สภาเภสัชฯเข้มจีพีพี “ร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำ”

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

แม้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จะกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเภสัชกรในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการผ่อนปรนเรื่องนี้มาเป็นระยะ ๆ เริ่มจาก พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 4) 2527 ผ่อนปรนการมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลาเปิดทำการไปถึง 30 ก.ย. 2529 จากนั้นก็ได้ออกกฎกระทรวงร้านขายยา พ.ศ. 2556 เพื่อเปิดโอกาสร้านขายยาได้ปรับตัวอีก 8 ปี ซึ่งการผ่อนผันดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ถึงจุดยืนและบทบาทของสภาเภสัชกรรมในเรื่องนี้

ขานรับจีพีพี พ.ร.บ.ยา

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ เริ่มต้นการสนทนาว่า ถ้าพูด GPP (Good Pharmacy Practice) ของร้านขายยา จริง ๆ เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตาม พ.ร.บ.ยา 2510 แต่สิ่งที่ผูกพันมาถึงสภาเภสัชกรรม เพราะว่า ตาม พ.ร.บ.ยา เขียนว่า ต้องมี เภสัชกร เป็นผู้ปฏิบัติการ ดังนั้น ความสัมพันธ์กับสภาเภสัชกรรม จึงผูกพันที่คนทำงาน คือ เภสัชกร ขณะที่ อย. จะมีหน้าที่ในการดูภาพรวมของร้านขายยาทั้งหมด (สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ การควบคุมคุณภาพยา ฯลฯ)

ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า การเปิดร้านขายยานั้นจะต้องเป็นผู้รับอนุญาต พูดง่าย ๆ ใครเปิดก็ได้ แต่ต้องมี ผู้ปฏิบัติการ เป็น เภสัชกร และจะต้องจัดหาเภสัชกรตลอดเวลาที่เปิดทำการ สำหรับ สภาเภสัชกรรม ก็มีข้อกำหนดว่า เภสัชกร จะต้องทำหน้าที่อะไร อย่างไร

พร้อมกันนี้ นายกสภาเภสัชกรรมยังเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ช่วง พ.ร.บ.ยา 2510 ออกมา สมัยนั้นยังมีเภสัชกรไม่มาก ช่วงนั้นมีสถาบันการศึกษาที่เปิดเรียนเปิดสอน คณะเภสัชศาสตร์ อยู่เพียง 2 แห่ง (จุฬาฯ-มหิดล) สมัยนั้นปีหนึ่ง ๆ มีเภสัชกรจบออกมาประมาณ 200-300 คน ถือว่าน้อยมากและยังขาดแคลน และในข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ผ่อนผันเรื่องการให้มีเภสัชกรประจำตลอดเวลา มาอย่างต่อเนื่อง

เช่น ช่วงปี 2522-2529 ได้ออก พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้เภสัชกร ต้องอยู่ประจำร้านขายยาตลอดเวลาที่เปิดทำการ และ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527 มีการผ่อนผันให้ร้านยาที่ยังจัดหาเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการไม่ได้ ก็ให้จัดหามาอยู่ปฏิบัติการอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งได้สิ้นสุดการผ่อนผันดังกล่าวตั้งแต่ 1 ต.ค. 2529

อีกด้านหนึ่ง วิชาชีพเภสัชกรรมเองก็ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเภสัชกรในร้านยา โดยจัดให้มีโครงการให้โควตาลูกหลานร้านขายยาที่สนใจ สามารถสมัครเข้าศึกษาเภสัชศาสตร์ได้ เพื่อจะได้กลับไปเป็นเภสัชกรประจำร้านดังกล่าวต่อไป ซึ่งในช่วงปี 2549-2560 มีคณะเภสัชศาสตร์จาก 10 สถาบัน ที่มีการเปิดรับตามโควตานี้

ต่อมาปี 2556 สธ.ได้ออกกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การออกใบอนุญาตและการต่อใบอนุญาตเกี่ยวกับการขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 เพื่อให้คุณภาพงานบริการในร้านยาดีขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ร้านยาที่เปิดทำการก่อนหน้ากฎกระทรวงฉบับนี้ ได้เตรียมตัวปรับตัวนานถึง 8 ปี ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อ 25 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ส่วนร้านที่เปิดใหม่จะต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้นจะเห็นว่าร้านยาที่เปิดมาเดิมได้รับการผ่อนผันมานานกว่า 38 ปี ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดการผ่อนปรน นั่นหมายความว่าร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลา

ย้ำจุดยืน-พักใบอนุญาต 2 ปี

นายกสภาเภสัชกรรมย้ำว่า สำหรับนโยบายและแนวทางของสภาเภสัชกรรม หลังจาก 25 มิ.ย.เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ (พ.ย.) สภาเภสัชกรรมได้มีการย้ำเตือนเรื่องนี้มาตลอด และได้ร่วมกับ 8 เครือข่ายสมาคมองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม และศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย 19 สถาบัน แถลงจุดยืนของวิชาชีพ ต่อกรณีการมีเภสัชกรปฏิบัติการ ประจำร้านขายยาเต็มเวลาที่เปิดให้บริการ การที่เภสัชกรแขวนป้ายปฏิบัติการไว้ แต่ไม่ไปทำหน้าที่ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามจรรยาบรรณวิชาชีพ หลังจาก ต.ค. 2565 เป็นต้นไป หากเภสัชกรยังไม่ปฏิบัติตามที่ กฎหมายกำหนด สภาเภสัชกรรมจะถือว่าผิดจริยธรรมและมีการลงโทษพักใบอนุญาต 2 ปี

ร้านยา เป็นจุดแรกที่คนเจ็บป่วย 70-80% ไปเมื่อเจ็บป่วย ดังนั้น ร้านยา ต้องมีเภสัชกรประจำร้าน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลผู้ที่เข้ามาใช้บริการให้เขาไม่เกิดปัญหาหรือใช้ยาผิด ๆ ต้องซักอาการเบื้องต้น ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องของการใช้ยา ไม่ใช่ว่าขาย ๆ ไปแล้วก็จบ

จากนี้ไปร้านขายยาที่เปิดให้บริการ ต้องมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลาทำการ หรือกรณีที่ร้านมีเภสัชกรประจำร้านอยู่เพียง 3 ชั่วโมง ก็ควรจะเปิดร้านแค่ 3 ชั่วโมง ไม่ใช่เปิดทั้งวัน หรือมีเภสัชกร ประจำกี่ชั่วโมงก็เปิดเท่านั้น หากประชาชนเห็นหรือพบว่า ร้านขายยาร้านไหนไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำร้าน มีแต่ป้ายชื่อแขวนไว้ ก็สามารถแจ้งหรือร้องเรียนมาที่สภาเภสัชกรรมได้

ตัวเลขเภสัชกร…“ไม่ขาด”

เมื่อถามว่า เนื่องจากขณะนี้มีทั้งร้านขายยาที่พร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมาย และอีกส่วนหนึ่งอยากให้ผ่อนปรนอีกระยะหนึ่ง โดยให้เห็นผลว่า หาเภสัชกรมาอยู่ประจำร้านได้ยาก

นายกสภาเภสัชกรรมชี้แจงว่า ช่วงประมาณปี 2522 ประเทศไทยมีเภสัชกรอยู่ประมาณ 3,000 คน แต่ตอนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมา ตัวเลขรวมมีประมาณ 47,000 คน (ขึ้นทะเบียนกับสภาเภสัชกรรม) และปัจจุบัน มีสถาบันการศึกษาที่ผลิตเภสัชกรมี 19-20 สถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชน จากเดิมที่มีเพียง 2-3 แห่ง ตอนนี้แต่ละปีผลิตเภสัชกรออกมาได้ 1,600-1,800 คน และยังสามารถขยายเพิ่มได้อีกถ้ามีความต้องการ

ตารางเภสัชกร

ฉะนั้นในแง่ของการผลิตบุคลากรไม่ได้มีปัญหาอะไร

จากจำนวนเภสัชกร 47,000 คน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 คน ที่ใบประกอบวิชาชีพไม่สามารถใช้ได้ (เสียชีวิต-ถูกเพิกถอนหรือพักใบอนุญาต) ดังนั้นเหลือเภสัชกรที่มีใบอนุญาตที่สามารถประกอบวิชาชีพได้ 46,000 คน และในจำนวนนี้ แบ่งเป็นเภสัชกรปฏิบัติงานในสาขาต่าง ๆ ประมาณ 24,000 คน (ด้านสถานบริการสาธารณสุข/โรงพยาบาล, ด้านการตลาดยา, โรงงานผลิตยา, สถาบันการศึกษา, ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, อาชีพอื่น ๆ, ไม่ได้ทำงานแล้ว) ดังนั้นจะเหลือเภสัชกรที่มีใบอนุญาตประมาณ 22,000 คน

ขณะที่ตัวเลขร้านขายยาที่ต้องมีเภสัชกรประจำ (ขย.1 หรือร้านขายยาแผนปัจจุบัน และ ขย.4 ร้านยาขายส่ง) ทั้งสิ้นประมาณ 16,600 ร้าน (คน) ดังนั้น ในกรณีที่ทุกร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำ ร้านละ 1 คน ก็จะยังมีเภสัชกรเหลืออีกประมาณ 5,000 คน

ในเชิงตัวเลข เภสัชกรไม่ได้ขาดแคลน ถ้าทุกร้านมีเภสัชกรประจำก็จะยังเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง