ดัน 17 จังหวัดเหนือมุ่งสู่ BCG ปั้น Plant Based สู่ตลาดโลก

FTI EXPO 2022

ปิดฉากงาน FTI EXPO 2022 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปอย่างสวยงาม ภายใต้แนวคิด Shaping the Future Industry for Stronger Thailand ยกทัพธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มาจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ปรากฏว่า งาน 5 วันมีผู้เข้าร่วมเกินความคาดหมายกว่า 5 หมื่นคน

ในการกล่าวปาฐกถาบนเวทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอนหนึ่งระบุว่า ประเทศไทยคือรถยนต์คันหนึ่ง จะขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มกำลัง ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทสำคัญ รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศ EEC ภาคตะวันออก ขับเคลื่อนไปด้วยดี ภูมิภาคอื่น ๆ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ ก็ต้องมีเขตเศรษฐกิจ หรือระเบียงเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อมกับกลุ่มประเทศใกล้เคียง และเชื่อมไปยุโรปตะวันออก

สอดรับกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า งาน FTI Expo 2022 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแสดงศักยภาพและยกระดับความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เนื่องจากทรัพยากรมีความหลากหลายทางชีวภาพสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อม รวมถึงความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่พร้อมใจกันจัดงาน FTI Expo 2022 เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนให้วงการอุตสาหกรรมไทยก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศแข็งแกร่ง

NEC ปั้น Plant Based สู่ BCG

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และเชียงราย กำหนดเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจจะใช้ฐานการลงทุนเดิมคือ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ในการรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้น BCG Economy Model มากขึ้น รวมทั้งขยายฐานการลงทุนใหม่เชื่อมมาสู่เชียงใหม่ด้วย

โดยเชียงใหม่อาจเน้นอุตสาหกรรม EV เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน รวมถึงเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฐานการผลิตแหล่งใหญ่ และมีวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ต้องดึงออกมาและปรับเปลี่ยนสู่ BCG อาทิ อุตสาหกรรมอาหารจากพืช plant based ที่เป็นเทรนด์ของคนทั่วโลกที่เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ซึ่งกลุ่มทุนท้องถิ่นเชียงใหม่ อาทิ นิธิฟู้ดส์ ที่ทำผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช หรือ plant based รวมถึง บมจ.ซันสวีท ที่กำลังจะทำ plant based มุ่งสู่ BCG Economy Model ในอนาคต ที่สามารถขยายช่องทางตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลก

ชูนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์

ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า BCG Economy Model มี 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B-Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C-Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้ G-Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว

“BCG เป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น โดยเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดมีวัตถุดิบข้าวอยู่แล้ว จากปัจจุบันสีข้าวใส่ถุงขาย ต่อไปต้องหาทางนำข้าวมาเพิ่มมูลค่า ภาคเหนือตอนล่างมีความชัดเจนด้านเกษตรกรรม ต้องแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง”

ปัจจุบันจังหวัดนครสวรรค์นำร่อง “โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) กับ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ในนามบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด (GKBI) ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2561

ปัจจุบันโครงการมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการลงทุนราว 20,000 ล้านบาท ตอนนี้เดินหน้าเฟสแรก คือ การนำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล เพื่อป้อนให้กับกลุ่มเนเชอร์เวิร์คส์ (NatureWorks) ผู้ผลิตชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาร่วมทำโครงการผลิตไบโอพลาสติก ภายในโครงการของ GKBI และขณะนี้อยู่ระหว่างลงทุนในเฟสที่ 2 อีก 20,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งโครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่กว่า 40,000 ล้านบาท

“พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งปลูกอ้อยแหล่งใหญ่ ทั้งนครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี และบางส่วนจากเพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี รองรับการผลิตไบโอพลาสติกที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งตลาดยุโรปมีความต้องการสูงมาก ถือเป็นการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบจากอ้อยที่ผลิตน้ำตาลธรรมดาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งนครสวรรค์จะเป็น Bio Hub ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ BCG Economy Model อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน”

SUN เร่งทำเบอร์เกอร์จากพืช

นายวีระ นพวัฒนากร ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน กล่าวว่า SUN ได้เข้าร่วมงาน FTI EXPO 2022 โดย SUN ได้ชูแนวคิด BCG Economy Model หรือ Bio-Circular-Green Economy มุ่งเน้นการแสดงศักยภาพ นวัตกรรมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร ยกระดับและแก้ปัญหาด้านการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ได้จับมือองค์กรพันธมิตรชั้นนำ อาทิ บริษัท สวอนอินดัสทรี่ส์ (ประเทศไทย) จํากัด

บริษัท พูนทรัพย์แคน จำกัด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด และบริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อการบูรณาการนวัตกรรมอัจฉริยะสำหรับธุรกิจเกษตร เป็นการบริหารจัดการเกษตรแบบครบวงจรและแม่นยำ สามารถเชื่อมต่อเกษตรกรรมท้องถิ่น สู่ระบบอุตสาหกรรมโลก สร้างอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ SUN มีแผนขยายการลงทุนทำผลิตภัณฑ์ plant based เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ตลาดคนรักสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ plant based ที่เตรียมผลิต อาทิ เบอร์เกอร์ เป็นต้น