ตลาดอาหารในประเทศ 3.2 ล้านล้านเดือด สมาคมภัตตาคารไทยผวาทุนจีนแห่ตั้ง “ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม” ส.อ.ท.จี้รัฐเร่งตรวจสอบโรงงานผลิต ที่มาสินค้า “เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป” นำเข้า บีบใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าราคาถูก คุมเข้มคุณภาพ ปกป้องสุขภาพคนไทย
การรุกขยายสาขาอย่างรวดเร็วของ “ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม” จากจีน ไม่ว่าจะเป็น MIXUE (มี่เสวี่ย), Zhengxin Chicken Steak (เจิ้งซิน ชิคเก้น สเต็ก), WEDRINK (วี ดริ้งค์), COTTI COFFEE (คอตติ คอฟฟี่) ฯลฯ รวมไปถึงร้านหมาล่าสายพานในย่านต่าง ๆ ด้วยจุดเด่นราคาถูกเริ่มต้นเพียง 15-55 บาท สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยทั้งรายย่อย-กลางอย่างหนักในขณะนี้
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจ พบว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแฟรนไชส์จากประเทศจีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภคในประเทศไทย สินค้าจีนเน้น “ราคาถูก” เป็นจุดขาย ทำให้เกิดกระแสความนิยมและเติบโตรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครื่องดื่มแบรนด์สัญชาติจีนมีประมาณ 5 แบรนด์ที่นิยม ประกอบด้วย 1.MIXUE (มี่เสวี่ย) จากข้อมูลมีสาขาทั่วโลก 36,000 สาขา เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2565 ปัจจุบันขยายสาขาแล้วถึง 200 สาขา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567
2.WEDRINK (วี ดริ้งค์) ก่อตั้งปี 2012 เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัท Runxiang Catering Company สัญชาติจีน พัฒนาเร็วมาก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ เจิ้งโจว เหอหนาน มีสาขาในจีนกว่า 3,000 สาขา เข้ามาลงทุนในไทย เน้นกลยุทธ์ราคาไม่แพง อาทิ ไอศกรีม ชาผลไม้ ชานม และกาแฟ จุดเด่นมีเนื้อผลไม้เข้าไปอยู่ในแก้วของแต่ละเมนู
3.TANING (ถาหนิง) ชามะนาวเจ้าดังจากเมืองจีน มีสาขากว่า 600 สาขาทั่วโลก รสชาติดี มียอดขายเมนูซิกเนเจอร์กว่า 800 ล้านแก้วต่อปี เมนูยอดนิยม ชามะนาวซิกเน
4.CHAGEE (ชาจี) จากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เปิดสาขาแรกวันที่ 17 พฤศจิกายน 2017 ในเมืองคุนหมิง ธุรกิจเติบโตเร็วขยายสู่ต่างประเทศ 2,700 กว่าสาขาทั่วเอเชีย ขยายสาขาเข้าสู่ประเทศไทยสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์
และ 5.HEEKCAA (ฮีกค่า) เป็นชาชีสเจ้าแรก ๆ ในประเทศไทย เปิดครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2560 นำเข้าโดยคนไทยที่ไปซื้อแฟรนไชส์จากเมืองกว่างโจว
นอกจากแบรนด์เครื่องดื่มแล้ว ยังมีธุรกิจร้านอาหารที่บุกตลาดประเทศไทยด้วยเช่นกัน อาทิ 1.Haidilao ร้านหม้อไฟสัญชาติจีนของ Zhang Yong ให้บริการน้ำซุปรสเผ็ด ลูกค้าสามารถปรุงเนื้อสัตว์และผักได้ที่โต๊ะ มีการเติบโตเร็ว 2.แบรนด์ CQK MALA Hotpot หมาล่าสไตล์จีนฉงชิ่ง รสชาติเผ็ดชา น้ำซุปเข้มข้น วัตถุดิบตระการตา ทำให้ผู้บริโภคเกิดความนิยม เริ่มกิจการสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2559 ที่ภูเก็ต (ป่าตอง) ปี 2562 ปัจจุบันมี 6 สาขา
3.Zhengxin Chicken Steak (เจิ้งซิน ชิคเก้น สเต็ก) เป็นร้านไก่ทอด มีสาขากว่า 20,000 แห่งทั่วโลก ล่าสุดเปิดสาขาที่ 2 ในไทย ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7 ใกล้ร้าน Sushiro สาขาแรกตั้งอยู่ที่ ONE ConneX ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ผ่านบรรจุภัณฑ์และมาสคอต ที่สำคัญคือ “ราคาถูก”
การสปีดขยายสาขาที่รวดเร็วแบบสายฟ้าแลบนี้มาจากหลายปัจจัย ทั้งด้านยุทธศาสตร์การใช้โมเดลแฟรนไชส์ โดยค่าแฟรนไชส์ของแบรนด์เหล่านี้อยู่ประมาณ 8 แสนบาท อาทิ MIXUE ซึ่งราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 890,000 บาท WEDRINK ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 885,000 บาท ส่วน Zhengxin Chicken Steak ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 814,669 บาท เป็นต้น ราคาสินค้าที่จับต้องง่าย และสภาพตลาดในไทยที่เอื้อต่อการเติบโตของร้านอาหาร-เครื่องดื่มราคาประหยัด
จับตาตลาดอาหาร 3.2 ล้านล้าน
ดร.เจริญ แก้วสุขใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตลาดอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ตอนนี้ต้องเฝ้าระวังสินค้านำเข้า โดยเฉพาะเครื่องปรุงรส บะหมี่ชนิดต่าง ๆ เครื่องดื่ม ผักผลไม้อบแห้ง ขนมขบเคี้ยวชนิดต่าง ๆ จากประเทศจีน ซึ่งอาจจะกระทบเราได้ในอนาคต
ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังสแกนมีการย้ายมาตั้งฐานผลิตในไทยเป็นไปได้ไหม มีมากน้อยเพียงใด หากได้ข้อมูลแล้วต้องมาวางกลยุทธ์ต่อไป ว่าจะต้าน หรือเป็นไปได้หรือไม่ อาจจะต้องเป็นพันธมิตร หรือปรับวิธีการอย่างไร
ภาคเอกชนอยากขอให้ภาครัฐทุกหน่วยงานเฝ้าจับตาดูแล ไม่ว่าจะเป็นกรมปศุสัตว์ กรมประมง คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องดูแลสินค้าที่อาจกระทบกับเรามาก คือสินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูป ขอให้เข้าไปตรวจสอบถึงต้นทางที่โรงงานผลิตอาหารอย่างเข้มข้นว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องมาตรฐานมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของคนไทย ไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น
โดยเราจะเห็นว่าสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่จะมีราคาถูกมาก หากคุณภาพไม่ดีก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ถ้า อย.ไม่มีกำลังคนอาจต้องจ้างหน่วยงานภายนอกมาช่วยตรวจสอบ หรือหากมีความจำเป็นก็ต้องใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เรามีกฎระเบียบอยู่แล้ว ก็ให้ใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น พบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs อาหาร”
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารล่าสุดยังได้ดุลการค้าจากจีน โดยส่งออกอาหารไปจีน 3.7 แสนล้านบาท นำเข้า 98,000 ล้านบาท ยังได้ดุลการค้าสินค้าอาหารจากจีน 2.7 แสนล้านบาท โดยไทยยังมีจุดแข็งในการเป็นแหล่งวัตถุดิบ และมีสูตรเฉพาะในอุตสาหกรรม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และต้นทุนสู้ได้ แต่ในอนาคตทางกลุ่มก็ห่วงอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีอาจจะได้รับผลกระทบจากอาหารนำเข้าหากไม่มีมาตรการดูแล
เศรษฐกิจร่วงเอื้อทุนจีนผุดสาขา
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นหนึ่งที่หนุนให้ร้านสัญชาติจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคระดับแมส ซึ่งไม่มีตัวเลือกอื่นในการบริโภคที่เหมาะกับระดับกำลังซื้อมากนัก รวมถึงยังได้กระแสฮิตจากกลุ่มวัยรุ่นที่มองว่าสินค้าเหล่านี้ดูเท่-เก๋ในราคาไม่แพงอีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายที่สามารถควบคุมเฉพาะการลงทุนจากกลุ่มทุนจีนในลักษณะนี้ได้
ขณะเดียวกัน ยังมีแนวโน้มว่า หากสภาพเศรษฐกิจของไทยยังไม่ดีขึ้น จะยิ่งเอื้อต่อการขยายตัวของร้านสัญชาติจีน เนื่องจากเมื่อผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ยิ่งต้องการสินค้าที่ราคาจับต้องได้มากขึ้น
“เราก็ต้องเข้าใจว่าคนทุกคนคิดไม่เหมือนกัน ผู้บริโภคก็คิดถึงค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับตัวเอง พ่อค้า นักลงทุน พยายามคิดกลยุทธ์ เขาจะไปลงทุนที่ไหน เขาก็ต้องทำให้เขาขายได้มากที่สุด ทุกคนก็ต้องเอาตัวเอง-ธุรกิจให้รอด ใครแข็งแรงก็จะอยู่ได้ เป็นเรื่องของการทำธุรกิจ นักธุรกิจก็คงจะมองว่าโอกาสมา หรืออะไรมาเขาต้องคว้าโอกาส เพราะยิ่งเราอ่อนแอเขาก็พร้อมที่จะมา”
ทุนจีนแห่ลงทุนนอกประเทศ
ภาพการขยายการลงทุนของ “นักลงทุนจีน” ที่นำเงินออกมาลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลในรายงาน “การลงทุนของจีนในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2023” ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยกริฟฟิทในออสเตรเลีย ระบุว่าจีนลงทุนนอกภาคการเงิน (รวมถึงสัญญาก่อสร้าง) ในเอเชีย-แปซิฟิกรวม 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.59% จากปี 2565 สัดส่วน 50% หรือครึ่งหนึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” เพิ่มขึ้น 27% จากปี 2565
ส่วนครึ่งปีแรกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า จีนนำเงินออกมาลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) 72,620 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยตัวเลขในไตรมาส 2 ปีนี้จากสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (SAFE) ระบุว่า เป็นมูลค่า ODI รายไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของจีน อยู่ที่ 71,000 ล้านดอลลาร์
กระอักตั้งแต่ร้านเล็กยันระดับกลาง
นายกสมาคมภัตตาคารไทยยังระบุอีกว่า ปัจจุบันผลกระทบจากการรุกเข้ามาของร้านอาหาร-เครื่องดื่มสัญชาติจีน ไม่ว่าจะไอศกรีม ชา กาแฟ หรือหมูกะทะ-หมาล่านี้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการระดับแมสแล้ว แต่ยังเริ่มขยายวงไปยังระดับกลางด้วย เนื่องจากกลยุทธ์ราคานั้นยังคงครองใจผู้บริโภคได้เสมอ ยิ่งเมื่อร่วมกับการทำตลาดด้วยรูปแบบร้านที่ดูดี แพ็กเกจจิ้งสวยงามก็จะยิ่งเกิดเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว
สะท้อนจากร้านอาหารระดับภัตตาคารหลายแห่ง แม้จะเป็นช่วงเวลาเย็นแต่จำนวนลูกค้าน้อยลงอย่างชัดเจน บางรายยอดขายต่ำกว่า 50% แล้ว โดยหลายรายต่างต้องหายุทธศาสตร์ออกมารับมือ ไม่ว่าจะเป็นการขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อนำเงินมาหมุน ระมัดระวังการใช้จ่าย งดลงทุน ฯลฯ พร้อมกับพยายามหาช่องทางสร้างรายได้อื่น ๆ เช่น หันไปลงทุนในต่างประเทศ ผลิตสินค้า-ของฝากมาขาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่าห่วงคือ ร้านขนาดเล็กหาเช้ากินค่ำ สายป่านสั้น มีเงินทุนจำกัด ทำให้เมื่อถูกกระทบจะมีตัวเลือกในการรับมือไม่มากนัก จึงมีโอกาสต้องยอมปิดตัวสูง ซึ่งน่าห่วงว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้หากไม่ทำอาชีพร้านอาหารแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพราะร้านอาหารนับเป็นอาชีพที่เข้าถึงง่ายที่สุดแล้ว
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสัญชาติจีนยังแข่งขันกันเอง จนมีหลายรายต้องปิดตัวไปเช่นกัน สะท้อนจากการปิดตัวของร้านในย่านห้วยขวาง โดยเชื่อว่ามีทั้งการปิดเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ และการปิดเพราะได้ทุนคืนแล้ว และมองว่าธุรกิจอื่นได้กำไรมากกว่า
เอกชนไทยเร่งปั้นโซลูชั่นรับมือ
ด้านภาคเอกชนไทยต่างเร่งปั้นโซลูชั่น “รับมือ” ทุนจีน โดยในงาน Food & Hospitality Thailand 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสมาพันธ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยรับเป็นแม่งาน เดินหน้านัดผู้ประกอบการมาพูดคุยรวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาโซลูชั่นรับมืออนาคต
หนึ่งในนั้นคือนายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวินเอ็กซ์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งร้านอาหาร “เพนกวินอีทชาบู” ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ วันที่ 19 สิงหาคม 2567 ที่เพิ่งผ่านไป ก็ได้จัดในหัวข้อ “ทำร้านยังไงให้ถูกใจ Social” จาก ทัพไทย ฤทธาพรม เจ้าของแบรนด์ “HAAB” และ พันธ์ทิพย์ ดีเจริญ เจ้าของแบรนด์ “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน”