ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แกนขับเคลื่อน ESG ไทยเบฟฯ

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

“ไทยเบฟเวอเรจ” 1 ในองค์กรชั้นนำที่มีความโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของไทยและของโลก และได้รับการจัดอันดับเป็นผู้นำความยั่งยืนระดับโลก ต่อเนื่องปีที่ 5 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จากรายงาน The Sustainability Yearbook 2023 ซึ่งจัดทำโดย S&P Global

ล่าสุด “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นเวทีเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “ไทยเบฟ & ESG Way” ในงานสัมมนา ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ดังนี้

ESG ทุกคนต้องร่วมมือทำ

“ฐาปน” เริ่มต้นการบรรยายว่า “…ต้องถือว่าเรื่องของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นเส้นทางที่อาจจะเรียกว่าเป็นการเดินทาง (journey) ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะยังต้องเดินไปเรื่อย ต้องคิดไปเรื่อย ยังต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ”

พร้อมกันนี้ยังได้ยกตัวอย่างถึงปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรป ที่อุณหภูมิในหลาย ๆ ประเทศสูงถึง 47-48 องศาเซลเซียส หรือกรณีฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ที่ทำให้แมตช์การแข่งขันระหว่างเลสเตอร์ซิตี้ และสเปอร์ส (23 ก.ค.) ต้องยกเลิกการแข่งขันลงไป

“สถานการณ์ตอนนี้พวกเราเจอะเจอกับเรื่องราวอะไรบ้างในรอบ ๆ ตัว เราทราบว่าอุณหภูมิสูงขึ้น เคยมีการพูดคุยว่า เรามีเป้าหมายว่าอยากจะลดอุณหภูมิสัก 2 องศา เสร็จแล้วก็บอกว่า ลดไม่ได้ 1.5 องศา ก็ยากแล้ว ตอนนี้ 1 องศา ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วจะมีโอกาสทําได้หรือเปล่า เพราะมันไม่เหมือนกับปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่บ้าน สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นโลกเราอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วจริง ๆ”

หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทุก ๆ ประเทศปล่อยออกมา ตอนนี้แต่ละประเทศมีแผนการอย่างไรบ้าง ซึ่งต่างคนต่างก็ขวนขวายในการที่จะปรับตัว ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นส่วนหนึ่ง

ADVERTISMENT

“ต้องมาถามพวกเราว่า แล้วเรามีวิธีการอย่างไร มีการร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างไร เพื่อช่วยทําให้โลกใบนี้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง”

“ทุก ๆ คนทราบกันดีว่า ESG เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม Environment, สังคมโดยรวม Social และ Governance การกำกับดูแลกิจการ และ ESG เหมือนเป็นกรอบที่ตอนนี้พวกเรากําลังพูดคุยว่า เราต้องทําอะไรบ้าง ทําอย่างไรบ้าง ทํากับใครบ้าง เพื่อผลลัพธ์อย่างไรบ้าง”

ADVERTISMENT

ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

พร้อมกันนี้ คีย์แมน บริษัท ไทยเบฟฯยังให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับ ESG ของ ไทยเบฟฯเอง ตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals & SDGs) 17 ข้อ เมื่อปี 2015 และเริ่มใช้ในปี 2016 และจะไปสิ้นสุดในปี 2030 แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2019 จนตอนนี้กรกฎาคม 2023 เวลากว่า 3 ปีครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว เท่ากับเหลือเวลาอีก 6-7 ปีเท่านั้น ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันเร่งมือ

โดยไทยเบฟฯเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้เมื่อปี 2019 เพื่อร่วมมือในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบใน 4 ด้าน คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต

นอกจากนี้ ไทยเบฟฯยังได้น้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) ของล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดําเนินการด้วย เป็นการดำเนินรอยตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสานรักษาต่อยอดในการพัฒนาความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในเรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้และคุณธรรม ซึ่งวันนี้ชาวต่างชาติก็ recognize หรือว่าได้มีโอกาสรับรู้ในเรื่องของ SEP ไปบ้าง

“ที่ผ่านมาต่างประเทศจะทําเรื่อง ESG ซึ่งก็คือ CSR (Corporate Social Responsibility) แล้วก็พลิกมาเป็น ESG และเวลาเขาพูดถึง CSR เขาพูดว่า เกี่ยวโยงกับธุรกิจที่เขาทํา แต่จริง ๆ มิติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พวกเราได้เรียนรู้ ได้ซึมซับ และปฏิบัติอยู่ มีมิติที่น่าสนใจมากกว่านั้น เพราะว่าเราทําเพื่อสังคม ทําเพื่อส่วนรวม ไม่ได้ทําเพื่อตอบสนองประโยชน์ของธุรกิจเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง”

“ถ้าสังคมอยู่ได้เราก็อยู่ได้ ถ้าเราไม่มีสังคมนี้ให้เรายืนอยู่ร่วมกัน เราก็คงอยู่ได้ลําบากหรือยากขึ้น ถ้ามองถึงว่า SEP พอจะเป็น how to ได้จริงหรือเปล่า ซึ่งผมมองว่า SEP จะอยู่ในแกนในการขับเคลื่อนของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ อย่างไรก็ตาม วันนี้ ESG ไม่น่าจะเป็นแค่หนึ่งในตัวเลือก แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันทํา เพราะว่าเรามีโลกใบเดียว แต่คนไทยของเรารักบ้านเกิด ฉะนั้นเราก็รักโลกของเราใบนี้ คําถามคือ เราจะดูแลมันให้ดีขึ้นไปได้อย่างไร”

ย้ำ “คน” คือ หัวใจสำคัญ

“ฐาปน” ยังย้ำด้วยว่า เร็ว ๆ นี้ (1 ตุลาคม 2023) กลุ่มสหภาพยุโรปจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบเรื่องการค้าการขาย สินค้าที่จะส่งเข้าไปในอียูก็อาจจะได้รับผลกระทบ และเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย ดังนั้นทุกคนจะต้องมีการปรับตัวให้มีความพร้อม สำหรับ ไทยเบฟฯที่จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีความรู้มีความสามารถ หรือมีความถนัดไปในทุก ๆ เรื่อง แต่ก็ได้โอกาสร่วมไม้ร่วมมือและก็ทำงานร่วมกันกับผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง

อย่างกรณี เรื่อง net zero หรือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์บริษัทก็จะต้องเตรียมไว้ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็มีการร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มเครื่องดื่ม ที่เรียกว่า หรือ TSCN (Thailand Supply Chain Network) หรือเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย เพื่อระดมพลังและสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน ในกลุ่มธุรกิจของเครื่องดื่ม ทั้งบรรจุภัณฑ์ทั้งซัพพลายเออร์ต่าง ๆ

หรือตอนนี้ กรณีของเรื่อง รถไฟฟ้า (EV) ที่กำลังได้รับความนิยมและในอนาคตจะมีการพัฒนากันต่อไปจนถึงการมีรถยนต์ไร้คนขับ อันนี้ก็เป็นส่วนสําคัญ ฟังดูเหมือนพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี แต่จริง ๆ กําลังแตะถึงเรื่องคนด้วย อย่างไทยเบฟฯ ถ้าพูดถึงรถยนต์ทั้งหมด ไม่ต้องมีพี่ ๆ ที่ขับรถบรรทุก จะมีผลกระทบต่อตําแหน่งงานมากกว่า 4,000 ตําแหน่งงานนั่นหมายถึงว่าผมต้อง reskill กระบวนการพัฒนาหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือ retain (รักษา) พี่ ๆ เขา เพื่อที่จะไปทํางานในส่วนอื่นหรือว่าจะเตรียมพร้อมอย่างไร

“แนวโน้ม อีวี ที่กำลังมา จริง ๆ คงไม่ได้คิดแค่ว่าจะเตรียมเงินเพื่อซื้อรถอีวี แต่จะเตรียมวิธีการเพื่อจะดูแลคนของเราอย่างไร อันนั้นก็เป็นรูปแบบของการทํางานที่เป็นลักษณะของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน”

ถ้ามอง ESG คือ Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) Governance (การกำกับดูแลกิจการ) สำหรับผม คือ E คือธรรมชาติ S คือ คน G คือ การบริหารจัดการ

และคนคือ หัวใจสำคัญ การจะทำเรื่อง ESG จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่ได้ ถ้าคนทุกคนช่วยกัน โลกใบนี้มีโอกาสกับความสําเร็จที่มากขึ้น

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ‘ไทยเบฟ & ESG Way’ คงได้มีโอกาสเรียนรู้จากในองค์กร เครือข่ายภาคีอีกหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องในชุมชนต่าง ๆ เพราะว่าโลกใบนี้เป็นของเรา อยู่ที่ว่าเราจะทําให้โลกใบนี้ สดใส และน่าอยู่ ให้พวกเราอยู่กันอย่างมีความสุข และก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปถึงเยาวชนรุ่นหลัง ๆ ต่อไปอีกนานแสนนานอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับที่พวกเราครับ” แม่ทัพใหญ่ บริษัท ไทยเบฟฯ ย้ำในตอนท้าย