ชฎาทิพ จูตระกูล นับถอยหลัง “ไอคอนสยาม” ไม่มีวันกลับไปทำศูนย์แบบเดิมอีกแล้ว

ชฎาทิพ จูตระกูล

ไอคอนสยาม กับมูลค่าการลงทุนมหาศาลถึง 54,000 ล้าน บนที่ดิน 55 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ภายในอาคารกว่า 75,000 ตารางเมตร กับอาณาจักรศูนย์การค้า 2 อาคาร คอนโดมิเนียมเสียดฟ้าอีก 2 อาคาร

ลำพังเพียงพนักงานจากผู้ประกอบการ 5 พันราย ก็ปาไป 20,000 คน ไม่นับรวมถึงผู้ใช้บริการที่ตั้งเป้าแต่ละวันไว้ 130,000 คน

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ คุณแป๋ม-ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ถึงโครงการยักษ์ที่ชื่อ “ไอคอนสยาม” ซึ่งหมายมั่นจะเปิดบริการให้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2561 จะถึงนี้

Q : ในช่วง 5-6 เดือนที่เหลืออยู่ ต้องทำอะไรอีก

ต้องทำให้เปิดให้ได้ (หัวเราะ)

ในไอคอนสยามเป็นองค์ประกอบเยอะมาก ยากมาก ตอนนี้พีกมาก ร้านค้าทุกร้านไม่เคยมีใครทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาก่อน คือเราไป challenge ว่าทุกคนต้องมี story ตั้งแต่ลักเซอรี่แบรนด์จนถึงร้านค้าเล็ก ๆ ส่วนไอคอนสยามสิ่งที่ challenge คือ นำเรื่อง story ต่าง ๆ มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน นำเสนอยังไงแต่ละจุดถึงจะลงตัว มีความเกี่ยวโยง ไม่โดดไปมา

สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่เปิดประตูแล้วขายของ เวลานี้ของกลายเป็นสุดท้ายและง่าย ความยากอยู่ที่การนำเสนอ และทุกคนร้องกรี๊ดกัน เพราะถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ

Q : ไอคอนสยามเป็นการรวมของจริงทุกด้าน มารวมกันอยู่ตรงนี้

รวมของจริง ไม่มีเสแสร้ง ทั้งหมดในไอคอนมาจากรากเหง้าจริง ๆ ในบางโซนเราใช้แนวคิด cocreation เป็นความร่วมมือระหว่างไอคอนสยาม ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการกับ co-creator ผู้ประกอบการรายย่อย ๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ แปลงสิ่งนี้ให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เราจะมีโซนพวกนี้อยู่เยอะมาก ซึ่งแป๋มเชื่อว่าเป็นวิถีการพัฒนาแนวทางแบบใหม่ของค้าปลีก

วันนี้ถ้าให้ไปสร้างศูนย์การค้าอีก เราก็จะไม่ทำแล้ว เพราะเปิดออกมาจะมีร้านค้าซ้ำ ๆ กัน ทุกศูนย์การค้าก็เหมือน ๆ กันหมด

ถามว่าในไอคอนสยามมีพื้นที่แบบนั้นบ้างมั้ย ตอบเลยว่ามี แต่สัดส่วนไม่ถึงครึ่ง อีกครึ่งมาพร้อมกับสิ่งที่คิดกันขึ้นใหม่ จะสำเร็จไหม เราไม่รู้หรอก แต่เชื่อมั่นว่าธุรกิจสมัยนี้ทำคนเดียวไม่ได้

Q : pain point ของไอคอนสยามคือการเดินทาง

วันที่เปิดตัวไอคอนสยาม เรานำเสนอคุณค่าของแม่น้ำ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการสัญจรไปมา สองคือเรื่องของเศรษฐกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด และสามคือการพัฒนาชุมชนรอบ ๆ การมาของไอคอนสยามเราเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่เข้ามาจุดประกายให้เกิดสิ่งพวกนี้ขึ้น

เป้าหมายของเราคือ 130,000 คนต่อวันที่ต้องทำให้ได้ แบ่งเป็นรถยนต์ 33% เดินกันมา 4% ทางน้ำ 25% ชัตเติลเซอร์วิส 30% และรถโค้ชท่องเที่ยวอีก 8%

เราเตรียมไว้หมดทั้ง 3 ช่องทาง “รถ-ราง-เรือ”

ถ้าขับรถมา เรามีที่จอด 5,000 คัน เราดีลที่จอดรถกับโรงแรมและสถานที่ใกล้เคียง แชงกรี-ลา โอเรียนเต็ล เชอราตัน ตึกแคทเทเลคอม ซึ่งเราไปเช่าที่จอดรถไว้ หรือนั่งบีทีเอสมาลงสถานีสาทร จะมีเรือมาส่งฟรีทุก ๆ 15 นาที

นอกจากนี้ยังมีชัตเติลบัสจากสถานีธนบุรี วงเวียนใหญ่ ศึกษานารี วิ่งเป็นลูปทั้งวัน ส่วนรถไฟสายสีทองในปีหน้าจะให้บริการได้อย่างแน่นอน

เราทำงานร่วมกับ 73 ท่าเรือ เป็นเรือทุกประเภท มีเรือของเราอีก 25 ลำไว้บริการ รวมถึงดินเนอร์ครูส และบริษัททัวร์ต่าง ๆ มีการทำแพ็กเกจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพระบรมมหาราชวัง สถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำต่าง ๆ และมาปิดท้ายที่ไอคอนสยาม เพื่อขึ้นรถโค้ชมารับกลับที่พัก ยังมี app ที่ทำเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

มีคนถามนั่งเรือมาจะซื้อของยังไง ไม่เป็นไร เรามีบริการ hand free shopping ส่งฟรีถึงบ้าน โรงแรม และต่างประเทศ

ตลอด 3 ปี เราทำงานหนักมากกับทุกฝ่าย เชื่อว่าทุกคนได้ประโยชน์ จะแวะหรือไม่แวะไอคอนสยาม ก็ไม่เป็นไร

Q : ดูแล้วตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ไม่น่ามีปัญหา

40% ไม่น่ามีปัญหา เป็นตัวเลขที่เราตั้งค่อนข้างที่จะคอนเซอร์เวทีฟแล้ว ซึ่งเรามีสิ่งที่คนอื่นไม่มีเยอะมาก บวกกับรูปแบบการทำตลาดซึ่งเราทำงานแบบโกลบอลอย่างรุนแรง ไม่ได้ทำแค่โลคอล ททท.ก็พูดว่าต้องการ new story ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเมืองไทย บวกกับเป็นปีของการท่องเที่ยว และประจวบเหมาะกับเราเปิดปีนี้ เราอยากให้คนไทยเข้ามาดูกัน เข้ามาดูของดีเมืองไทยที่จะมารวมกันอยู่ที่นี่

Q : จะหรู จนคนไม่กล้าเข้ามั้ย

ไอคอนสยามทุกคนจับต้องได้ สัมผัสได้ เข้าถึง ไม่หรู ทาคาชิมาย่าก็มาแบบน่ารักมาก หรืออย่างพื้นที่ “สุขสยาม” เราเอาพื้นที่ชั้นล่างสุด ซึ่งขายพื้นที่ได้แพงที่สุดมาเป็นศูนย์รวมความเป็นไทยจากทุก ๆ ภาค

Q : เปิดพารากอนวันแรกรู้เลยว่าติดแน่นอน เพราะทำเลที่ดีมาก

ไม่จริง ก็ต้องใช้เวลา กว่าจะมาถึงวันนี้เราผ่านเรื่องราวมาเยอะ ผ่านมาทุกสถานการณ์

ตอนที่เปิดสยามพารากอนก็ยุ่งนะ แต่ไม่ยุ่งเท่าครั้งนี้ เพราะที่นี่รายละเอียดเยอะมาก ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำอะไรแบบนี้

Q : คิดว่าเวลานี้คนกรุงเทพฯรู้จักไอคอนสยามหรือยัง

ยัง !!!

แต่เรายังไม่ได้พูดอะไรมากเกี่ยวกับตัวเรา ที่จะเริ่มพูดคือพื้นที่ “สุขสยาม” โดยที่ก่อนเปิดประมาณ 1 เดือน เราจะมีวิธีการบอกเล่าล่วงหน้าในแบบของเรา และจะทำให้คนรู้จักทุกซอกมุม แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย อันนี้สารภาพ เพราะเราเลือกทำในหนทางที่ยากมากมาตั้งแต่แรก แต่คิดว่าดีกว่าทำในสิ่งเดิม ๆ และคิดว่าเรามาถูกทาง

สมัยนี้ถ้าแป๋มจะเริ่มต้นสร้างห้างขึ้นมาอีก 1 ห้าง ก็คงดับตั้งแต่ก่อนเปิด แต่กับไอคอนสยาม สิ่งที่นำเสนอออกไป การนำเสนอความเป็นไทย จะทำให้เราเป็นที่รักไปทั่วโลก

Q : ทุกสิ่งที่มารวมกัน ไอคอนสยามจะมี story telling เป็นของตัวเอง และตัวนี้จะช่วยทำให้คนรู้จักดียิ่งขึ้น

วิถีทางการตลาดใหม่ที่เราใช้คือ emotional engagement เพื่อสร้างความประทับใจ ซึ่งในไอคอนสยามมีหลายมิติมาก จะเป็นความประทับใจแบบไทย ๆ ก๋วยเตี๋ยวของเรา ไม่ใช่มาถ่ายรูปขึ้นโซเชียลมีเดีย พอกินอิ่มก็จบกันไป แต่มีคุณค่า มีจิตวิญญาณอื่น ๆ ที่ใส่ลงไปในนั้น

ความเป็นเราในวันนี้มันมีหลายรูปแบบ อยู่ที่ว่าเราจะนำเสนอด้วยแบบไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ง่าย และเมื่อพูดถึงคำว่าเราขาย “คุณค่า” ก็เป็นเรื่องที่จับต้องลำบาก เพราะฉะนั้นต้องเปิดประตูและเข้าไปดู ถึงจะรู้ว่าไอคอนสยามเป็นอย่างไร

ถึงบอกว่าไม่ง่าย ยอมรับว่ารู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่เชื่อว่าเรามาถูกทาง เมื่อ 4 ปีก่อนบอกว่าขายความเป็นไทย คนก็มองหน้า แต่มาปีนี้โอ้โฮ นุ่งชุดไทยกันทั้งเมือง

Q : คุณแป๋มเคยบอกว่าในวันที่ประตู (ศูนย์การค้า) เปิด เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ต้องใช้เวลานานขนาดไหน ถึงจะเข้าที่เข้าทาง

ไอคอนสยามมีคนมาช่วยเยอะ ทุกคนมาฝากฝีมือ ฝากชื่อไว้กับเรา การ cocreation ไม่มีวันจบ เพราะเป็นความคิด และประสบการณ์ของคนหลายคนในการมารวมตัว และมาร่วมกัน

เพื่อเอาสิ่งที่ดีมาวางบนแพลตฟอร์มใหม่ เพราะต้องนำความคิดของคน นำประสบการณ์ ต้องถูกเอามาเขย่า มาปรับ และรันต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

เปิดศูนย์การค้าง่ายกว่านี้เยอะ !!!

ซึ่งหลังจากวันเปิดให้บริการ เวทีนี้จะไม่ใช่ของสยามพิวรรธน์อีกต่อไปแล้ว เพราะเราจะถอยมาอยู่ข้างหลัง ดังนั้นไอคอนสยามจะเป็นของทุกคนที่มาร่วมกับเรา

Q : เสร็จจากไอคอนสยาม คิดจะทำอะไรแบบนี้อีกมั้ย

คงไม่น่าจะมีแล้วมั้ง (หัวเราะ) คงทำอะไรที่มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว