‘ห้างญี่ปุ่น’ จีบแบรนด์ดังเอเชีย ชวนเช่าพื้นที่ หวังเสริมแม็กเนตโครงการ

ห้าง การค้า ญี่ปุ่น
คอลัมน์ : Market Move

ห้าง-ศูนย์การค้าญี่ปุ่น กำลังเดินสายหาแบรนด์สินค้า-อาหารชื่อดังในภูมิภาคเอเชีย หวังจีบให้เข้าไปเปิดสาขาในโครงการของตน

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ผู้จัดการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่าจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของญี่ปุ่น กำลังมองหาผู้เช่าที่มีศักยภาพสูงจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการจากภูมิภาคเอเชีย ที่มีศักยภาพพอจะแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกที่ดุเดือดในญี่ปุ่นได้

โดยตามการสำรวจ “Killer tenant survey” จัดทำโดยนิกเคอิ ด้วยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการพื้นที่เช่า จำนวน 51 ราย จากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของญี่ปุ่น สะท้อนถึง 3 เทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อการเลือกผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีก นั่นคือ ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ, มีรูปลักษณ์สะดุดตา และเน้นความยั่งยืนด้วย

หนึ่งในนั้นคือ “เติ้ง ยี่” (Deng Yi) ร้านขายสมุนไพรจากไต้หวัน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบรรดานักวางกลยุทธ์ด้านค้าปลีกในญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าอย่าง ชาสมุนไพร และวัตถุดิบสำหรับต้มซุป โดยปัจจุบันเติ้ง ยี่ มีร้านค้าทั้งหมด 6 แห่งในไต้หวัน แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น

ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์พื้นที่เช่าของโครงการมิกซ์ยูสแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ฐานลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคฐานะร่ำรวยและใส่ใจสุขภาพ อายุประมาณ 40 ปี และ 50 ปีขึ้นไป ทำให้เติ้ง ยี่ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมาก

“อู๋ เหมิงหลง” (Wu Menglong) ซีอีโอของเติ้ง ยี่ แสดงความสนใจในตลาดค้าปลีกของญี่ปุ่นมากด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้รับคำเชิญให้ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจจำนวนมากจากหลากหลายประเทศ ซึ่งการมุ่งสู่ตลาดญี่ปุ่นถือเป็นความเป็นไปได้หนึ่ง

ADVERTISMENT

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจความงาม แบรนด์น้ำหอม-เครื่องหอม เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีดีมานด์สูง โดย “คามาคาเมต” (Karmakamet) แบรนด์เครื่องหอมสัญชาติไทย เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้พัฒนาอสังหาฯในญี่ปุ่น โดยผู้จัดการฝ่ายพื้นที่เช่าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง กล่าวว่า กำลังจับตาดูแบรนด์นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นและมีรูปแบบแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์

“วิศรุต เฉลิมสิทธาพัฒน์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของคามาคาเมต ยืนยันว่า บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในช่วงปี 2026-2027 พร้อมให้มุมมองต่อตลาดญี่ปุ่นว่า สนใจในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในรูปแบบร้านค้าเดี่ยว อย่างไรก็ตาม บริษัทเปิดกว้างด้านทำเลรูปแบบอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ADVERTISMENT

ด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม “คอตติ คอฟฟี่” (Cotti Coffee) เชนร้านกาแฟจากจีน ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องกาแฟราคา 9.9 หยวน (ประมาณ 46 บาท) สร้างกระแสความสนใจในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ของญี่ปุ่น ด้วยจุดเด่นอย่าง ราคาไม่แพงเท่าสตาร์บัคส์ และเน้นการขายแบบซื้อกลับบ้านจึงใช้พื้นที่น้อยมาก

ไปในทิศทางเดียวกับในธุรกิจแฟชั่น ที่ทีมงานเช่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่สร้างกระแสไวรัลจากการออกแบบร้านที่มีความโดดเด่นและมีแรงดึงดูดทางโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการดึงดูดลูกค้า

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ “เจนเทิล มอนสเตอร์” (Gentle Monster) แบรนด์แว่นตาจากเกาหลีใต้ ที่มีความโดดเด่นในด้านการออกแบบร้านให้มีความทันสมัย โดยแบรนด์ได้เปิดร้านสาขาที่สองในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2024 ซึ่งตอกย้ำชื่อเสียงของแบรนด์ในฐานะผู้บุกเบิกการค้าปลีกเชิงประสบการณ์

อีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความสนใจ คือ “วิเคิล วิเคิล” (Wiggle Wiggle) แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์แปลกใหม่จากเกาหลีใต้ พร้อมเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยสไตล์ศิลปะพ็อปอาร์ต โดยมีร้านทั้งหมด 8 สาขา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ ก่อนมาเปิดร้านบูทีคแห่งแรกในญี่ปุ่น บริเวณริมถนนในย่านฮาราจูกุเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า ให้ความเห็นว่า วิเคิล วิเคิล ได้รับความนิยมจากสีสันสวยงาม เหมาะกับการถ่ายรูป ซึ่งยังไม่เคยมีให้เห็นในญี่ปุ่นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม “บีเอ็ม สไมล์ เจแปน” (BM Smile Japan) บริษัทย่อยในญี่ปุ่นของเครือวิเคิล วิเคิล ย้ำว่า ยังไม่มีแผนเปิดร้านในอาคารพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2025 นี้ แต่จะเน้นการเปิดร้านค้าแบบพ็อปอัพ โดยมีแผนจะจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ในภูมิภาคคันไซ หรือพื้นที่บริเวณโดยรอบของโอซากา นารา และเกียวโต และคิวชู เกาะหลักทางตอนใต้สุดของญี่ปุ่น ภายในช่วงปลายปี 2025 นี้

ทั้งนี้ต้องรอลุ้นกันว่า แบรนด์ต่าง ๆ จากเอเชียรายใดจะได้เข้าไปปักธงในห้างสรรพสินค้า-โครงการมิกซ์ยูสของญี่ปุ่น ในเร็ว ๆ นี้บ้าง