อัพเดตไอเดีย สธ.-สปสช. รับมือปัญหาภาระงาน

หมอ แพทย์ การรักษา
ภาพ : pixabay

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังปัญหาภาระงาน-บุคลากรลาออกปะทุขึ้น สธ. เดินสายเจรจากับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกวงการแพทย์ อาทิ สปสช., สมาคมวิชาชีพ ฯลฯ พร้อมผุดหลากหลายไอเดียแก้ปัญหาออกมา

วันที่ 10 มิถุนายน 2566 กระแสตื่นตัว เรื่องปัญหากำลังคนและภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ บีบให้สธ. ต้องเดินสายเจรจากับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ก.พ., สปสช., สมาคมวิชาชีพ เพื่อหาทางออก จนเกิดเป็นข้อเสนอ-แนวทางแก้ไข หลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางไอเดียถูกวิจารณ์ว่ายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

จ่อเสนอเลิกอินเทิร์น

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรแพทย์อินเทิร์นนั้น ในแต่ละปีจากผู้จบหลักสูตร 6 ปี ประมาณ 3 พันคน สธ.จะได้รับประมาณ 1.8-1.9 พันคน ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ภาระงานตกกับแพทย์อินเทิร์นมาก

ด้วยเหตุนี้จึงกำลังพิจารณาเข้าหารือกับแพทยสภาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องเพิ่มพูนทักษะกลับไปสู่กระบวนการทบทวนในหลักสูตรการเรียนจาก 6+1 เป็นการเรียน 7 ปี เพื่อที่ รพ.ต่าง ๆ จะได้รับบุคลากรที่พร้อมในการปฏิบัติงานเลย รวมถึงจะหารือเรื่องการยกเลิกแพทย์เพิ่มพูนทักษะด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการให้แพทย์เพิ่มพูนทักษะกลับเข้าไปเป็นการเรียนปีที่ 7 นี้ มีกระแสไม่เห็นด้วย เช่น นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท ที่ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก (https://www.facebook.com/somsak.tiamkao) ว่า วิธีนี้จะทำให้ระบบสาธารณสุขขาดแพทย์ทันที 3,000 คน รวมถึงปัญหาภาระงานในรพ.จังหวัด และ รพ.ทั่วไป ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกของแพทย์เพิ่มพูนทักษะจะย้ายไปเกิดกับแพทย์ประจำหรือ Stuff แทน

พิจารณาออกจาก ก.พ. หันบริหารตำแหน่ง-จำนวนคนเอง

การที่ สธ. ไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งงานและระดับรายได้ของบุคลากรเองได้ เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่นำไปสู่ปัญหาการลาออกของบุคลากร

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ. ไม่สามารถบริหารจัดการเกี่ยวตำแหน่งงาน และจำนวนบุคลากรเองได้ ต่างจากครู หรือตำรวจ จึงมีแนวคิดที่จะดึงการบริหารส่วนนี้มาทำเอง โดยจะตั้งคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือการออกจาก ก.พ. ในฐานะทางเลือกหนึ่ง เพื่อแลกกับข้อดีในการบริหารจัดการบุคลากร ทั้งความก้าวหน้าในตำแหน่งงานและค่าตอบแทน

ฟื้นเกลี่ยบุคลากรข้ามเขตสุขภาพ

การเกลี่ยหรือโยกย้ายบุคลากรเพื่อเสริมกำลังส่วนที่ขาดเป็นอีกวิธีที่พยายามนำมาใช้แก้ปัญหา โดยนพ.ณรงค์ อธิบายว่า ปัจจุบันความยืดหยุ่นการบริหารจัดการกำลังคนหายไป เนื่องจากไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะแบบข้ามเขตสุขภาพแล้ว จากนี้จึงต้องหารือเรื่องการเกลี่ยบุคลากรแบบข้ามเขตสุขภาพ

ทั้งนี้จะมีมาตรการเร่งด่วน เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและชัดเจนของการเกลี่ยบุคลากรภายในเขตสุขภาพ ด้วยการให้ นพ.สสจ. เป็นคอมมานเดอร์และ ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เป็นรองคอมมานเดอร์ ในการแก้ปัญหานี้

สปสช.เสนอยกเลิกคีย์ข้อมูลการเบิกจ่าย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้เสนอยกเลิกการคีย์ข้อมูลหรือบันทึกข้อมูลในระบบเพื่อการเบิกจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์มายัง สปสช.

โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และสามารถดำเนินการได้ทันทีหากโรงพยาบาลมีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบกับ สปสช. ด้วยการเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) หรือการเชื่อมต่อระบบของทางโรงพยาบาลโดยตรง

นอกจากนี้ จะสนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อให้เกิดการใช้บริการห้องฉุกเฉินอย่างเหมาะสม โดยจะแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) และ “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควรและกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ

ขณะนี้มีหน่วยบริการ 129 แห่ง ได้ดำเนินการตามแนวทาง “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ มีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รวมถึงพยายามลดความแออัดของโรงพยาบาลลงทั้งด้วยการเสนอให้ สายด่วน สปสช. 1330 ช่วยกระจายผู้ป่วยใน (IPD) ที่รอเตียงเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการหารือและตกลงร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข

เช่นเดียวกับการผลักดันการให้บริการบางประเภทนอกโรงพยาบาล เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาที่ร้านพร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์, เจาะเลือดหรือตรวจแล็บใกล้บ้าน, กายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัด ฯลฯ

“สปสช.ตั้งเป้าว่าบริการเหล่านี้จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลได้ 30% หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี โดยที่ผ่านมา การรับยาที่ร้านพร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ให้บริการผู้ป่วยไปแล้วว่า 1.4 แสนราย คิดเป็นจำนวนรับบริการกว่า 2.02 แสนครั้ง”