ผ่ามุมคิด “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ดิ เอ็มสเฟียร์ Winning Formula

ศุภลักษณ์ อัมพุช

ใกล้ความจริงเข้าไปทุกที กับเป้าหมายสร้าง “ย่านการค้า” บนถนนสุขุมวิทที่สมบูรณ์แบบ ภายใต้ชื่อ “ดิ เอ็มดิสทริค” ให้เกิดขึ้น

หลังจากเมื่อค่ำวันพุธที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท สุขุมวิทซิตี้มอลล์ จำกัด ประกาศกลางงาน The Pulse of Bangkok ท่ามกลางผู้ร่วมงานกว่า 3 พันคน ถึงกำหนดเปิดให้บริการ “ดิ เอ็มสเฟียร์” ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างสวนเบญจสิริ จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ในเดือนธันวาคม 2566

1 ปีนับจากนี้ !!!

สานฝัน…สร้างย่านการค้า

“จริง ๆ โปรเจ็กต์นี้ (ดิ เอ็มสเฟียร์) ต้องเปิดตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ดีเลย์ออกมา เลยช้าไปหน่อย แต่กลายเป็นความโชคดี ทำให้ไม่ต้องชนกับโควิด-19 เพราะถ้าเปิดมาตอนนั้นไม่รู้จะเป็นยังไงเหมือนกัน” คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ด้วยแนวคิด Future Retail ภายใต้เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท “ดิ เอ็มสเฟียร์” จะเป็นศูนย์การค้าแห่งอนาคต พื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร

บวกกับดิ เอ็มโพเรียม 250,000 ตารางเมตร และดิ เอ็มควอเทียร์ อีก 200,000 ตารางเมตร รวมกันมหาศาลถึง 650,000 ตารางเมตร เป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท

มั่นใจ “เอ็มดิสทริค” ทำเลทอง

“วันนี้แอ๊วอยากสร้างย่านการค้า ย่านการค้าที่เจริญต้องมีเน็ตเวิร์กกิ้ง คมนาคมสะดวก ระบบขนส่งมวลชนที่ดี มีแหล่งค้าขาย โตเกียวมีกินซ่า โอมาเตะซันโด๊ะ ชิบูย่า ส่วนนิวยอร์กไม่ต้องพูดถึง ทุกแห่ง พอเป็นย่าน ที่ตามมาคือความคึกคัก ไม่มีคำว่าหลับใหล

…กลับมาดูกรุงเทพฯ สมัยก่อนเรามีพาหุรัด ตอนนี้มีสยามสแควร์ ราชประสงค์ ประตูน้ำ ส่วนสุขุมวิทยังไม่เป็นย่าน แม้จะมีอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม แหล่งบันเทิง โรงพยาบาลอยู่รายล้อม

…รอบ ๆ เราในรัศมี 5 กิโลเมตรมีอะไร เรามีอาคารสำนักงาน 4 ล้านตารางเมตร พนักงานออฟฟิศ 4 แสนคน และที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกล้านกว่าตารางเมตร ในอนาคตจะมีคนออฟฟิศเพิ่มเป็นแสนคน ส่วนคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว 1.8 แสนยูนิต กำลังก่อสร้างอีก 2 หมื่นยูนิต ไม่รวมถึงทองหล่อ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนอยู่ก่อนแล้ว”

ดิ เอ็มสเฟียร์ ที่จะเปิดในปลายปีหน้าจะมาเติมเต็มดิ เอ็มโพเรียมและดิ เอ็มควอเทียร์ที่มีอยู่เดิม เพิ่มมิติธุรกิจการค้าในอนาคต ยกระดับให้เป็นย่าน ที่ตามมาคือการยกระดับกรุงเทพมหานครสู่ระดับโลก

ผนึกกำลัง 3 ศูนย์การค้า

“ทั้ง 3 ศูนย์การค้าจะมีโพซิชันนิ่งแตกต่างกัน แต่จะเอื้อกัน ก่อนหน้านี้เราทำดิ เอ็มโพเรียม ให้เป็นลักเซอรี่ มีดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ซึ่งเตรียมใช้งบฯ 3 พันล้านบาท ปรับโฉมใหม่ ขณะที่ดิ เอ็มควอเทียร์ เป็นไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ ส่วนอันนี้ (ดิ เอ็มสเฟียร์) จะแรงกว่า ไม่มีใครเหมือน”

ภายใต้แนวคิด Future Retail ที่นี่คือศูนย์การค้าแห่งอนาคตที่ไม่หลับใหล (sleepless metropolis) มีทั้งแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก ไทยดีไซเนอร์ แบรนด์เนมชั้นนำของไทย, พื้นที่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่, ศูนย์รวมร้านอาหาร, EM WONDER แหล่งแฮงเอาต์ใหม่ของกรุงเทพฯ, EM INNOVATION รวมนวัตกรรมจากทั่วโลก

รวมถึงอิเกีย ซิตี้ สโตร์ ขนาด 15,000 ตารางเมตร ครั้งแรกใจกลางเมือง และ EMLIVE ความจุ 6,000 ที่นั่ง โดย AEG ผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงและกีฬาระดับโลก

เปิดประตูผู้ประกอบการรายย่อย

“ไม่เอาแล้ว สร้างห้างอีกห้างเพื่อให้แชนเนลเข้ามา เพราะลักเซอรี่มีอยู่หลายที่แล้ว ที่ดิ เอ็มสเฟียร์ เป็นอะไรที่เป็น new retail เพื่อช่วยผู้ประกอบการคนไทยให้มีพื้นที่ค้าขาย ที่ผ่านมาเราทำที่ค้าขายให้รายใหญ่ ๆ รวยมาเยอะ ครั้งนี้ไม่ใช่ ที่นี่จะเป็นพื้นที่ของ entrepreneur รวมถึงศูนย์รวมความบันเทิง ทันสมัย มีสถานที่จัดงานระดับโลก เป็นอาวุธที่เป็น winning formula ที่ไม่มีใครเหมือน

…เราทำให้ที่นี่ตอบสนองคนทุกกลุ่ม ทุกเจน เป็นอะไรที่ยากมาก ต้องทำให้พร้อม แอ๊วเป็นคนที่ใช้คำว่าศูนย์การค้าครบวงจรเป็นคนแรก ที่ทำตอนนี้ต้องมากกว่านั้น

…สินค้าต้องแปลก ไม่แปลกได้ยังไง ในเมื่อ entrepreneur ลงมือทำเอง สินค้าไม่เหมือนใคร ไม่มีสาขา คนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ค้าขายที่เป็นเทรนดี้”

“เข้าใจดีว่าเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้อยากมีกิจการเอง ไม่อยากเป็นลูกจ้าง ไม่อยากทำงานกับพ่อแม่ หรือบางคนอาจทำงานไปด้วย ขายสินค้าออนไลน์อยู่ เราอยากเปิด window ตรงนี้ ที่นี่นอกจากจะมีนักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษาที่เข้ามาใช้บริการ เรายังจะทำ e-Catalog ให้ค้าขายอีกช่องทางหนึ่งด้วย”

“แต่การจะแข่งกับคนอื่นได้จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามา ดีไซน์ต้องเก๋ ต้องว้าว ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น ถ้าทำได้ที่ตามมาคือ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์-creative economy ให้เกิดขึ้น”

คนหวนกลับมาเดินช็อปปิ้ง

แจ็ก หม่า เคยคุยกับแอ๊วตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด… บอกว่า “การสั่งซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ไม่มีทางเกิน 20% จากทั้งหมดไปได้ ที่เกิดขึ้นจริง ๆ อาจแค่ 5-10% ด้วยซ้ำ แต่ที่ตัวเลขดูสูง ส่วนหนึ่งมาจากช่วงโควิด คนเดินทางไม่ได้ อีกกลุ่มคือคนต่างจังหวัด เพราะบ้านอยู่นอกเมือง ห่างไกล ขับรถไปซื้อเองก็เสียเวลา ไม่คุ้มค่าน้ำมัน”

“ที่ผ่านมา พฤติกรรมผู้บริโภคถูกดิจิทัลดิสรัปต์ไปช่วงหนึ่ง คนไม่เดินศูนย์การค้า ตื่นเต้นกับการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ตอนนี้คนเริ่มเบื่อ เพราะค่าส่งที่สูง คนที่ทำแพลตฟอร์มไม่มีบริษัทไหนที่กำไร ตัวแดง ที่เห็นคือคนเริ่มกลับมาศูนย์การค้า”

โอกาสการลงทุนรอบใหม่

“ยอมรับช่วงโควิด ผู้ประกอบการร้านค้าลำบากมาก เพราะถูกปิด ค้าขายไม่ได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเริ่มดีขึ้น ดูจากสยามพารากอนที่ตัวเลขสูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะเกิดโควิด แสดงให้เห็นว่า potential กำลังกลับมา คนเริ่มโหยหา

ตลาดที่ดีมากคือ กลุ่มลักเซอรี่ เพราะคนไทยไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศมานาน หันมาซื้อในสยามพารากอน และพบว่าสะดวกสบายกว่า ราคาไม่ได้ต่างกันมาก”

“การทำโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ แบบที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ไม่ง่าย เพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก ค่าวัสดุก็ขึ้น ค่าเหล็กก็ขึ้น คนไม่มีกำลังซื้อ นักลงทุนเองก็ไม่มีเงินมาลงทุน

…ที่ผ่านมา ทุกโปรเจ็กต์ที่เราทำ จะขายหมดก่อนตอกเข็มทุกครั้ง เพราะโควิดทำให้ครั้งนี้กับดิ เอ็มสเฟียร์ เราสร้างตึกขึ้นมาก่อนโดยยังไม่ได้ขายพื้นที่เลย จะมีที่ขายไปบ้างมีแต่รายใหญ่ ๆ ซึ่งแต่ละรายไม่ธรรมดา

…อย่างอิเกีย เป็นสโตร์ในเมืองใหญ่สุดในภูมิภาค หรือ AEG ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการคอนเสิร์ต กีฬา บันเทิง ไม่เคยลงทุนแบบนี้กับใครในบ้านเรามาก่อน

มั่นใจว่าพอเปิดขาย จะขายหมดแน่นอน”

ยกระดับกรุงเทพฯสู่เดสติเนชั่นโลก

วิสัยทัศน์และเป้าหมายของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังชัดเจน ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและของโลก

รวมทั้งเชื่อด้วยว่ากรุงเทพฯมีพลังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ เพียงแต่รัฐเข้าใจ และสนับสนุนในสิ่งที่ภาคธุรกิจกำลังก้าวไป

อาทิ ถ้ามี sky walk เชื่อมจากแยกอโศกซึ่งเป็นย่านธุรกิจ ผ่าน “เอ็มดิสทริค” ที่เป็นรีเทลและสวนเบญจสิริ ต่อเชื่อมไปถึงทองหล่อ ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงชั้นนำ ทำให้ทั้งคนในย่านนี้และนักท่องเที่ยวไหลเวียนได้อย่างสะดวกสบาย

หรือมุมมองด้านลบของภาครัฐต่อธุรกิจบันเทิง ธุรกิจกลางคืน nightlife จะดีกว่านี้มั้ย ถ้าเราหันมาสนับสนุน สร้างทั้งรายได้เข้าประเทศ สร้างงานให้คนไทยมหาศาล

“เราเองอยากพัฒนาสวนเบญจสิริ ซึ่งอยู่หน้าบ้านเรา ให้เป็นแหล่งสันทนาการ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นที่ออกกำลังให้คนสุขุมวิท แต่การจะทำแบบนี้ได้ต้องได้รับความยินยอมจากภาครัฐ”

หนุนใช้ “ท่องเที่ยว” กู้ ศก.

“เชื่อมั่นว่า ดิ เอ็มดิสทริค จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการค้าปลีก รวมไปถึงการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย มีส่วนในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเจ้าของแบรนด์ ร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงสร้างธุรกิจใหม่ ๆ อันจะเป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจ งานและอาชีพให้กับคนไทยอีกนับหมื่นอัตรา

ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาร่วมลงทุนในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง”

“ตอนนี้ทุกคนรู้ว่าการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมกำลังย้ายฐานไปเวียดนาม ที่เราจะสู้คนอื่นได้คือ การท่องเที่ยวซึ่งมีความเป็นไปได้ หลายประเทศอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยว จีน อินเดีย อยู่ใกล้เรามาก ตอนนี้กำลังซื้อในภูมิภาคนี้มีถึง 600 ล้านคน

…ปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีโอกาสไปถึง 10 ล้าน ปีหน้า 30 ล้าน และเพิ่มเป็น 40 ล้านในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งมีโอกาสเติบโตได้อีก สิ่งสำคัญทำอย่างไรถึงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติแต่ไม่ใช้เงินเข้ามา”

แน่นอนว่าเราอยากมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสิ่งนั้นเกิดขึ้น