำเข้าส่งออกสินค้าของประเทศจีน ผ่านระบบ Zoom Meeting

โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ประธานเครือฟาร์อีสต์โปรเฟสชั่นแนลส์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยโลจิสติกส์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้นครคุนหมิง เป็นประธานในการประชุม ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการโลจิสติกส์และผู้ส่งออกนำเข้าไทย-ลาว-จีน ได้แก่ สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ สมาคมผู้ประกอบการผักผลไม้ไทย และสมาคมการค้าธุรกิจข้ามแดนไทย-จีน เพื่อหารือเตรียมความพร้อมเรื่องระบบโลจิสติกส์ทางรางและอากาศระหว่างไทย-ลาว-จีน และหาแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการขนส่งสินค้าบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย พร้อมทั้งเสนอปัญหาและอุปสรรคอันเนื่องมาจากการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

รถไฟจีน-ลาวขนผลไม้กลางปี’65

สมาพันธ์ได้เป็นผู้แทนของประเทศไทยในการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อก่อตั้ง “พันธมิตรโลจิสติกส์ขนส่งหลายรูปแบบ บนระเบียงเศรษฐกิจจีน-สปป.ลาว-ไทย” ระหว่างสถาบันวิจัยคุนหมิง China Kunming South Asia & Southeast Asia International Logistics Research Institute (SSILR), สภาอุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติลาว และ TLSP วัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริมและผลักดันให้การขนส่งทางรางระหว่างไทย-ลาว-จีน ให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งเพื่อเป็นการเปิดศักราชใหม่ ในการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในการให้ความร่วมมือของการขนส่งทางราง ทางบก ทางอากาศ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ในการพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, ลาว, จีน และกลุ่มประเทศเอเชียกลางและยุโรปต่อไป

โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นปัญหาการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากไทย-ลาว-จีน 4 ประเด็น คือ

1.เรื่องการเชื่อมโยงทางรถไฟจีน-ลาวจากสถานีเวียงจันทน์ใต้กับสถานีท่านาแล้ง ซึ่งการพัฒนาโครงข่ายการขนส่ง (Missing Link) ยังไม่สามารถเชื่อมมายังฝั่งไทยที่ จ.หนองคายได้ เนื่องจากยังมีช่วงรอยต่อระหว่างสถานีท่านาแล้งและเวียงจันทน์ใต้เป็นระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ทำให้ผู้ขนส่งต้องมาทำการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากรถไฟ-รถบรรทุก ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการขนถ่าย หากบริหารจัดการไม่ดีจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าเกษตรเกิดการเน่าเสียได้ง่าย

2.ขนาดของรางที่มีความแตกต่างกัน ในส่วนของประเทศไทยยังคงเป็น metre gauge (รางรถไฟขนาด 1.006 เมตร) ในขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นแบบ (standard gauge) (รางรถไฟขนาด 1.435 เมตร)

3.ปัจจุบันด่านโมฮานยังสร้างไม่เสร็จ จึงยังไม่มีความพร้อมที่จะตรวจสอบได้ ทำให้ยังไม่สามารถส่งผลไม้ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2565

4.ปัญหาเรื่องการขนส่งทางรางระหว่างจีน-ลาว-ไทย แบบห้องเย็น (cold chain) เนื่องจากปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นที่ขนส่งทางรางและทางถนน มีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะตู้คอนเทนเนอร์ทางรางใช้ระบบรักษาอุณหภูมิความเย็นด้วยพลังงานจากน้ำมัน แต่ตู้คอนเทนเนอร์ทางถนนใช้ระบบรักษาอุณหภูมิความเย็นด้วยพลังไฟฟ้า (แบบปลั๊กไฟ)

แนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.ไทยเร่งดำเนินการเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่ท่านาแล้ง 2.เร่งหารือกับฝ่ายจีนแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการรถบรรทุกผลไม้นำเข้าและส่งออก 3.เร่งเตรียมความพร้อมจุดตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าด่านทางบกเชื่อมต่อไปยังรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนได้ 4.ปัญหาเรื่องขนาดรางที่ไม่เท่ากัน แก้ไขโดยยกตู้คอนเทนเนอร์ข้ามขบวนรถไฟ