17 รพ.เอกชน ร่วมเป็นสถานพยาบาลรองรับการส่งต่อรักษา “ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง”

17 รพ.เอกชน ร่วมเป็นสถานพยาบาลรองรับการส่งต่อรักษา “ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง” พื้นที่ กทม.
ภาพ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สปสช. จับมือ 17 รพ.เอกชน ร่วมเป็น “สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร” ช่วยเพิ่มจำนวนเตียงในระบบเกือบ 600 เตียง เป็นทางเลือกใหม่กรณีต้องส่งต่อรักษา “ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง”

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 5,487,078 คน ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่ ขณะที่ รพ.รับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มีจำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิและการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 7

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

จึงกำหนดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นได้ (สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบฯ) ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด โดยรวมถึงการรักษาพยาบาลที่มีเหตุสมควร เช่น กรณีภาวะเจ็บป่วยที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการดูแลที่ต้องส่งต่อรักษา เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อขยายสถานพยาบาลนอกระบบบัตรทองรองรับการดูแลผู้ป่วย สปสช.ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมเป็นสถานพยาบาลตามมาตรา 7 นี้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 17 แห่ง ดังนี้ 1.รพ.กล้วยน้ำไท 2.รพ.ปิยะเวท 3.รพ.บางนา 1 4.รพ.เพชรเวช 5.รพ.บางนา 5

6.รพ.มเหสักข์ 7.รพ.แพทย์ปัญญา 8.รพ.มิตรประชา 9.รพ.ศรีสวรรค์ กรุงเทพ 10.รพ.พีเอ็มจี 11.รพ.สุขสวัสดิ์อินเตอร์ 12.รพ.อินทรารัตน์ 13.รพ.นวมินทร์ 14.รพ.วิภารามปากเกร็ด 15.รพ.บางโพ 16.รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ และ 17.รพ.บางไผ่ ทั้งนี้ จากผลความร่วมมือกับ รพ.เอกชนในครั้งนี้ ทำให้ระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. สามารถขยายจำนวนเตียงสำรองเพิ่ม 582 เตียง เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยใน

นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.มีการปรับแนวทางการให้บริการใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมการรับส่งต่อทั้งกรณีบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จากเดิมที่จำกัดเฉพาะรับส่งต่อผู้ป่วยในเท่านั้น พร้อมรับส่งต่อการบริการเฉพาะด้าน อาทิ ผู้ป่วยสวนหัวใจ เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเส้นฟอกไต เป็นต้น

Advertisment
ภาพ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยช่องทางในการประสานส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับบริการที่สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบบัตรทองนี้ หน่วยบริการที่ต้องการประสานส่งต่อผู้ป่วยสามารถ โทร. “สายด่วน สปสช. 1330 กด 9” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ดำเนินการประสานหาเตียงต่อไปได้

ส่วนการเบิกจ่ายค่าบริการนั้น สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรที่รับส่งต่อผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลมาเบิกจ่ายมาที่ สปสช.ได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนและทำให้ระยะเวลาการเบิกจ่ายรวดเร็วมากขึ้น

Advertisment

นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า แนวทางใหม่ของการบริการสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรนี้ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 จากข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับการส่งต่อและรับบริการที่สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรแล้ว จำนวน 2,930 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยใน 526 คน และผู้ป่วยนอก 2,404 คน

นอกจากนี้ ในจำนวนนี้ยังเป็นผู้ป่วยที่รับบริการผ่าตัดเส้นฟอกไตจำนวน 133 คน พบว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ง่ายและสะดวกขึ้น ในส่วนของบริการผู้ป่วยนอกที่เคยต้องรอคิวนาน เช่น บริการผ่าตัดเส้นฟอกไต ก็พบว่าลดการรอคิวได้ และทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับบริการฟอกไตโดยเร็ว