
คอลัมน์ : Market Move
จีนแผ่นดินใหญ่นับเป็นหนึ่งในตลาดที่การต่อสู้ระหว่างค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ด้วยการเป็นบ้านเกิดของอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ อย่าง Alibaba, JD, Pinduoduo และอื่น ๆ ที่ต่างทุ่มงบฯ แบบเต็มที่เพื่อชิงฐานลูกค้า อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกออฟไลน์ต้องรับศึกหนักเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศอื่น ๆ
ล่าสุดผู้ประกอบการค้าปลีกออฟไลน์รายใหญ่ในจีนเริ่มยกธงขาว ตัดสินใจทยอยปิดสาขาของตนลงไปตาม ๆ กัน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซได้ไหว
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ผู้ค้าปลีกออฟไลน์รายใหญ่ของจีนกำลังพากันปิดสาขาลงอย่างรวดเร็วและสาขาที่ปิดตัวนี้ไม่ใช่สาขาในเมืองรองหรือต่างจังหวัด แต่เป็นสาขาในเมืองหลักอย่างเซี่ยงไฮ้ ตัวอย่างเช่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Gome Retail Holdings ที่ปิดสาขากลางเมืองเซี่ยงไฮไปเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ไม่เพียงสาขากลางเมืองเซี่ยงไฮ้นี้เท่านั้น แต่ Gome ยังปิดสาขาอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2565 มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น หนานจิง, ซีอาน และอื่น ๆ โดยเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีสาขาถึง 3,825 สาขา แต่สิ้นปี 2565 ตัวเลขสาขาลดลงเหลือเพียง 2,843 สาขาเท่านั้น หรือเท่ากับปิดสาขาไปเกือบ 1,000 สาขา
แม้บริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลจำนวนสาขาในปี 2566 นี้ แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม Caixin สื่อด้านธุรกิจของจีนรายงานว่า จำนวนร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Gome Retail Holdings ในขณะนั้นลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 1 ใน 10 ของตัวเลขเมื่่อช่วงกลางปี 2565 เท่านั้น
ขณะที่ “ลี จุนเถา” ผู้บริหารของ Gome Retail Holdings ระบุว่า บริษัทมีแผนจะเก็บร้านค้าที่บริหารเองโดยตรงเอาไว้เพียงประมาณ 300 สาขา
นอกจาก Gome Retail Holdings แล้ว กลุ่ม Suning.Com เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่อีกรายที่กำลังลดร้านสาขาของตนลงเช่นกัน โดยเมื่อช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีร้านค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บริหารเองเหลือเพียง 1,435 สาขา ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2562 หรือก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาดเต็มที่
สาเหตุของการปิดลดสาขาอย่างรวดเร็วนี้ เป็นผลจากรายได้ที่ลดลงของทั้ง 2 บริษัท โดยเมื่อเดือนสิงหาคม Gome ออกคำเตือนเรื่องการลดลงของผลกำไรไปยังผู้ถือหุ้น ระบุว่าในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทจะขาดทุนมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุน 2.9 พันล้านหยวน (ประมาณ 1.41 หมื่นล้านบาท) อีกประมาณ 15-25% หลังรายได้จากการขายลดลงไปถึง 90%
ส่วน Suning คาดว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทจะขาดทุนประมาณ 2 พันล้านหยวน (9.7 พันล้านบาท) ต่อเนื่องจากการขาดทุน 2.7 พันล้านหยวน (1.31 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
แม้แต่เชนซูเปอร์มาร์เก็ตเอง ยังไม่รอดพ้นจากการถูกอีคอมเมิร์ซแย่งฐานลูกค้า โดย Carrefour ค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งสาขาในจีนบริหารโดย Suning นั้น เพิ่งปิดสาขาในเมืองต้าเหลียนไปเมื่อเดือนเมษายน แม้สาขานี้จะอยู่ในทำเลทองที่ห้อมล้อมไปด้วยคอนโดฯ และอาคารสำนักงานก็ตาม
ไม่ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่รายอื่น ๆ ในจีนต่างลดสาขาลงด้วย โดยตั้งแต่ 3 ปีก่อนจนถึงสิ้นปี 2565 สาขาของ Carrefour ในจีนลดลงไปกว่า 37% แล้ว ส่วนสาขาของ Yonghui Superstores ลดลง 27% และสาขาของ Walmart ลดลง 17% โดยสาขาที่ Walmart ปิดไปนั้น มีทั้งสาขาในมณฑลจี้หลิน มณฑลส่านซี และมณฑลเจียงซี
“ลี ซงเฟง” ซีอีโอของ Yonghui กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า บริษัทมีแผนจะทยอยปิดสาขาที่ผลประกอบการต่ำเป้าลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ ในประเทศจีนอีคอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกสูงประมาณ 1 ใน 4 ของตลาดรวม และตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ปี 2565 ที่ผ่านมา ยอดขายของค้าปลีกออนไลน์ทุกรายรวมกันมีสัดส่วนถึง 27% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 9 จุด จากปี 2561
การเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน ที่แม้รัฐบาลจีนจะยกเลิกนโยบายซีโร่โควิดที่เคยใช้คุมการระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังคงจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันอยู่ เนื่องจากตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายและยังได้ราคาที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่เห็นช่องว่างในการขยายสาขาร้านค้าออฟไลน์อยู่ อย่างเช่น Dalian Wanda Group ที่มุ่งขยายสาขาห้างสรรพสินค้า Wanda Plaza ในเมืองขนาดกลางแทนเมืองใหญ่ โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นี้ ขยายสาขาไปแล้ว 12 สาขา ทำให้ Dalian Wanda Group มีสาขา Wanda Plaza ทั้งหมด 484 สาขา อยู่ในตำแหน่งผู้นำตลาด