ไอคอนสยาม ทุ่ม 500 ล้าน จัดใหญ่ฉลองครบรอบ 5 ปี ปูพรมกว่า 20 อีเวนต์ต่อเนื่อง 5 เดือน ลากยาวถึง ก.พ. 67 ย้ำโพซิชั่นเวิลด์คลาสเดสติเนชั่น พร้อมแย้มแผนก้าวสู่ปีที่ 6 ต่อยอดกระแส King The Land ดึงซอฟต์พาวเวอร์เสริมแม็กเนต เป็นเดสติเนชั่นภาพยนตร์-ซีรีส์เจาะลูกค้าใหม่ เดินหน้าผนึกรัฐ-เอกชนปั้นชุมชนรอบด้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตั้งเป้าปี’67 นักท่องเที่ยวย่านเจ้าพระยาเพิ่ม 50% จากปี’62
นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวถึงแคมเปญฉลองครบรอบ 5 ปีของไอคอนสยามว่า บริษัทเตรียมทุ่มงบฯ 500 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน ๆ เท่าตัว พร้อมจับมือพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ
อาทิ ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์รีสอร์ท, บัตรเครดิตกสิกรไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ จัด World Class Event ภายใต้ธีม The 5th Anniversary of The ICON Unrivaled เพื่อร่วมกันตอกย้ำให้ทุกคนรู้ว่า ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
ระดม 20 อีเวนต์ตลอด 5 เดือน
โดยจะฉลองใหญ่ต่อเนื่องนาน 5 เดือนตั้งแต่ตุลาคม 2566 ไปจนถึงกุมภาพันธ์ 2567 ทั้งด้านท่องเที่ยว บันเทิง ช็อปปิ้ง และอื่น ๆ รวมแล้วมากกว่า 20 อีเวนต์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มที่ในช่วงการท่องเที่ยวฟื้นตัว
ทั้งนี้ มีอีเวนต์ไฮไลต์ อาทิ “Celebrate Like Never Before”-Invitation to World of Frozen ซึ่งบริษัทร่วมกับฮ่องกงดิสนีย์แลนด์รีสอร์ท เปิดตัว Olaf “โอลาฟ” ตัวละครจากแอนิเมชั่น Frozen ขนาด 10 เมตร ที่ออกแบบเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับประเทศไทย ด้วยการเป็นท่านั่งเอนพิงหมอนสามเหลี่ยม
โดยจะตั้งอยู่ที่ริเวอร์ พาร์ค ชั้น G ไอคอนสยาม ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2566 พร้อมสิทธิเที่ยว World of Frozen โซนใหม่ของฮ่องกงดิสนีย์แลนด์รีสอร์ทอีกด้วย
และยังมีแคมเปญใหญ่เอาใจนักช็อป โดยบริษัทร่วมกับบัตรเครดิตกสิกรไทยจัด “ICONSIAM-The 5th Anniversary of The ICON Unrivaled” ตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2566-14 มกราคม 2567 มีไฮไลต์เป็นรางวัลรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Model 3, เครื่องเพชรจากแบรนด์ Jubilee, ไมล์ในการเดินทางจากสายการบิน Qantas พร้อมของรางวัลอื่น ๆ มากมาย มูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท
ต่อด้วยช่วงสิ้นปีและต้นปี 2567 จะมีงาน Amazing Thailand Countdown 2024 การแสดงพลุรักษ์สิ่งแวดล้อมความยาว 1,400 เมตร พร้อมคอนเสิร์ตจากทัพศิลปินดังของไทย ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม เต็มอิ่ม 3 วัน ตั้งแต่ 29-31 ธันวาคม 2566
ปิดท้ายด้วยช่วงตรุษจีน ปี 2567 ซึ่งจะจัดงาน ICONSIAM Eternal Prosperity Chinese New Year 2024 ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีมังกรทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการแสดงโชว์หลายรายการ ในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ริเวอร์ พาร์ค ชั้น G และเจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M
ดึงซอฟต์พาวเวอร์เสริมแกร่ง
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม ยังกล่าวถึงทิศทางธุรกิจสำหรับปีที่ 6 และในอนาคตว่า จะมุ่งต่อยอดทั้งด้านการเป็น Global Destination ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั้งไทยและทั่วโลกมาใช้บริการ ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรมาสร้างจุดเด่นที่ตอบโจทย์ แต่ต้องไม่ซ้ำกับคู่แข่ง ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น พร้อม ๆ กันทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน
โดยด้าน Global Destination นั้นจะนำซอฟต์พาวเวอร์เข้ามายกระดับการสร้างการรับรู้และสร้างความแตกต่างโดยเน้นการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร เรียลิตี้โชว์ ฯลฯ หลังการปรากฏเป็นฉากหลังในซีรีส์เกาหลีเรื่อง “King The Land” ช่วยดึงนักท่องเที่ยวจากเกาหลีเข้ามาจำนวนมาก
เช่นเดียวกับกองถ่ายของภาพยนตร์ ละคร และเรียลิตี้โชว์จากทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้บริษัทตัดสินใจเดินหน้าส่งเสริมการเป็นสถานที่ถ่ายทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะสามารถสร้างการรับรู้ไปยังชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากฐานลูกค้าของคู่แข่งได้
พร้อมกันนี้จะเพิ่มแม็กเนตใหม่ ๆ ภายในไอคอนสยาม อาทิ นำแบรนด์แฟชั่น อาหารและสินค้าหรูรายใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นเจนซีและมิลเลนเนียลเข้ามาเพิ่ม หลังปี 2566 นี้มีแบรนด์ใหม่เข้ามาเปิดร้านกว่า 30 แบรนด์แล้ว เสริมแกร่งโซน ICONVILLE ที่สร้างขึ้นสำหรับรองรับกลุ่มครอบครัวชาวไทย รวมถึงศึกษาโอกาสกลับมาเปิดพิพิธภัณฑ์ที่บริเวณชั้น 8 อีกครั้ง รวมถึงการรีโนเวตย่อย ๆ ในหลายพื้นที่ เป็นต้น
ต่อเนื่องจากการเปิดโซนใหม่ของไอซีเอส ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ทั้ง SIRIRAJ H SOLUTIONS ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิตจากความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ในเดือนพฤศจิกายน และการเปิดโรงแรมฮิลตัน การ์เด้น อินน์ ในเดือนธันวาคม
“กลุ่มครอบครัวชาวไทยนับเป็นฐานลูกค้าใหม่และมีสำคัญในอนาคตของไอคอนสยาม หลังช่วงโควิด-19 ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เริ่มหันมาจับจ่ายในไอคอนสยาม และกลายเป็นกลุ่มสำคัญที่สร้างรายได้ให้บริษัทจนถึงปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลี จะกลับมาแล้วก็ตาม”
ปั้นชุมชนรอบข้างสู่แหล่งท่องเที่ยว
พร้อมกันนี้ นายสุพจน์ยังย้ำว่า การพัฒนาชุมชนรอบไอคอนสยามและริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของบริษัท ตามกลยุทธ์การร่วมกันรังสรรค์ (co-creation) และการสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (creating shared value) ทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการต่อยอดกระจายนักท่องเที่ยวจากไอคอนสยามไปยังชุมชนโดยรอบ
โดยตั้งแต่ปี 2567 จะเดินหน้าพัฒนาย่านต่าง ๆ รอบไอคอนสยามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเต็มตัว ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน อาทิ อาจารย์แดง หรือ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center-UddC) ดึงจุดเด่นของแต่ละย่านออกมา และทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงย่านนั้น ๆ ได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ประสานกับกรุงเทพมหานครสร้างทางเดินเข้าไปยังย่านต่าง ๆ เช่น ย่านกะดีจีน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่าย
ทั้งนี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนรอบข้างและริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น โครงการอสังหาฯเกิดใหม่กว่า 50 โครงการ จำนวนนักท่องเที่ยวในย่านริมแม่น้ำเพิ่มขึ้น 50% จากปี’62 ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติกว่า 5 พันล้านบาท การสร้างงานกว่า 3 แสนอัตรา และกระจายรายได้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ของโซนสุขสยามไปยังเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศที่มาเปิดสาขาในพื้นที่ เพิ่มมูลค่าที่ดินโดยรอบจาก 1.5 แสนบาท/ตร.ว. ในปี 2562 เป็น 6.4 แสนบาท/ตร.ว. ในปี 2566 รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและพัฒาคุณภาพชีวิต 2.3 พันครัวเรือนใน 13 ชุมชนโดยรอบ
“เราภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่การเติบโตทางธุรกิจของไอคอนสยาม ได้ส่งต่อความสำเร็จและความรุ่งเรืองไปยังพันธมิตรโดยรอบจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่อยู่ในเมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 12,700 ราย ได้เติบโตไปกับเรา และกลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากใน social media ทั่วโลก รวมถึงแบรนด์ไทยอีก 840 ราย บนพื้นที่ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4-5 ที่สามารถนำเสนอผลงานของช่างฝีมือไทย เพื่ออวดสายตานักเดินทางจากทั่วโลกเช่นกัน”
สำหรับในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเมื่อรวมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนและธุรกิจโดยรอบจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านแก่ชุมชนที่รายล้อมและบรรดาธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดอีกด้วย