อีสาน-อันดามัน ดัน “เวลเนส” พลิกฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว-บริการ

หลายธุรกิจปรับตัวมุ่งสู่ธุรกิจ “เวลเนส” (wellness) หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 และกำลังจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพในยุคปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนจัดงาน THAILAND INTERNATIONAL HEALTH EXPO 2022 ขึ้น ภายในงานมีการจัดเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสเพื่อพลิกฟื้นประเทศหลังโควิด-19” โดยมีวิทยากรจากหลายภูมิภาคเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์

“ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์” ประธานกรรมการ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน กล่าวว่า หลังเกิดโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบหนัก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาสิ่งที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างธุรกิจเวลเนสและผลักดันประเทศไทยให้เป็นเวสเนสคลับของโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากทางภาครัฐสนับสนุนให้มีพื้นที่แซนด์บอกซ์ในการทดลองให้โรงแรมอื่น ๆ ได้ศึกษาร่วมกันไป จะช่วยให้การขับเคลื่อนการสร้างธุรกิจเวลเนสในภาคอีสานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

“หลังเกิดโควิด-19 มา 2 ปี ทางโรงแรมโฆษะได้เริ่มปรับตัวและได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงแรมต้นแบบที่จะทำธุรกิจเวลเนสโฮเทลใน จ.ขอนแก่น โดยเริ่มเฟสแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้ทำ MOU ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมฝึกอบรมและผลิตบุคลากรให้ และล่าสุดมีกลุ่มแพทย์แผนไทย และกลุ่มอนุรักษ์สมุนไพรไทยมาเข้าร่วมทีมในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าโครงการอยู่ที่ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ช่วยกันแลกเปลี่ยนความรู้และเสริมสร้างช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น”

“กรด โรจนเสียร” นายกสมาคมการส่งเสริมสุขภาพไทย และผู้บริหารเครือชีวาศรม กล่าวว่า สำหรับการผลิตบุคลากรของประเทศนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องของเวลเนสและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีปัญหา โดยเฉพาะหลังโควิด-19 มีดีมานด์ความต้องการบุคลากรเป็นจำนวนมาก เพราะต่างประเทศหลายคนมั่นใจในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มบุคลากรเข้ามาตอบสนองกับความต้องการในอนาคต

ทั้งนี้ ธุรกิจเวลเนสจะเป็นการบริการเพิ่มเติมเข้ามาจากการบริการที่เคยได้พบเห็นเป็นปกติ สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะทำให้เกิดการจ้างงานบุคลากรมากมาย แม้ประเทศไทยเพิ่งเข้าใจคำว่าเวลเนสเพียงไม่กี่ปีและเพิ่งมาเร่งขยายตัวในช่วงเกิดโควิด-19 แต่ความก้าวหน้าในเรื่องการบริการยังขาดอยู่ ฉะนั้นต้องมีการศึกษาหรือหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน มีองค์ความรู้เข้ามาเสริมให้ตรงกับความต้องการ

“มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่นั้น ๆ แต่ต้องจับมือกันทุกจุด เพราะมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนกันเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าทำอย่างไรให้แต่ละที่มาจับมือกันให้ได้ และต้องแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่ามันจะตอบโจทย์ชีวิตและอนาคตเขาได้อย่างไร ตลอดจนการเดินไปของระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกันด้วย”

“รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ” ผู้อำนวยการโปรแกรม 15 หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า เวลเนสถือเป็นยุทธศาสตร์พลิกพื้นประเทศและต้องใช้เป็นโอกาสขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศด้วยโดยวางคนให้เป็นจุดแข็งทั้งในเชิงศักยภาพที่มีความหลากหลายและพื้นที่แหล่งผลิตสมุนไพรรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มองไปถึง 1.การเพิ่มคุณค่าและยกระดับ และ 2.ความเข้มแข็งของระบบสังคม

“เรามีการบริการสุขภาวะโดยทั่วไปสูง การที่วางยุทธศาสตร์คนให้เป็นจุดแข็งและพร้อมถูกนำไปใช้ต่อ จะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งมิติที่จับต้องได้และไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของ 3 ส่วน ทั้งวิชาการ ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ถึงจะทำให้เกิดนวัฒนกรรมนำไปสู่การเกิดเวลเนสอย่างบรรลุผล”

เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าประสงค์ 1.ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ 2.ทำเป็นแหล่งการสร้างงานและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ 3.จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำกระจายความเจริญจากเมืองไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันในเชิงของระเบียงเศรษฐกิจจะเป็นการใช้พื้นที่เชื่อมต่อกันเพื่อปรับเชิงโครงสร้างใหญ่และแก้ปัญหาให้สอดคล้องกัน เช่น แก้ข้อกฎหมายให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยใช้วิชาการหรือการวิจัยเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลง

ด้าน “รศ.ดร.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์” ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือเวลเนสทัวริสซึ่ม (wellness tourism) จะมีมูลค่าสูงมากในการขับเคลื่อนประเทศ

“ก่อนหน้านี้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในนามการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเมดิคอลทัวริซึ่ม (medical tourism) ซึ่งมักกระจุกตัวกันอยู่ และเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของ wellness tourism ทำอย่างไรเราจะเปลี่ยนจากการป่วยแล้วมารักษาให้เป็นการดูแลตัวเองก่อนจะป่วยได้ด้วยคำว่าเวลเนส แต่การปรับให้เป็นเวลเนสมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยต้องร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ชุมชน ขับเคลื่อนด้วยการใช้อัตลักษณ์ในพื้นที่มายกระดับตัวเอง”

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นและอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนเรื่องเวลเนสตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกระดับผู้ประกอบการให้มีมาตรฐานสากล มีโมเดลพัฒนาแพทย์แผนไทยสู่การแพทย์โลก

“ก้าน ประชุมพรรณ์” ประธานกรรมการเดอะบีช พลาซ่า ภูเก็ต เลขาธิการสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดโควิด-19 จนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ฉะนั้นต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กฎบัตรสุขภาพ และผู้ประกอบการโรงแรมในอันดามันกว่า 120 โรงแรม มาอบรมหลักสูตรสุขภาพเพื่อเปิดแผนปรับปรุงโรงแรมบางส่วนเป็นธุรกิจเวลเนสและจัดแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจอันดามัน

“เรามองว่าตลาดการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างเดียวน่าจะไปไม่ได้ หากปรับเปลี่ยนต้องทำโมเดลธุรกิจขึ้นมา และค้นพบว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีศักยภาพและทำเลพื้นที่ทำธุรกิจไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับกลยุทธ์ เปลี่ยนคอนเทนต์ จึงมีสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทยเกิดขึ้นหลังจากนั้น และในจังหวัดภูเก็ตหากมีการรวมตัวเส้นทางเป็นรูตเดียวกันจะเกิดภาพชัดขึ้น ตอบโจทย์สำหรับการแข่งขันกับต่างชาติเราสามารถใช้วัฒนธรรมที่หลากหลายผสานเข้าไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเวลเนสและสุขภาพได้”

“ชัยรัตน์ รัตโนภาส” นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก กล่าวว่า สำหรับสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออกก็กำลังขับเคลื่อนในเรื่องเวลเนสด้วยเช่นกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการอบรมซึ่งขยายมาจากฝั่งอันดามัน ที่จะช่วยสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างให้กับประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับสมาพันธ์สปาทั่วประเทศที่เป็นพาร์ตเนอร์กัน ค่อย ๆ ขับเคลื่อนเติบโตไปพร้อมกับพัฒนาบุคลากรเสริมเข้ามา

นอกจากนี้ “ณัฐชรัตน์ กฤตธน” ประธานกรรมการ บริษัท เรเมดี้ ซีบีดี (ไทยแลนด์) จำกัด จ.นครราชสีมา กล่าวว่า โคราชมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่เน้นเรื่องการแพทย์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานที่เน้นเรื่องการแพทย์แผนไทย เราจะกำหนดเวลเนสให้เป็นจุดแข็งโดยประเมินศักยภาพในพื้นที่ อาทิ พื้นที่ในเขตเทศบาลนคร เขตธุรกิจที่เติบโตค่อนข้างสูง คนเมืองต้องสุขภาพดี หรือการเชื่อมมหาวิทยาลัยจับมือกับโรงพยาบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้โรงแรมที่พร้อมเปลี่ยนตัวเองเป็นเวลเนสโฮเทล พัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับเพื่อจะเป็นศูนย์การแพทย์ health business innovation เป็นต้น