Health & Wellness อนาคตใหม่เศรษฐกิจไทย

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ

แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะสิ้นสุดลงและความเสียหายด้านสุขภาพจะคลี่คลาย แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานเพียงใด อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์เมื่อพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกที่เปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 กลายเป็นตัวขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้คึกคักโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย จนอาจกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ ในยุคหลังโควิด-19

“นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ” หรือ “หมอแอมป์” ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนา “New Era Economy อนาคตประเทศไทย” ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงที่มาและศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงแนะนำสิ่งที่ไทยควรอัพเกรด-สื่อสารออกไปเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งประเทศอื่น ๆ

ปัจจัยหนุนสุกงอม

นพ.ตนุพลอธิบายว่า ปัจจุบันถือเป็นจังหวะที่ปัจจัยสนับสนุนหนุนกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสุกงอม ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนทุกช่วงอายุทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เคยมองว่าสุขภาพยังเป็นเรื่องไกลตัว ต้องเปลี่ยนความคิดหลังมีคนรุ่นราวคราวเดียวกันจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตเพราะโควิดไม่ต่างกับกลุ่มสูงวัย

กราฟฟิก wellness

ขณะเดียวกัน โควิดยังกระตุ้นความตื่นตัวเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดัน โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง รวมไปถึงโรคเครียด จากการเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เสียชีวิตเมื่อติดโควิด

อีกทั้งแม้แต่ในสถานการณ์ปกติโรคกลุ่มนี้เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยปี 2565 การเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึง 74% ของการเสียชีวิตทั่วโลก ส่วนในไทยสูงถึง 77% หรือเท่ากับ 44 คนต่อชั่วโมง

“โรคโควิด คือตัวเร่งการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ เพราะผู้เสียชีวิตมีทั้งสูงวัย วัยรุ่นวัยทำงานไปจนถึงเด็ก โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว อาทิ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิต ฯลฯ ซึ่งมีข้อมูลออกมาว่า มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป 2-7 เท่าตัว”

ขณะเดียวกัน ปัญหาสังคมสูงวัยหรือการมีประชากรผู้อายุมากกว่า 60 ปีจำนวนมาก สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจของผู้คนและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะคนรุ่นใหม่นอกจากต้องคอยดูแลญาติสูงวัยแล้ว ยังต้องทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยกำลังประสบปัญหานี้และยังไม่มีแนวทางที่จะหลีกเลี่ยงได้

ส่งผลต่อเนื่องไปยังความสนใจเรื่องสุขภาพสมอง สุขภาพจิตใจ และผลกระทบจากความเครียด สะท้อนจากช่วงที่ผ่านมาจะพบผู้มีอาการทางจิตได้บ่อย อาทิ อาการรักสะอาดเกิน วิตกกังวลมากเกิน หรือย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบูม

หมอแอมป์ย้ำว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสรักสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพสมองและสุขภาพจิตใจ เมื่อรวมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะทำให้เศรษฐกิจเกี่ยวกับสุขภาพ (wellness economy) ทั่วโลกเติบโต โดย Global Wellness Institute ประเมินว่า เศรษฐกิจเกี่ยวกับสุขภาพทั่วโลกที่มีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จะเติบโตเฉลี่ยในระดับ 9.9% ต่อปีไปจนถึงปี 2568 ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าจีดีพีโลกที่คาดว่าจะโต 7.3%

โดยมีหลายเซ็กเมนต์ที่มีโอกาสจากกระแสนี้ไม่ว่าจะเป็น การดูแลส่วนบุคคล ความงามและการชะลอวัย ที่ปี 2562 มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยอาหารสุขภาพและการลดน้ำหนักที่มีมูลค่า 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การออกกำลังมูลค่า 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมูลค่า 7.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และอื่น ๆ

แม้จะยังมีมูลค่าไม่มากนัก และมูลค่าลดลงมากในระหว่างการระบาด เพราะผู้คนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ แต่คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2562-2568 ที่วงการเติบโตนี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูงที่สุดด้วยอัตรา 20.9% โดยปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจเกี่ยวกับสุขภาพจะมีมูลค่า 6.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 สะท้อนถึงขยายของอุตสาหกรรมนี้

นอกจากนี้ ในด้านจำนวนทริปยังมีความเป็นไปได้สูงที่เอเชียซึ่งมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเดินทาง 258 ล้านทริปจะสามารถแซงยุโรปซึ่งมีจำนวนทริป 292 ล้านทริป ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกได้ภายใน 1-2 ปีนี้

สำหรับในประเทศไทยปี 2562 เศรษฐกิจเกี่ยวกับสุขภาพมีมูลค่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะลดลงเหลือ 2.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 แต่เชื่อว่าหลังโควิดจะกลับมาเติบโตแน่นอน

ทั้งนี้ ศักยภาพของไทยสามารถสะท้อนได้จากเม็ดเงินที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้าง โดยเมื่อปี 2560 จากนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน จะมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประมาณ 12.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท นับเป็นอันดับ 4 ของเอเชียในด้านมูลค่ารองจากจีน ญี่ปุ่นและอินเดีย เช่นเดียวกับอัตราการเติบโต ซึ่งช่วง 3 ปี หรือปี 2558-2560 ไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มขึ้น 13.1% หรือเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านทริป โตเร็วเป็นอันดับ 10 ของโลก

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจับจ่ายสูง

ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ยังระบุด้วยว่า นอกจากการสร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงถึง 6 หมื่นต่อทริปซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการท่องเที่ยวธรรมดาแล้ว กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังมีศักยภาพในด้านอื่น ๆ อาทิ ความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากกลุ่มคนที่รักสุขภาพมีแนวโน้มที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยอย่าง ไม่สูบบุหรี่ สร้างขยะน้อย ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ น้อย รวมถึงสไตล์การเที่ยวยังสร้างโอกาสสร้างงานให้หลายธุรกิจนอกเหนือจากโรงแรม และโรงพยาบาล เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ร้านอาหารที่เพียงใส่จำนวนแคลอรี เกลือ น้ำตาล ฯลฯ ในเมนูก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้แล้ว

“สไตล์การเที่ยวของกลุ่มเวลเนส คือไปเที่ยวแล้วไม่เที่ยวเยอะ ไม่ได้เที่ยวเอาคุ้ม ไม่ได้ตื่น 7-8 โมง อาจจะตื่น 8-10 โมง เพราะว่า ซิลเวอร์เอจ หรือว่าวัย 50 อัพ ต้องเข้าห้องน้ำก่อน ขอเวลาตอนเช้าให้เรียบร้อย ชีวิตดีละ ออกไปเที่ยว ไปเที่ยวก็ขอไม่เยอะ แต่ขอเสพประวัติจากไกด์ท้องถิ่น”

อย่างไรก็ตาม การจะทำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นจะต้องมี 5 ขาหลักที่ต้องส่งเสริมและสื่อสารให้นักท่องเที่ยวรู้แบบขาดไม่ได้เลย คือ อาหารไทยที่มีภาพลักษณ์ด้านสุขภาพอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบที่มีสารแอนติออกซิแดนต์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาทานยากในประเทศเมืองหนาว ส่วนอีกขาคือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นนวดไทย ลูกประคบ กระชายดำ ขมิ้นชัน ฯลฯ โดยถ้าเรายกระดับการแพทย์แผนไทยขึ้นไปอีกจะกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ต้องเน้นย้ำจุดแข็งของการเป็นฮับการแพทย์อันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และบราซิล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวว่า หากต้องป่วยในไทยจะได้รับการรักษาอย่างดี ซึ่งเมื่อรวมกับสถานที่ท่องเที่ยวทั้งแนวธรรมชาติ อย่าง เกาะต่าง ๆ และวัฒนธรรมอย่าง วัด และการต้อนรับ-บริการแบบไทย ซึ่งไทยแข็งแกร่งอยู่แล้ว จะทำให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง


“เป็น 1 ในความฝันของผมว่าอยากให้ไทยเป็นที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนอยากจะมาแล้วสุขภาพดี ขณะเดียวกันเม็ดเงินที่ลงทุนในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้ไม่หายไปไหน แต่จะกลับมาเป็นความสุขของคนไทยเอง คือ สุขกายเจ็บป่วยน้อย” นพ.ตนุพลย้ำในตอนท้าย