ร้านยาเวียดนามบูมสุด ๆ บิ๊กเนมปูพรมเพิ่มสาขา แข่งเดือด

ร้านขายยาเวียดนาม
คอลัมน์ Market Move

ร้านยากำลังเป็นธุรกิจฮอตฮิตในเวียดนาม ตีคู่มากับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ โดยช่วงปี 2563-2564 ที่โควิด-19 ระบาด จำนวนร้านยาในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 รวมถึงรูปแบบร้านยังพัฒนาจากสไตล์ร้านชำไปเป็นร้านยาสมัยใหม่ ในขณะที่ราคากลับถูกลงกว่าที่ขายในร้านแบบดั้งเดิมอีกด้วย

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า วงการธุรกิจร้านยาในเวียดนามกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยนอกจากจำนวนร้านที่ผุดขึ้นทั่วประเทศราวกับดอกเห็ดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนร้านของผู้เล่นใหญ่ 3 แบรนด์ คือ ฟาร์มาซิตี้ (Pharmacity) ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดมีสาขา 1,100 สาขา, ลองเชา (Long Chau) มี 700 สาขา และ อันคัง (An khang) มี 500 สาขา รวมกันแล้วประมาณ 2,400 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 8 เท่า

และแม้จะขยายตัวมาถึง 8 เท่าตัวแล้ว แต่รายใหญ่อย่างฟาร์มาซิตี้ยังมีแผนเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดย “คริส แบลงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟาร์มาซิตี้ กล่าวว่า ในปี 2568 บริษัทจะมีสาขาไม่น้อยกว่า 5 พันสาขาทั่วประเทศ เพื่อให้มีร้านฟาร์มาซิตี้มากพอที่ผู้คนสามารถขับมอเตอร์ไซค์จากบ้านไปยังร้านสาขาที่ใกล้ที่สุดได้ภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น

ไม่เพียงจำนวนสาขาจะเพิ่มขึ้นแต่ผลประกอบการของผู้เล่นยังเติบโตตามด้วยเช่นกัน โดยผลประกอบการรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 ของลองเชาเติบโตถึง 3 เท่า เป็น 171.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.24 พันล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังขยายสาขาเพิ่มไป 278 สาขา ด้านเอฟพีทีซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลองเชา คาดว่า ปีนี้ธุรกิจร้านจะสร้างกำไร 2.12-4.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (77-154 ล้านบาท)

นอกจากผู้เล่นท้องถิ่นแล้ว ยังมีผู้เล่นต่างชาติเข้ามาร่วมการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นวัตสันจากฮ่องกง และมัตสึโมโต้ คิโยชิ จากญี่ปุ่น ที่รุกเข้ามาปักธงสาขาในกรุงโฮจิมินซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

การเร่งขยายสาขาของ 3 เชนใหญ่ ยังทำให้รูปแบบของร้านยาในเวียดนามพัฒนาไปสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้น จากเดิมที่ร้านยาส่วนใหญ่มีลักษณ์คล้ายร้านชำไม่มีการติดป้ายราคายา ไม่มีเภสัชกรประจำ นอกจากนี้การแข่งขันดุเดือดระหว่างทั้ง 3 รายยังทำให้ราคายาที่วางขายในร้านลดต่ำลงจนผู้บริโภคยังตกใจ อีกทั้งยังมีการขายผ่านทางออนไลน์อีกด้วย

แตกต่างจากสภาพร้านยาแบบดั้งเดิมในเวียดนามที่จะคล้ายกับร้านชำ โดยเจ้าของร้านเป็นผู้ขาย และไม่มีการติดป้ายราคาสินค้าแต่อาศัยการแจ้งแบบปากเปล่า ทำให้หลายครั้งลูกค้าต้องซื้อยาในราคาที่สูงกว่าปกติ อีกทั้งบางร้านยังมีสลับบรรจุภัณฑ์สินค้าอีกด้วย สร้างความไม่พอใจกับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย

โดยพนักงานออฟฟิศหญิงวัย 35 ปีรายหนึ่งที่อาศัยในกรุงฮานอย ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวว่า ราคายาแก้ไอในร้านยาแบรนด์ลองเชานั้น ถูกกว่าที่เคยซื้อในร้านแบบดั้งเดิมถึง 50% ในขณะที่ยาและสินค้าอื่น ๆ ยังจัดโปรโมชั่นลดราคาเป็นประจำ รวมถึงยังสามารถสะสมแต้มไว้แลกสิทธิประโยน์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย

“การใช้บริการร้านยาแบบเชน ช่วยให้สามารถซื้อยาได้อย่างสบายใจว่าได้สินค้าที่ถูกต้องและในราคาที่เหมาะสม”


ทั้งนี้การขยายตัวของเชนร้านยาในเวียดนามเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งความตื่นตัวเรื่องสุขภาพที่มาพร้อมกับการระบาดของโรคโควิด-19 และการมีระดับรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นทำให้ไลฟ์สไตล์เริ่มเปลี่ยนไป สะท้อนจากกระแสการหันไปซื้อสินค้าของสดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่แทนการเดินตลาดสด เนื่องจากความสะอาดและความชัดเจนของราคาสินค้า