สธ. แจงสาเหตุไม่ให้ผู้ป่วยซื้อ “ยาต้านโควิด” เอง

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขย้ำ ซื้อ “ยาต้านโควิด” โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้

วันที่ 14 กันยายน 2565 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องให้เภสัชกรจ่ายยาต้านไวรัสโควิด 19 ได้เอง แทนที่จะต้องมีใบสั่งแพทย์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขเข้าใจความเป็นห่วงจากภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับระบบเพื่ออำนวยความสะดวกมาตลอด จากเดิมให้จ่ายยาต้านไวรัสโควิดได้เฉพาะในโรงพยาบาลตามแพทย์สั่ง ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยมารวมที่จุดเดียว

ปัจจุบันได้เพิ่มทางเลือกให้ร้านขายยาช่วยจ่ายยาได้ ทำให้งานบริการมีความคล่องตัวมากขึ้น ประชาชนได้รับการดูแลเร็วขึ้น แต่ยังไม่สามารถให้เภสัชกรจ่ายยาได้เอง หรือประชาชนซื้อยามารับประทานเองโดยไม่มีใบสั่งแพทย์

เนื่องจากยาต้านไวรัสโควิด ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน แต่เป็นยาที่ใช้ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ รวมถึงยังมีข้อกังวลเรื่องเชื้อดื้อยา ซึ่งจะทำให้ระบบการรักษามีปัญหาในระยะยาวได้ การให้แพทย์พิจารณาสั่งยาถือเป็นการกรองอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาบนความปลอดภัยสูงสุด

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป มีการกำหนดให้ต้องจ่ายยาต้านไวรัสโควิด 19 ตามใบสั่งแพทย์เช่นกัน

ส่วนข้อมูลที่ว่าบางประเทศมีระบบจัดการเวชภัณฑ์ก้าวหน้ากว่าไทย เพราะประชาชนซื้อยาต้านไวรัสได้เองอย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องรอแพทย์สั่ง ข้อเท็จจริงคือ ประเทศเหล่านั้นมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ จึงจำเป็นต้องตัดแพทย์ออกจากระบบการพิจารณาจ่ายยา

ดังนั้น ขอให้เชื่อมือแพทย์และระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งมีการพิจารณาดำเนินการต่างๆ อย่างรอบคอบ เกณฑ์การจ่ายยาต้านไวรัสโควิดมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์พิจารณา อย่างละเอียด

อย่างไรก็ตาม ทุกข้อเสนอแนะที่สังคมเสนอมา กระทรวงสาธารณสุขจะรับฟังและนำมาพิจารณาปรับใช้ให้เกิดการพัฒนางานต่อไป