เซเว่น-เซ็นทรัล-BDMS รุกหนักร้านขายยา ทุ่มเงินเปิดศึกแย่งตัวเภสัชกร

ร้านขายยา

สมรภูมิร้านขายยา 4 หมื่นล้านเดือด ขาใหญ่ “เซเว่น-เซ็นทรัล-BDMS” รุกหนักปูพรมขยายสาขา เปิดศึกแย่งตัวเภสัชกรประจำร้าน หลังสิ้นสุดผ่อนผันกฎหมายต้องมีเภสัชกรประจำร้าน แย่งตัวรับสมัคร “ฟูลไทม์-พาร์ตไทม์” เต็มอัตราศึก ทุ่มเสนอเงินเดือนสูงสุด 50,000 บาท + ค่าใบประกอบวิชาชีพ 15,000 บาท พร้อมสวัสดิการโบนัสจูงใจเพียบ “เอ็กซ์ต้า พลัส”เครือซีพี ออลล์ เร่งขยาย 100 สาขา เซ็นทรัลส่ง “ท็อปส์ แคร์” ร่วมวง “เซฟดรัก” เครือ รพ.กรุงเทพ รับไม่อั้นยันผู้ช่วยเภสัชกร ขณะที่ร้านสุขภาพและความงาม “บู๊สท์-วัตสัน” ไม่น้อยหน้า เร่งรีครูตป้อนสาขาทั่วประเทศ

การสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผัน ตาม พ.ร.บ.ยา ในเรื่องการให้มีเภสัชกรประจำตลาดเวลาของร้านขายยา เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้านขายยาต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเร่งหาเภสัชกรมาปฏิบัติหน้าที่ในร้านตลอดเวลาทำการ

ซึ่งจากนี้ไปหากร้านใดที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ส่วนเจ้าของร้านจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงอาจไม่ได้รับการพิจารณาต่อใบอนุญาต ขณะที่สภาเภสัชกรรม มติเพิ่มบทลงโทษสูงสุด คือ พักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม 2 ปี หากพบว่าเภสัชกรที่เจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แขวนป้ายไว้แต่ตัวไม่อยู่

ตารางเภสัชกร

ดีมานด์เพิ่ม-ค่าตัวพุ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านขายยาเชนสโตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดร้านขายยาที่มีมูลค่าตลาดรวมราว ๆ 4 หมื่นล้านบาท มีความเคลื่อนไหวในการเปิดรับสมัครและแย่งตัวเภสัชกรกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านขายยารายใหญ่ ที่นอกจากจะเร่งหาเภสัชกรเพื่อนำประจำร้านที่มีอยู่เดิมที่ยังขาดอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเป็นการรับเพิ่มเพื่อรองรับการเปิดสาขาตามแผนที่วางไว้

ซึ่งจากดีมานด์ของเภสัชกรที่มากขึ้นในขณะนี้ ทำให้ค่าตัวเภสัชกรปรับสูงขึ้น (ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเภสัชกรและการเจรจาต่อรอง) จากปกติเภสัชกรประจำร้านขายยามีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 35,000-50,000 บาท

ภาพการแย่งตัวเภสัชกรดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งระบบ ทั้งร้านขายยารายเล็กรายใหญ่ ร้านขายยาในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ ไม่เพียงร้านขายยาจะต้องแย่งตัวเภสัชกรกันเองแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังต้องแข่งกับบริษัทยา โรงงานผลิตยา ที่มีความต้องการเภสัชกรเช่นกัน

“จริง ๆ แล้วการรับสมัครเภสัชกรดังกล่าว เริ่มมีให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะทุกค่ายรับทราบดีว่า การผ่อนผันกำลังจะหมดลง จึงเร่งหาเภสัชกรมาประจำร้าน และการรับสมัครก็กลับมามีมากขึ้นเมื่อช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ นอกจากนี้ ร้านยาเชนสโตร์บางค่ายยังใช้วิธีการไปเดินสายโรดโชว์ หรือเปิดบูท ตั้งโต๊ะรับสมัครนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะจบ ตามคณะเภสัชศาสตร์ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนด้วย”

นายชูวิทย์ วัยศิริโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด ผู้บริหารร้านยากรุงเทพ ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมี 80 สาขาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันภาพรวมของจำนวนเภสัชกรที่มีอยู่มีค่อนข้างจำกัด ทำให้การขยายสาขาเพิ่มของผู้ประกอบการไม่เป็นไปตามแผน สำหรับร้านยากรุงเทพ จึงวางแผนขยายสาขาแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป และจะเปิดสาขาเพิ่มก็ต่อเมื่อมีเภสัชกร

ขณะเดียวกันก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิดให้บริการในบางสาขา จากปกติที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ก็หันมาเปิดเฉพาะกลางวัน เนื่องจากไม่สามารถจะเติมเภสัชกรในสาขาได้ ซึ่งตอนนี้บริษัทเปิดรับสมัครเภสัชกรเต็มที่ รับอีกจำนวนมาก นอกจากเพื่อเติมเภสัชกรในสาขาเดิมแล้ว อีกจำนวนหนึ่งก็จะเป็นการรับเพื่อทดแทนการเทิร์นโอเวอร์ด้วย

รับฟูลไทม์-พาร์ตไทม์เพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจพบว่า ล่าสุด ร้านขายยาเชนสโตร์หลายค่ายได้ประกาศรับสมัครเภสัชกร ทั้งฟูลไทม์และพาร์ตไทม์จำนวนมาก อาทิ ร้านขายยาเอ็กซ์ต้า พลัส ในเครือซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ประกาศรับสมัครเภสัชกรฟูลไทม์หลายอัตรา เพื่อประจำในสาขาต่าง ๆ เกือบ 100 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ด้วยการเสนอรายได้เริ่มต้น 33,000 บาท/เดือน (เพิ่มตามประสบการณ์) ทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เภสัชกรเป็นเจ้าของธุรกิจร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส และร้านเซเว่นอีเลฟเว่นด้วย

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัทในเครือซีอาร์ซี หรือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ ที่ได้รุกคืบเข้ามาในธุรกิจร้านขายยา และได้เริ่มเปิดร้านขายยาภายใต้ท็อปส์ แคร์ (Tops Care) เมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมา

ล่าสุดได้ประกาศรับสมัครเภสัชกรฟูลไทม์เพิ่ม สำหรับประจำสาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล เสนอเงินเดือนตั้งแต่ 25,000-35,000 บาท และค่าใบประกอบวิชาชีพอีก 15,000 บาท หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทยอยเปิดสาขาเพิ่ม อาทิ สุขุมวิท ซอย 63, พัฒนาการ 30 อุดมสุข พระราม 3 ประชานิเวศน์ (ใกล้บองมาร์เช่) และสาขาล่าสุดที่โรบินสัน ราชพฤกษ์

ขณะที่ร้านขายยาเซฟดรัก (บริษัท เซฟดรัก เซ็นเตอร์ จำกัด) ในเครือบีดีเอ็มเอส หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ปัจจุบันมีสาขากว่า 100 สาขา ประกาศรับสมัครทั้งเภสัชกรฟูลไทม์และพาร์ตไทม์ รวมทั้งผู้ช่วยเภสัชกร เพื่อทำงานทันที ทั้งสาขาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด อาทิ ระยอง บุรีรัมย์ กำแพงเพชร

แม้เซฟดรักจะไม่ระบุรายได้-เงินเดือน แต่ก็เสนอค่าประสบการณ์ ค่าตอบแทนการขาย รวมถึงสวัสดิการ เช่น โบนัสปีละ 2 ครั้ง ปรับเงินเดือนประจำปี ส่วนลดค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลในเครือ เช่น ส่วนลดค่าห้องพัก 50% ส่วนลดค่ารักษา ค่ายา การรักษาทางทันตกรรม ฯลฯ ซื้อบัตรโดยสารบางกอกแอร์เวย์ส ชำระค่าโดยสารเพียง 10% หรือ 25% ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ร้านขายยา LAB Pharmacy ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ดรักแคร์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสำหรับคนและสัตว์ ที่ประกาศแผนการรุกธุรกิจปลายน้ำ คือ ร้านขายยา

และมีแผนการขยายเพิ่มสาขาประมาณ 10-15 สาขาต่อปี จากปัจจุบันมี 21 สาขา ได้ประกาศรับสมัครเภสัชกร ทั้งเวียนและประจำสาขา ทั้งฟูลไทม์และพาร์ตไทม์ เสนอค่าตอบแทน 25,000 บาท/เดือน ใบประกอบวิชาชีพ 14,000 บาท/เดือน ค่าคอมมิชชั่น ประกันกลุ่ม ชั่วโมงการทำงาน 45 ชม./สัปดาห์ วันหยุด 2 วัน/สัปดาห์ โอที 150 บาท/ชม.

ตลาดโต-แข่งขันสูง

ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP กล่าวในเรื่องนี้ว่า ร้านขายยาเป็นธุรกิจที่โตทุกปี แต่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ตลาดร้านขายยายังเติบโตได้อีกมาก และร้านขายยาจะเป็นพอร์ตใหญ่ของบริษัทในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า นอกจากการลงทุนเปิดสาขาเองแล้ว ยังเปิดกว้างรับ strategic partner ในการขยายสาขาแล็บ ฟาร์มาซี

และในระยะถัดไปมีแผนจะเพิ่มร้านขายยาแบรนด์ใหม่ เพื่อเปิดให้บริการในที่อื่น ๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ส่วนแล็บ ฟาร์มาซี จะเน้นเปิดในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก

นอกจากการรุกคืบของร้านขายยาแบรนด์ใหม่ดังกล่าว จากการสำรวจยังพบว่า ร้านขายยาเชนสโตร์อีกหลายค่ายก็มีการประกาศรับสมัครเภสัชกรเพิ่ม อาทิ ร้านขายยาเพียว ของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่รับเพิ่มประมาณ 10 สาขา เช่นเดียวกับเจ้าของร้านขายยาภายใต้แบรนด์เฮลท์อัพ ซูเปอร์เซฟ และดรักเพลส ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เฮลท์ อัพ จำกัด ที่มีสาขารวมกันมากกว่า 75 สาขา รับสมัครเพิ่มอีกมากกว่า 20 ตำแหน่ง ด้วยเงินเดือนมากกว่า 40,000 บาท

ขณะที่ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ทั้งบู๊ทส์และวัตสัน ต่างก็ประกาศรับสมัครเภสัชกรเพิ่มจำนวนมากเช่นกัน โดยวัตสันรับเภสัชกรสำหรับประจำในกว่า 60 สาขาทั่วประเทศ เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท/เดือน (เพิ่มตามประสบการณ์) ค่าใบประกอบวิชาชีพ 14,000 บาท/เดือน เงินรางวัลในการขาย โบนัสประจำปี

ขณะที่บู๊ทส์รับสมัครฟูลไทม์มากกว่า 30 อัตรา เงินเดือน 20,000-35,000 บาท บวกค่าประสบการณ์ ค่าใบประกอบวิชาชีพ 14,500 บาท ค่าใช้จ่ายพิเศษ 1,000-1,500 บาท (ค่าเดินทาง-เฉพาะสาขาที่กำหนด) โอทีชั่วโมงละ 150-170 บาท มีค่าที่พักกรณีประจำสาขาในต่างจังหวัด (ไม่ได้มีทะเบียนบ้านในจังหวัดนั้น)