จันทบุรี ดันมหานครผลไม้ ส.อ.ท.ปรับทัพคลุมภาคตะวันออก

สัมภาษณ์

การประชุมสัญจรสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกครั้งที่ 2/2565 ที่ จ.จันทบุรี เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก 8 จังหวัด ประกอบด้วย กลุ่ม 1 ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และกลุ่ม 2 สระแก้ว จันทบุรี ตราด มติที่ประชุมเห็นชอบ โครงการระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Food and Fruit Corridor : EFFC) ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 (จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก) ภายใต้การขับเคลื่อนของ จ.จันทบุรี (Chanthaburi Food and Fruit Valley : CFV)

เป็นโครงการ Eastern Thailand Food Valley ครอบคลุมภาคตะวันออกทั้ง 8 จังหวัด (ภาคตะวันออก กลุ่ม 1 ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) โดยจังหวัดจันทบุรีพร้อมเป็นโมเดลศูนย์กลาง ชู ทุเรียน มังคุด ลำไย นำร่อง มั่นใจสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคีเครือข่าย สอดคล้องกับโครงการ BCG ของกลุ่มภาคตะวันออก 1 พร้อมขับเคลื่อนแผนระยะสั้น 5 ปี (2566-2570)

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี และเจ้าของบริษัท แกรนด์ฟูดโปรเซสซิ่ง ประเทศไทย จำกัด ซึ่งสภาอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี เป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนโครงการ (Eastern Food and Fruit Corridor : EFFC) โดยจันทบุรีเป็น Big brother ภายใต้โครงการ Chanthaburi Food and Fruit Valley : CFV โดยกล่าวถึงที่มา แผนแนวทาง และเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภาคตะวันออก เพื่อสร้างมาตรฐาน มูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรและเชื่อมโยงตลาดในและต่างประเทศ ตามนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” โดยมีแผนเบื้องต้นระยะ 5 ปี (2566-2570)

เหนือจุดประกายสู่ตะวันออก

จุดเริ่มต้นโครงการมีที่มาจากการไปเห็นโครงการ Northern Thailand Food Valley ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ครอบคลุมภาคเหนือทั้งหมด และต่อมามี Southern Thailand Food Valley ทางภาคใต้ Northern Thailand Food Valley จึงเป็นการจุดประกายความคิดที่มาของโครงการ Eastern Food and Fruit Corridor : EFFC ของภาคตะวันออก กลุ่ม 2

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม แก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการเกษตร ยกระดับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารระดับภาคภาคตะวันออกและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและผลไม้ให้มีคุณภาพและมาตรฐานด้วยเทคโนโลยี เป็นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นการผลิต และกลางน้ำที่มีการบรรจุภัณฑ์ แปรรูป ไปถึงปลายน้ำที่เป็นตลาด หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

“พัฒนา จ.จันทบุรี เป็นต้นแบบ โดยเลือกพืชที่มีปัญหาด้านการตลาด การผลิต 3 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เกษตรกรไม่ต้องเริ่มต้นปลูกชนิดใหม่เมื่อมีปัญหาด้านการตลาด หรือราคา โดยจะพัฒนานวัตกรรมโรงงานแปรรูปรองรับ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทำการวิจัยและพัฒนาพัฒนาบุคลากร ซึ่งจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกทั้ง 8 จังหวัด มีผลไม้อย่างเดียวกันหรือผลไม้อื่น ๆ รวมทั้งพืชสมุนไพร ประมง ปศุสัตว์ ที่จะพัฒนาไปด้วยกันทั้งหมด เป็นผลดีที่โครงการ Eastern Thailand Food Valley ครอบคลุมภาคตะวันออกทั้ง 8 จังหวัด”

7G Food อาหารอนาคต

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารตามโครงการ EasternThailand Food Valley ใช้ 7G เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาสู่อาหารในอนาคต คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (good taste) สร้างสรรค์รสนิยม (gastro-creation) ใช้นวัตกรรมการผลิต (go innovative) การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (go circular eco) คุณค่าโภชนาการดีต่อสุขภาพ (good ingredients) ปลอดภัยระดับสากล (global safety) ผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย (grow organic/hygienic)

“จริง ๆ เราทำกันอยู่แล้วเพียงแต่ตั้งกรอบให้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญต้องเปลี่ยนไมนด์เซตของตัวผู้ผลิต การแปรรูปและการตลาด ต้องหาวิธีการเพิ่มมูลค่า คัดเกรดผลไม้ขายแทนการเหมาเข่ง การตลาดที่ไม่มุ่งขายผลสดอย่างเดียว การหาตลาดใหม่ด้วยการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ทุเรียนภาคตะวันออกปริมาณถึง 744,000 ตันในขณะนี้ และที่จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ปีข้างหน้า

รวมทั้งผลผลิตเพื่อนบ้านจำนวนมหาศาล ควรพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ใช้นวัตกรรมแปรรูปเป็นอาหาร หรือการสกัดสารแซนโทนจากเปลือกมังคุดที่มีปริมาณมากกว่าเนื้อมังคุดถึง 80% ราคาขายจากกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เพิ่มมูลค่าได้เป็น 1,000 บาท เป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกับสถาบันการศึกษา เป็นแผนระยะยาวที่หน่วยงาน เครือข่ายต้องช่วยกันสนับสนุนงบประมาณและเดินไปด้วยกันทั้งภาคตะวันออก”

ปรับผังเมืองผุด รง.ต้นแบบ

แผนพัฒนายุทธศาสตร์ด้านเกษตรกรรมของ จ.จันทบุรี เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวเป้าหมายการพัฒนา ZERO WAST ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่นที่ต้องการให้จันทบุรีเป็นเมืองน่าอยู่ (living city) หรือเมืองแห่งความสุข (happy city) สภาอุตสาหกรรมฯได้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี 2564-2568 ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Food and Fruit Corridor : EFFC) เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายอาหารและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศและเสนอให้ปรับผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี

เพราะผังเมืองเดิมไม่ได้รองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดโซนนิ่งพื้นที่สีม่วงและสนับสนุนพื้นที่ชายแดน อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน ตั้งโรงงานแปรรูปเกษตร เพราะเหมาะสมทั้งทรัพยากรและแรงงาน ซึ่งจังหวัดกำลังดำเนินการอยู่ สิ่งสำคัญประเภทอุตสาหกรรมต้องไม่กระทบกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สภาอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี เริ่มวางแผนยุทธศาสตร์ โครงการระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Food and Fruit Corridor : EFFC) มาตั้งแต่ปี 2563 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และจังหวัดจันทบุรี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาจังหวัดโดยมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ

โดยเสนอโครงการ “Chanthaburi Foods and Fruits Valley” ให้ จ.จันทบุรี เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารและส่งเสริมให้มีงานวิจัย การใช้เทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ปี 2564-2568 ตั้งเป้าขยายโรงงานต้นแบบ ปีละ 1 แห่ง การสนับสนุนให้ลงทุนโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 10 กว่าแห่ง

ขณะนี้ตามแผนระยะสั้น 5 ปี เริ่มเป็นรูปร่างมีหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีจัดตั้งเป็นศูนย์ข้อมูล ดาต้าเบส ข่าวสารบริการครบวงจร ส่วนแผนระยะกลาง ระยะยาวมีการพูดคุยกันในหลายหน่วยงาน เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรทำผลผลิตมาตรฐาน สร้างแบรนด์ รวมทั้งตลาดกลางผลไม้ภาคตะวันออกที่กำหนดราคาซื้อ-ขายล่วงหน้าให้จังหวัดจันทบุรีเป็นโมเดลต้นแบบขับเคลื่อน

โดยเฉพาะทุเรียนมีการขยายพื้นที่ปลูกมากทั้งในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ระยะ 4 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตต้องเตรียมการรองรับมังคุด ลำไย ถ้าส่งออกไม่ได้ต้องเตรียมการอย่างไร


จากนั้นจะขยายสู่ผลไม้ หรือสินค้าอื่น ๆ ซึ่งใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกเริ่มไปพร้อม ๆ กันได้ สอดคล้องกับโครงการ BCG โรงงานแปรรูปจะเป็นโรงงานสีเขียว