Gen ใหม่ “เดอะ มอลล์กรุ๊ป” เราจะเป็น…ให้มากกว่าค้าปลีก

หลายคนรู้จัก “ศุภลักษณ์ อัมพุช” หญิงแกร่งแห่งวงการค้าปลีกเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ อย่างเดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ ฯลฯ ให้กลายเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของทั้งคนไทยและต่างชาติ

วันนี้ “เดอะ มอลล์กรุ๊ป” เริ่มเทน้ำหนักมายังเจเนอเรชั่นใหม่ เปิดรับไอเดีย สไตล์การบริหารที่เฟรชมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างของห้าง ในวันที่การแข่งขันของค้าปลีกร้อนแรงขึ้นทุกชั่วขณะ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ไพลิน อัมพุช” หลานสาวของ คุณศุภลักษณ์ อัมพุช ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บริหาร บริษัท เอ็ม คิวเรเท็ด จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของเดอะมอลล์ ทำหน้าที่บริหารแบรนด์แฟชั่น ความงาม และไลฟ์สไตล์ ทั้งรูปแบบของการเป็นดิสทริบิวเตอร์ และการพัฒนาแบรนด์สินค้าของตัวเอง

“ไพลิน” เล่าว่า หลังเรียนจบ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เอ็ม คิวเรเท็ด ได้ก่อตั้งขึ้นมา เธอจึงได้เข้ามาทำงานที่นี่ทันที ด้วยความตั้งใจอยู่แล้วที่จะกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าไปเรียนรู้งานระดับทั่วไปอย่างเมอร์แชนไดเซอร์ ซึ่งนอกจากจะต้องเฟ้นหาแบรนด์ที่มีความน่าสนใจแล้ว ยังต้องฝึกสกิลการเจรจาเพื่อนำสินค้าเข้ามา และยังต้องคิดถึงผลตอบรับของลูกค้าด้วย

ซึ่งหลักเกณฑ์ของการคัดเลือกแบรนด์นั้น นอกจากจะต้องมองเทรนด์ให้ออกแล้ว ยังต้องพิจารณาไปถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ความชัดเจนและสม่ำเสมอของแบรนด์ในการออกสินค้า รวมไปถึงการตั้งราคาให้เหมาะสม

ในช่วงแรก เอ็ม คิวเรเท็ด โฟกัสไปที่การนำเข้าแฟชั่นกลุ่มลักเซอรี่ ดีไซเนอร์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังมีผู้เล่นค่อนข้างน้อย แต่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยบริหารภายใต้โมเดลของร้านมัลติแบรนด์ “คอนเท็มป์ ซาลอง” ซึ่งจะประกอบไปด้วยแบรนด์ต่าง ๆ ประมาณ 30 กว่าแบรนด์ จากยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีราคาตั้งแต่หลักพันขึ้นไปจนถึงหลักหมื่นบาท

“ไพลิน” ชี้ว่า สินค้าแฟชั่นถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้เสียภาษีนำเข้าสูงถึง 30% แต่ในฐานะผู้นำเข้าก็ต้องบริหารจัดการให้ราคาสามารถแข่งขันกับประเทศรอบ ๆ ข้างได้ และโดนใจผู้ซื้อ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงจึงทำให้คอนเท็มป์ ซาลอง มีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างนิช

จึงมีแนวคิดที่ต้องการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น โดยหันมาโฟกัสแบรนด์ที่ราคาเข้าถึงง่าย และอยู่ในโซนเอเชียแทน เพราะมีแนวโน้มที่จะเสียภาษีนำเข้าถูกกว่าด้วยข้อตกลงทางการค้าเสรีในกรอบต่าง ๆ ทำให้เธอตัดสินใจนำเข้าแบรนด์ไลฟ์สไตล์ สายเกาหลีที่กำลังเป็นกระแสอย่าง “สไตล์นันดะ” ซึ่งมีทั้งกลุ่มเสื้อผ้า แอ็กเซสซอรี่ และเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ “3CE” (ทรีซีอี)

ซึ่งปัจจุบันร้านสไตล์นันดะ มีทั้งหมด 3 สาขา ที่เอ็มควอเทียร์ พารากอน และพิงค์ โฮเทล แบงค์คอก สยามสแควร์ และมีเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง 3CE อยู่ 6 สาขา ด้วยผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องของเหล่าแฟนคลับเคบิวตี้ ทำให้เตรียมขยายสาขาอีก 3-5 แห่งในปีนี้เพิ่มเติม

และในปีนี้ “ไพลิน” ได้เตรียมเซอร์ไพรส์กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบเคบิวตี้อีกรอบด้วยการนำเข้า “โซซุงอา บิวตี้ 1989” แบรนด์เครื่องสำอางที่กำลังมาแรงในแวดวงความงามเกาหลี ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครด้วยนวัตกรรมของสินค้า ในคอนเซ็ปต์ simple & fun เช่น สินค้าไฮไลต์อย่าง C&T BLEND รองพื้นที่มาพร้อมกับออยล์บำรุงผิว ในแพ็กเกจโมเดิร์นเพียงหมุนซ้าย และขวาเพื่อใช้งาน

โซซุงอา บิวตี้ฯ มีซับแบรนด์ย่อยถึง 3 แบรนด์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายตามช่วงอายุได้มากขึ้น อาทิ 16 BRAND เมกอัพ สีสัน เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น VER. 22 CHONSUNGAH สำหรับกลุ่มที่โตขึ้นมาหน่อย สไตล์สาวมั่น และ WONDER BATH BY VIBES ไลน์สินค้าในชีวิตประจำวัน เหมาะกับกลุ่มครอบครัว

“ตลาดเครื่องสำอางในบ้านเราเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเคบิวตี้ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจจำนวนมาก เช่นเดียวกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ามาในตลาดนี้ แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของสินค้า และระดับราคาของทั้ง 3CE และโซซุงอา บิวตี้ฯ เฉลี่ยอยู่เพียงหลักร้อยเท่านั้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองทั้งความต้องการของผู้บริโภคและรับมือกับการแข่งขันได้อย่างไม่ยาก”

ส่วนในกลุ่มแฟชั่น หลังจากมีพื้นที่ทดลองเสียงตอบรับของสินค้าจาก “คอนเท็มป์ ซาลอง” ทำให้เธอตัดสินใจนำแบรนด์ที่มีศักยภาพ สร้างยอดขายได้ดีเข้ามาต่อยอดเปิดเป็นร้านเต็มรูปแบบ เช่น อิน กู้ด คอมพานี แบรนด์เสื้อผ้าจากสิงคโปร์, โจเซฟ จากอังกฤษ ฯลฯ เป็นต้น

และแผนงานภายใน 3-5 ปียังคงต้องการขยายความครอบคลุมของกลุ่มลูกค้าออกไปเรื่อย ๆ ผ่านแบรนด์ และสินค้าใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ ตลอดจนพัฒนาแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา เติมเต็มประสบการณ์ของลูกค้าในทุกแง่มุม

“การทำรีเทลไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะลูกค้าและคู่แข่งเองก็เปลี่ยนไปอยู่ตลอด สิ่งสำคัญของเราคือการปรับตัวให้เร็ว และยึดติดกับอะไรเดิม ๆ ไม่ได้”

กลยุทธ์ของเดอะมอลล์ในการแตกธุรกิจออกมารับบทบาทการเป็นดิสทริบิวเตอร์ เพื่อถือไพ่ที่เหนือกว่า ด้วยการเข้าถึงแบรนด์ที่มีศักยภาพทั้งหลาย ซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ ที่นับวันไม่เพียงจะแข่งขันกันเฉพาะค้าปลีกเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซด้วย


ทำไม่เป็น ไม่ได้หมายความไม่ได้…