สปสช.กางแผนขยายบริการ มุ่งเพิ่มการเข้าถึง-อำนวยความสะดวก

ตรวจสุขภาพ

สปสช. กางโรดแมป เร่งจัดหาหน่วยบริการ-เพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่ เพิ่มทางเลือก-อำนวยความสะดวก-ลดรายจ่ายทางอ้อม ผู้ใช้บริการ พร้อมขยายสิทธิประโยชน์ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ล่าสุด เอ็มโอยู อีอีซี เสนอไอเดีย-ดึงต่างประเทศลงทุน ทรานส์เฟอร์ เทคโนโลยี-ไบโอเทคโนโลยี สร้างความได้เปรียบเมดิคอลฮับ-สุขภาพ

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานในปี 2566 นี้ว่า สปสช.มีแผนจะเร่งรัดการจัดหาหน่วยบริการ การเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่ รวมถึงนวัตกรรมบริการรูปแบบใหม่ ๆ รองรับการให้บริการอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือก เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ลดเวลารอคอยการเข้ารับบริการ ได้รับการรักษาตามเวลาที่เหมาะสม

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี-ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ขณะเดียวกัน ก็จะลดรายจ่ายทางอ้อมของประชาชน เช่น ค่าเดินทาง และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ด้วย โดยมีบริการสำหรับประชาชนต่าง ๆ อาทิ ตรวจ lab ใกล้บ้าน/ที่ทำงาน การรับบริการพื้นฐาน เวชภัณฑ์ เช่น ถุงยางอนามัย ชุดตรวจด้วยตนเอง หรือกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illness 16 กลุ่มอาการ) นอกโรงพยาบาล เช่น คลินิกพยาบาล กายภาพบำบัด ร้านยาคุณภาพ บริการโทรเวชกรรม, การเลือกรับบริการ CT/MRI นอกหน่วยบริการ (self-refer by prescription) วินิจฉัยเร็ว รักษาเร็ว

รวมถึงการขยายผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ สำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น สถานพยาบาลในโรงงาน ศูนย์บริการคนพิการ, การเปลี่ยน “บ้าน” เป็น “home ward” มีบุคลากรดูแลถึงบ้าน (เริ่มนำร่องบางโรค), การเพิ่ม รพ.เอกชน ร่วมเป็นหน่วยรับส่งต่อเฉพาะทางต่าง ๆ เช่น มะเร็ง ฯลฯ การร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเครือข่ายบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งบริการในชุมชน ซึ่งประชาชนยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการอย่างเหมาะสม/สะดวก

นายแพทย์จเด็จกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สปสช.ยังมีแผนจะมีการขยายสิทธิประโยชน์ นวัตกรรมบริการ และความครอบคลุม ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อป้องกันหรือลดการเจ็บป่วยที่ป้องกันได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เช่นการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง (self-test kit) เช่น HIVST-ขยายการตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซีในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 นอกเหนือจากกลุ่มเสี่ยง, เพิ่มกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยเบาหวาน type1 เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เร่งรัดการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำหรับเด็กนักเรียนหญิง ป.5 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในปี 2562-2564 การเพิ่มความครอบคลุมบริการทันตกรรมป้องกันที่จำเป็น เป็นต้น

ยึดประชาชนเป้าหมายหลัก

เลขาธิการ สปสช.กล่าวด้วยว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกันในสำนักงานว่า ทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งในแง่ปรัชญาของระบบหลักประกันไม่ได้เปลี่ยนไปจาก 20 ปีที่ผ่านมา คือยังมองตัวประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก ในแง่ของการเข้าถึงการบริการการรักษาพยาบาล ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย และต้องมีสุขภาพดีขึ้น แต่ในแง่วิธีการอาจจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง เช่น ในช่วงโควิด-19 สำนักงานเองได้มีการเปลี่ยนระบบภายในหลาย ๆ อย่าง และทิศทางในอนาคตเชื่อว่าบริการจะเข้าสู่โหมดที่เรียกว่า บริการราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น ราคาดีขึ้น

แม้ สปสช.จะอยู่ในภาครัฐ แต่ก็หยุดนิ่งไม่ได้ โดยมีนวัตกรรมต่าง ๆ ทยอยออกมาเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาไปรษณีย์ การใช้ telemedicine หรือที่กำลังเริ่ม เช่น การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่นให้บริการเจาะเลือดถึงบ้านคนไข้ ซึ่งเป็นการจำลองโมเดลมาจาก home isolation หรือการตรวจแล็บโดยให้ผู้ป่วยทำเอง เช่น ตรวจ ATK เอง การรับถุงยางอนามัยเอง เป็นต้น เพื่อเข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ สปสช.พยายามทำ เช่น การเปลี่ยนคนที่เป็นผู้รับบริการ ให้เป็นผู้ให้บริการ เช่น คนพิการที่ติดบ้านติดเตียง จะทำอย่างไรให้เขาลุกขึ้นมาและสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติสามัญ โดย สปสช.ได้ให้การสนับสนุนให้เครือข่ายคนพิการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ โดยเรียกบริการนี้ว่า independent living services คือการดำรงชีวิตอิสระ เป็นการสอนให้คนพิการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถออกไปใช้ชีวิตหรือทำมาหากินได้ตามปกติ เช่น ไปขายลอตเตอรี่ ซึ่งคอร์สหนึ่ง สปสช.สนับสนุนค่าบริการตรงนี้ ประมาณ 12,000 บาท สำหรับการให้เครือข่ายคนพิการเป็นคนดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือกลุ่มคนเปราะบางอื่น ๆ

“แต่ตอนนี้อาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในเรื่องการขยายเครือข่าย ในแง่ที่ว่าเขาจะทำอย่างไรให้กับกลุ่มที่เปราะบาง เช่น กลุ่มผู้ขายบริการ หรือผู้ติดเชื้อ หรือคนที่ไม่อยากจะเข้าไปแสดงตัวในหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชน แต่เขาอาจจะไปตามคลินิกเล็ก ๆ อันนี้ก็เป็นแนวคิดที่ สปสช.ต้องการจะเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มคนที่เปราะบางของกลุ่มที่เปราะบางอีกทีหนึ่ง ซึ่งเขาควรจะรับรู้สิทธิ์และเข้าถึง รวมถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิ์ด้วย”

ดึง ตปท.ลงทุนสุขภาพขั้นสูง

นายแพทย์จเด็ดยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา สปสช.เป็นหน่วยที่ใช้เงินงบประมาณของประเทศจำนวนมาก แต่ก็พยายามจะเปลี่ยนนโยบายว่า แทนที่จะเป็นผู้ใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่อีกด้านหนึ่งก็มีนโยบายที่จะเป็นผู้สร้างรายได้ให้ประเทศด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สปสช.ได้ทำ MOU กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และขณะนี้ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่า อีอีซีจะได้มีการโรดโชว์เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุน จากก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสหารือกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อเสนอแนวความคิดของ สปสช.ว่าต้องการหรืออยากจะเห็นการลงทุนใหม่ ๆ ในอีอีซี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็น new technology หรือ biotechnology ที่ประเทศไทยยังมีการลงทุนน้อย

ยกตัวอย่าง เช่น ชุดตรวจ ATK ชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นละ 30 บาท เราผลิตไม่ได้เลย ผลิตได้แค่กล่องพลาสติก นอกนั้นต้องสั่งจากจีน จากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยต้องจ่ายค่าชุดตรวจ ATK ไปเป็นหมื่นล้าน เงินไหลไปต่างประเทศหมดเลย แต่จริง ๆ ชุดพวกนี้ทำในไทยได้ ในอนาคตถ้าเรามีดีมานด์ รู้ดีมานด์ เช่น มะเร็งเต้า มะเร็งปากมดลูก หรือโรคอื่น ๆ ก็สามารถที่จะเอาไปเป็นจุดขายของประเทศเพื่อดึงให้ต่างประเทศมาลงทุน แทนที่จะเน้นแต่อิมพอร์ตเข้ามาใช้อย่างเดียว ประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าเกาหลี ประเทศที่ผลิต ATK ดีที่สุดในโลกตอนนี้ ถ้าย้อนไปเมื่อ 3 ปีเกาหลีมีปัญหาในการจัดการโควิด ก็เลยมี 2-3 บริษัทเข้ามาลงทุนในการทำพวกนี้ เพราะรู้ว่าจะเป็นจุดสำคัญและเชื่อว่าเราเปลี่ยนตรงนี้ได้ ยิ่งถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุน EEC และการลงทุน โอกาสก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

“เมดิคอลฮับ ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างโรงพยาบาลเอกชน รับคนไข้ต่างประเทศอย่างเดียว หากทำเพียงแค่นั้น สักพักดีมานด์ที่เคยมีก็จะไม่มี เพราะต่างประเทศเขาก็ต้องพัฒนาหรือสร้างโรงพยาบาลขึ้นมา หรือเรื่องของ health ของประเทศว่าไม่ใช่เพียงสร้างโรงพยาบาล แต่จะต้องสร้างความยั่งยืน โดยการมีทรานส์เฟอร์ เทคโนโลยีต่าง ๆ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ยังไม่ค่อยมีการแข่งขัน ส่วนยาอาจจะยาก เพราะจะสู้อินเดีย-จีนยาก” นายแพทย์จเด็ดกล่าว