ร้านยากรุงเทพ กางแผนบุก ระดมเภสัชเข้า GPP-ชูเทคโนเสริมบริการ

ร้านยากรุงเทพจัดทัพรับตลาดร้านขายยากลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ กางแผนเดินหน้ารับสมัครเภสัชกรประจำร้านเพิ่ม พร้อมโฟกัสพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประกาศชูเทคโนโลยีเป็นหัวหอกในการให้บริการ เปิดตัวแอป-เทเลฟาร์มาซี อำนวยความสะดวกลูกค้าพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์บริการสุขภาพเบื้องต้นสำหรับชุมชน

นายชูวิทย์ วัยศิริโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด ผู้บริหาร “ร้านยากรุงเทพ” ร้านขายยา 24 ชั่วโมง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดร้านขายยาในภาพรวมยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในแง่ของการเติบโต โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ตลาดในภาพรวมอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในช่วงแรก ๆ แต่หลังจากผู้ประกอบการได้เรียนรู้และมีการปรับตัว ตลาดก็เริ่มค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวกลับมาและมีอัตราการเติบโตดีขึ้น

และเป็นที่น่าสังเกตว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปหันมาใส่ใจและเน้นการป้องกันสุขภาพมากขึ้น สะท้อนจากสินค้ากลุ่มพรีเวนทีฟเช่น วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น

“ช่วงปี 2020 โควิดเวฟแรกเข้ามา ยอดขายเราตกลงไปประมาณ 9% แต่หลังจากที่เราได้เรียนรู้และปรับตัว ปีถัดมา 2021 ยอดขายกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยโตถึง 17% และการเติบโตที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสินค้ากลุ่มโควิด อาทิ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ฟ้าทะลายโจร ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ลดน้ำมูก และเชื่อว่าจากนี้ไป หรือปีหน้าเป็นต้นไป ตลาดร้านขายยาจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”

กางแผนบุกกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

นายชูวิทย์กล่าวว่า สำหรับนโยบายการดำเนินงานจากนี้ไป จะยังมีการเปิดสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป จากปัจจุบันมีประมาณ 80 สาขา หลัก ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลโดยในจำนวนนี้เป็นร้านของบริษัทประมาณมากกว่า 50 สาขา และร้านแฟรนไชส์ 20 ปลาย ๆ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากขณะนี้จำนวนเภสัชกรในตลาดมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครเภสัชกรจำนวนมาก เพื่อนำไปเติมเต็มให้กับสาขา สำหรับการเปิดสาขาใหม่ และรับเพื่อทดแทนจากปัญหาการเทิร์นโอเวอร์ของเภสัชกรด้วย

ตารางร้านยากรุงเทพ

ปีนี้ตามแผนงานที่วางไว้ บริษัทจะเข้าจีพีพี (GPP & good pharmacy practice) ในแง่ของเภสัชกร ที่ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ที่กำหนดให้ทุกร้านต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ แต่เนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถเติมเต็มจำนวนเภสัชกรได้ จึงได้ทยอยปรับตัวมาเป็นระยะ ๆ เช่น การลดชั่วโมงการบริการลง จนปัจจุบันมีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการเฉพาะกลางวัน 26 สาขา จากสาขาทั้งหมด ส่วนอีกกว่า 50 สาขายังเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม

นายชูวิทย์ย้ำว่า ตามแผนบริษัทต้องการจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลภายใน 2-3 ปี และต้องการจะให้ครอบคลุมพื้นที่ในการดูแลลูกค้าในระยะรัศมีประมาณ 5 กม. ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทยอยรีโลเกชั่นสาขาจำนวนหนึ่ง ด้วยการปิดสาขาที่อยู่ใกล้ ๆ กัน และมีความทับซ้อน เพื่อไปเปิดสาขาในพื้นที่ห่างไกลออกไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 30 สาขา ก็น่าจะครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ หลังจากนั้นค่อย ๆ มองหาโอกาสที่จะขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดในลักษณะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป

สำหรับแฟรนไชส์ ตอนนี้ไม่ได้มาก เพราะต้องยอมรับว่า ด้วยต้นทุนของการที่จะต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิด จะทำให้ผลตอบแทนของสาขาต่ำลง หรือในช่วงแรก ๆ อาจจะถึงขั้นติดลบ เราจึงไม่เน้นการขายแฟรนไชส์มากนักสำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจทั่วไป แต่หากสนใจจริง ๆ และยอมรับความเสี่ยงได้ บริษัทจะขายสาขาที่มีเฟอร์ฟอร์แมนซ์ดีให้

ส่วนอีกโมเดลหนึ่งที่เพิ่งเริ่มทำไป คือ หากมีเภสัชกรที่สนใจจะเป็นแฟรนไชส์ เราก็เปิดรับ และจะให้ฟรีค่าแฟรนไชส์ไปเลย เพื่อให้มีร้านยาที่ดูแลคนในชุมชนได้

ชูเทคโนโลยีสร้างความต่าง

นายชูวิทย์ยังระบุด้วยว่า แนวทางที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ร้านยากรุงเทพให้ความสำคัญมากก็คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบในร้านอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบประวัติลูกค้าเชื่อมต่อข้อมูลทุกสาขา ระบบป้องกันการแพ้ยา (drug smart alert)

โดยมีการเก็บข้อมูล ผ่านรูปแบบสมาชิก หากสมาชิกไปซื้อยาที่สาขาอื่น ๆ ของบริษัท สาขาหรือเภสัชกรประจำร้านก็จะรู้ว่า สมาชิกลูกค้าคนนี้แพ้ยาอะไร เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องของอีคอมเมิร์ซ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น บริษัทได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมารองรับ และได้เปิดตัวแอป “ร้านยากรุงเทพ” ไปเมื่อเดือน พ.ค. 2564 เพื่อเป็นประตูและเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงร้านยาได้ง่าย โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ร้าน

รวมทั้งมีบริการเภสัชกรรมทางไกล (telepharmacy) ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการทำตาม พ.ร.บ.ยา และประกาศของสภาเภสัชกรรม เช่น ต้องจำหน่ายในสถานประกอบการ ที่ได้รับอนุญาต ต้องมีเภสัชกรที่ได้รับอนุญาตอยู่ในสถานที่เป็นผู้ควบคุม-การส่งมอบ ว่ายาจะไปถึงผู้ป่วยอย่างถูกต้อง

โดยหลังจากเปิดให้บริการมาปีเศษ ๆ ล่าสุด ฟีดแบ็กโดยรวม เป็นที่น่าพอใจ โดยมีผู้ที่โหลดแอปแล้วมากกว่า 2.5 แสนราย ซึ่งในช่วงเริ่มต้น สาขาที่ให้บริการจะส่งยา-เวชภัณฑ์ ไปยังบ้านลูกค้าโดยไรเดอร์ เป็นการส่งฟรี โดยมีข้อกำหนดการซื้อขั้นต่ำที่ 150 บาท

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่แพลตฟอร์มมีระบบบริการสุขภาพด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบ telemedicine จาก Skin X, Mordee และ Hibro เพื่อรับใบสั่งแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือปรึกษาแพทย์จากที่สาขาร้านยากรุงเทพ, AI ที่ช่วยคัดกรองอาการ จาก AGNOS, อุปกรณ์ดิจิทัลวัดค่าสุขภาพจาก Touch Good Health, ตู้จำหน่ายยาสามัญอัตโนมัติ Medis และจากนี้ไปจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมและต่อยอดเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมีร้านยากรุงเทพเป็นแกนหลัก เช่น ฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับปฏิทินสุขภาพ เช่น ปฏิทินการกินยาคุม การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความดัน ค่าน้ำตาล ที่จะสามารถส่งต่อให้แพทย์ได้

“ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มบริการด้านสุขภาพใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะปรับสัดส่วนสินค้าและบริการ จากการรักษาไปสู่การป้องกันมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์บริการสุขภาพเบื้องต้นสำหรับชุมชน โดยมีเทคโนโลยีเป็นบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพ และเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งร้านขายยาจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศด้านสาธารณสุข (healthcare ecosystem) ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐาน และบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย ไม่จำกัดขอบเขตพื้นที่และเวลาได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ และอยากให้ผู้ประกอบการด้าน wellness and healthcare มาร่วมกันสร้างระบบนิเวศด้านสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั่วถึง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง” นายชูวิทย์กล่าวในตอนท้าย