ค่ายน้ำเมาโล่งอก ชี้ปัจจัยบวกหนุนรอบทิศ โควิดขาลง-ต่างชาติทยอยเดินทางเข้าประเทศช่วยเม็ดเงินสะพัด มั่นใจตลาดโค้งท้ายคึกคัก กางแผนรองรับหน้าขายสำคัญ “เบียร์” เร่งสต๊อกสินค้ารับหนาว “เหล้านอก” ฟื้นแล้วลุยทำตลาดยาวยันสงกรานต์ปีหน้า ส่วน คราฟท์เบียร์ ปูพรมกิจกรรม-อีเวนต์ถี่ยิบทุกอาทิตย์
จากสถานการณ์โควิด -19 ที่คลี่คลาย การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ของทางการ รวมถึงการปลดล็อกที่เปิดให้ชาวต่างประเทศได้เดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น ด้วยการยกเลิก หรือ ไทยแลนด์ พาส หรือการลงทะเบียนสำหรับชาวต่างชาติ บวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น และอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลให้ เหล้า-เบียร์ ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ซบเซามานาน
หนาวหนุนเบียร์คึกคัก
แหล่งข่าวจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย เบียร์สิงห์ และลีโอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมของตลาดเบียร์เริ่มกลับเข้าสู่สภาพปกติ โดยเฉพาะช่องทางออนพรีมิส หรือสถานบันเทิงกลางคืน ผับ บาร์ ที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าทุกค่ายกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้วสัก 60-70% จากช่วงโควิด-19 ที่ตลาดอาจจะสะดุดลงไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีตัวเลขการซื้อกลับไปดื่มกินที่บ้านเข้ามาทดแทนในระดับหนึ่ง สำหรับสถานบันเทิงกลางคืนที่กลับมาเปิดให้บริการ ขณะนี้แม้จะยังไม่กลับมาเต็มร้อย เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่หยุดหรือเลิกกิจการไป แต่ก็มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าทดแทน
ยิ่งตอนนี้ความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มหมดไป อีกด้านหนึ่งอากาศหนาว รวมทั้งปัจจัยบวกจากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอแปค (16-18 พ.ย.) รวมทั้งมหกรรมฟุตบอลโลก ที่จะลากยาวไปจนถึงช่วงกลางเดือน ธ.ค. (20 พ.ย.-18 ธ.ค.) จะเป็นปัจจัยหนุนให้บรรยากาศของตลาดเบียร์มีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ทุกค่ายคงจะเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับดีมานด์ของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของการเร่งผลิตเบียร์-บริการ รวมถึงเบียร์สดและอุปกรณ์ เพื่อรองรับหน้าขายที่สำคัญ
อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนก็คือ การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้แม้จะไม่ได้มีผลโดยตรงกับตลาดเบียร์ แต่ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้มีกระแสเงินหมุนเวียนในตลาดในระบบมากขึ้น จึงมั่นใจว่า ปลายปีนี้ บรรยากาศตลาดเบียร์จะมีความคึกคักขึ้นมาก และจะเติบโตมากกว่าช่วง 2-3 ปี ที่มีปัจจัยลบจากโควิดเข้ามากระทบ และเชื่อว่าในแง่ของกำลังซื้อที่อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็คงไม่ส่งผลกระทบกับตลาดเบียร์มากนัก
“ปีนี้ แม้ผู้ประกอบการทุกค่ายจะเจอปัญหาต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งปัญหาค่าเงิน แต่ก็จะไม่กระทบกับผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากทุกค่ายต่างก็มีการปรับราคากันไปเพียงเล็กน้อย และแบกรับภาระไว้ค่อนข้างมาก”
เหล้านอกลุยยาวถึงสงกรานต์
นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ค่อนข้างมั่นใจว่า หน้าขายปลายปีนี้ตลาดเหล้านอกจะกลับมาคึกคักมากขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ จะมาจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ และยอดขายในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งภูเก็ต พัทยา ฯลฯ จะมีตัวเลขการเติบโตที่ดี นอกจากช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองแล้ว ผู้ประกอบการยังมองการเติบโตไปถึงไตรมาสแรกปีหน้าด้วย เพราะจะมีช่วงเทศกาลอีกหลายเทศกาล ปีใหม่ วาเลนไทน์ ตรุษจีน สงกรานต์
สิ้นปีนี้ หากในแง่การเติบโตหากสามารถฟื้นตัวกลับมาได้สัก 30% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ก็น่าจะโอเค แต่จากนั้นไปเชื่อว่าโมเมนตั้มจะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง และมั่นใจว่า หลังไตรมาสแรกปีหน้า การเติบโตอาจจะได้เห็นตัวเลข 40-50%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด จากการสำรวจตลาดสุราต่างประเทศจากช่องทางร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรด พบว่า ขณะนี้สินค้าบางแบรนด์ได้มีความเคลื่อนไหวในการปรับขึ้นราคาขึ้นบ้างเล็กน้อย 30-50-80 บาท/ขวด ขึ้นอยู่กับขนาดหรือปริมาณ
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเหล้านอก อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ตั้งแต่มีโควิด-19 เกิดขึ้น ตลาดเหล้านอกซบเซาขายไม่ได้ และทำให้เกิดภาวะสต๊อกบวม แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ตลาดก็ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา แต่ก็เป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะสต๊อกบวมที่เกิดขึ้นอาจจะหมดลงใน 1-2 เดือนนี้ จากนั้นตั้งแต่ต้นหรือกลาง เดือน พ.ย.เป็นต้นไปก็น่าจะเริ่มเห็นราคาใหม่ที่แต่ละค่ายทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนจากค่าขนส่ง ค่าเงิน และคาดว่าการปรับราคาโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% จากราคาเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า เหล้านอกจะมีการปรับราคาหลังจากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากตลาดซบเซามากและสต๊อกบวม จึงต้องค่อยๆ ระบายสต๊อกและรอให้สินค้าเดิมหมดก่อน
คราฟท์เบียร์ปูพรมกิจกรรม
นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของคราฟต์เบียร์ไลเกอร์ และอัลเลมองท์ กล่าวว่า ขณะนี้ ภาพรวมของตลาดคราฟท์เบียร์กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โควิด แต่ก็เป็นอัตราการฟื้นที่ช้ากว่าที่คาด ต้องยอมรับว่า ตัวที่บั่นทอนที่สุดคือ กำลังซื้อ และราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งมันสวนทางกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 2 เดือน ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์จะมีอีเวนต์เบียร์ทุกอาทิตย์
เช่นที่ผ่านมาเพิ่งมีงาน เขาค้อ คราฟท์ เฟสติวัล ที่เพชรบูรณ์ หรือปลายเดือน ต.ค. จะมีงานใหญ่ในระดับภูมิภาค South East Asian Brew (27-28 ต.ค.) เป็นการประชุมสัมมนาจะมีผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ในอาเซียนเข้ามาร่วมงาน จะมีการนำเทคโนโลยี อีควิปเมนต์ มาพรีเซ็นต์ คุยกับเรื่องวิธีการผลิต ถัดไปจะมี Thailand Brew Fest 555 (29-30 ต.ค.) The Link Asoke-Makkasan จากนั้นก็จะเป็นงาน พิษณุโลก คราฟท์ เบียร์ เป็นต้น
การจัดอีเวนต์ดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด และสร้างฐานผู้ดื่มใหม่ๆ คราฟท์เบียร์ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโต ซึ่งการเติบโตของปีนี้อาจจะเทียบกับปีที่แล้วไม่ได้ เพราะปีที่แล้วเปิดขายได้สั้นๆ ดังนั้น ปีนี้กับปีที่แล้ว ปีนี้ต้องโตกว่าเยอะมาก แต่หากเทียบกับก่อนโควิด โดยส่วนตัวมองว่าจะยังติดลบ เพราะปัจจุบันคนทำคราฟท์เบียร์น้อยลง หลายรายปิดบริษัทหายไปมาก
นอกจากการจัดอีเวนต์เพื่อสร้างการรับรู้แล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะต้องค่อยๆ เพิ่มช่องทางจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าหาซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นการนำเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและจะต้องเป็นในลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป และต้องเรียนรู้กับช่องทางนี้