“ค้าปลีกภูธร” ผนึกกำลัง เปลี่ยนแนวคิด ก้าวข้ามวิกฤต

7เซียน

เรียกได้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง ทั้งห้างโมเดิร์นเทรดและห้างภูธรต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ปัจจัยสำคัญที่ไม่แพ้กันคือ “คุณภาพ” ตลอดจน “การปรับตัว” ไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

ซึ่งในงานสัมมนาสมาคมผู้ค้าปลีกไทยประจำปี (TRA Conference 2023) ครั้งที่ 2/2566 โดยเวทีเสวนา 7 เซียนค้าปลีกภูธร-Provincial Modernized Chain Store ได้เผยทรรศนะของธุรกิจซึ่งจะข้ามผ่าน post modern trade สงครามค้าปลีกค้าส่งรูปแบบใหม่ของโลกได้อย่างน่าสนใจ

“มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ผู้ประกอบการท้องถิ่นต่างต่อสู้กับห้างโมเดิร์นเทรดมาตลอด แต่ก็เหมือนแข่งขันและเติบโตมาด้วยกัน สะท้อนมุมมองที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นพยายามหาผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับร้านโมเดิร์นเทรดมาขายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้แข่งขันได้ เพราะแม้สินค้าจะแพงขึ้นแต่ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพ

ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ท้องถิ่นต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งหากเกิดการคอลแลบส์ (collabs) หรือการร่วมมือกัน ก็จะเป็นอีกแนวทางที่ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่รอด

“การค้าทุกวันนี้โหด เราต้องรู้ตัวว่ามีอะไรดี ต้องคิดให้เยอะ เพราะการแข่งขันเราห้ามใครไม่ได้ จะเห็นได้ว่าปีที่ผ่านมาตลาดไม่ดีเลยด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง และตอนนี้ที่เราทำโครงการ Local Low Cost คอลแลบส์กันก็เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ดีที่สุด อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ผมเชื่อว่าหากเราพยายามทำตลาดให้ไปไกลกว่านี้ ก็จะพัฒนาตลาด พัฒนาคอนซูเมอร์ได้ดีกว่านี้ได้”

Advertisment

“สุดชาย สิงห์มโน” ฝ่ายพัฒนาธุรกิจแสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง กล่าวว่า เรื่องสตาร์ตอัพและดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (digital transformation) หรือกระบวนการที่นำเอาดิจิทัลและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ต้องลองอะไรใหม่ ๆ โดยยังคงความสำเร็จของธุรกิจที่ผ่านมา 20-30 ปีไว้ ควบคู่ไปกับการทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อรักษาความสำเร็จต่อไป

ยกตัวอย่าง แสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในช่วงโควิด-19 ที่มีคำสั่งต้องปิดให้บริการ จึงลองซื้อแอปพลิเคชั่นสำเร็จรูปมาเพื่อเปิดขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งพบปัญหาการสั่งสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ก็ยังเดินหน้าแก้ปัญหาขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นต่อ จากเคยมีรายได้จากขายหน้าร้านเป็นจำนวนมากก็เริ่มขายได้น้อยลง แต่การขายผ่านแอปพลิเคชั่นยอดเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันลูกค้าอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ของร้านกว่า 13,000 คนแล้ว ซึ่งสามารถวิเคราะห์เก็บข้อมูลลูกค้าได้อย่างทันท่วงทีว่าดีหรือไม่อย่างไร

“วชิรวิชญ์ ศิริไชย” นายกสมาคมการค้าส่ง-ค้าปลีกไทย และผู้บริหารบริษัทศรีสมัยค้าส่ง จังหวัดยะลา กล่าวว่า สำหรับศรีสมัยค้าส่ง เปิดให้บริการในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาสมานานกว่า 40 ปีแล้ว และมองว่าหากผู้ประกอบการทำการค้าเหมือนเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะไม่สามารถอยู่ได้ ต้องรู้จักเรียนรู้และแข่งขันกับคนอื่นให้ได้

Advertisment

และต้องตกผลึก 2 เรื่องคือ 1.การเข้าใจตนเอง บริหารจัดการสั่งซื้อสินค้าให้ดี ลดค่าใช้จ่ายให้ได้ จึงสามารถเกิดการแข่งขันได้ และต้องพูดคุยกันกับร้านค้าพันธมิตรและเครือข่ายด้วย 2.การเข้าใจลูกค้า ต้องรู้จักวิเคราะห์ฐานข้อมูล นำดาต้าออกมาใช้ เพื่อพัฒนาธุรกิจในอนาคต ยกตัวอย่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เป็นพื้นที่ตลาดพิเศษและกลุ่มลูกค้ามีลักษณะการบริโภคไม่เหมือนตลาดในส่วนกลาง ฉะนั้น ต้องทำการตลาดที่เป็นโลคอลเพื่อให้โดนใจผู้บริโภค

“ประกอบ ไชยสงคราม” ผู้บริหารบริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เชื่อว่าการทำธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง โดยคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงอายุของแบรนด์และบ่งบอกความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์และผู้ประกอบการ แต่การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องบอกให้ได้ว่าผู้ประกอบการภูธรนั้นมีดีอย่างไร

“จุดที่ยากที่สุดคือ เจ้าของธุรกิจต้องมองข้ามความกลัวและกล้าที่จะลงมือทำ ต้องคิดทบทวนว่าที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ใช่หรือสิ่งที่ชอบ หากก้าวผ่านความกลัวได้แล้วลงมือทำ ซัพพลายเออร์จะเข้ามาช่วยเหลืออย่างแน่นอน และทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเข้าไปขายสินค้าบนออนไลน์ได้ ซึ่งการอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์คือโจทย์ที่สำคัญ อย่างยงสงวนเองก็ต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบออนไลน์เช่นกัน”

“ธนะพงศ์ พุฒิพิริยะ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนะพิริยะ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยพัฒนาธุรกิจและแก้ไขปัญหาทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ต้องดูว่าพนักงานในองค์กรตามเทคโนโลยีทันหรือยัง การขายสินค้าบนแพลตฟอร์มก็เช่นกัน

ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจต้องเป็นคนริเริ่ม และไม่คิดว่าตัวเองเก่งอยู่คนเดียว แต่ต้องเตรียมคนที่มีความรู้ คนที่รู้จักเทคโนโลยีมาทำงาน เพื่อจะนำไปปรับใช้ได้กับส่วนต่าง ๆ ของธุรกิจ และวางขอบข่ายว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้

“การวางสโคปงานในส่วนต่าง ๆ เจ้าของกิจการต้องเข้าไปร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะจะต้องมีการเก็บข้อมูลดาต้าเพื่อนำมาปรับปรุงให้เข้ากับธุรกิจของตนเอง และต้องบาลานซ์งานให้ดี อย่ายึดติดกับสิ่งเดิม ซึ่งบางครั้งสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ไม่สามารถแทนออฟไลน์ได้ แต่การทำออฟไลน์อย่างเดียวก็ต้องเปลี่ยนให้ออนไลน์เป็นส่วนเสริม เพราะต่อไปในอนาคตออนไลน์อาจจะเป็นตัวหลัก ต้องดูแนวโน้มในอนาคต และใช้หลายวิธีการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะสุดท้ายธุรกิจค้าปลีก-ส่งยังไงก็ไม่ตายแต่ต้องปรับตัว”

“จาตุรนต์ เหลืองสว่าง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหแสงชัย มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า 10 ปีก่อน เข้ามาบริหารธุรกิจช่วยคุณพ่อ คุณแม่ จากที่เคยเปิดเป็นร้านโชห่วยใช้กระดาษก๊อปขายของก็กลัวธุรกิจจะถึงทางตัน จึงเริ่มมีความคิดอยากให้ร้านค้านำสมัยมากขึ้น โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ปรับระบบหลังบ้าน เพื่อซัพพอร์ตให้ฝ่ายจัดซื้อเห็นข้อมูลมากที่สุดแล้วเลือกสินค้ามาขายต่อ

“การที่ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าที่ร้านเรา เชื่อว่าเป็นการมีเอกลักษณ์ และไว้วางใจ ก่อนหน้านี้เราผ่านอุปสรรคมาได้ และเชื่อว่าในยุคดิจิทัลสมัยใหม่ห้างภูธรก็ยังจะคงอยู่ด้วยกันได้”

“กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล” กรรมการผู้จัดการเอแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น หาดใหญ่ กล่าวว่า ทุกธุรกิจต้องมีการปรับตัว มองธุรกิจตนเองให้ออกว่าอะไรคือจุดเด่น จุดต่าง จุดด้อย โดยสงวนจุดต่าง แสวงหาจุดร่วม

เชื่อว่าหากทำได้ 10 ปีข้างหน้าธุรกิจห้างภูธรก็ยังคงอยู่ แม้ในอนาคตจะมีห้างโมเดิร์นเทรดเข้าไปกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เราก็ต้องมีเหมือนกันกับเขา เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เชื่อว่ามีทั้งจุดอยู่รอด คือ ความกลัว ความเชื่อ ความสะดวกสบาย ความโลภ