เซ็นทรัลร่วมวงสู้ศึกอีวอลเลต ผนึกJDทุ่ม250ล้านUS ปั้นDolfinชิงแชร์

รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด
ยักษ์ค้าปลีกเซ็นทรัลโดดร่วมสมรภูมิ “อีวอลเลต” จับมือ JD.com ทุ่ม 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ปั้น “Dolfin Wallet” ใต้ปีกบริษัทใหม่ “เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง” รอลุ้นแบงก์ชาติไฟเขียวให้ใบอนุญาตภายใน 90 วัน พร้อมเปิดบริการทันที ปักธง 3 ปี ผู้ใช้งาน 10 ล้านราย เล็งใช้ “บิ๊กดาต้า” ต่อยอดธุรกิจอีกเพียบ

เซ็นทรัล : นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลของไทย และเจดี ดอทคอม บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ภายใต้การร่วมทุนกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาบริการด้านอีไฟแนนซ์ และฟินเทค ในประเทศไทย โดยกำลังอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตเพื่อให้บริการอีเพย์เมนต์ อีมันนี่ และบริการตัวแทนรับชำระเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตทั้งหมดภายใน 90 วัน ก่อนเปิดให้บริการ “Dolfin Wallet” (ดอลฟินวอลเลต) เป็นบริการแรกในทันที

โดย “ดอลฟินวอลเลต” จะเป็นแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายแรกที่รองรับการชำระและโอนเงินครบทุกช่องทาง เชื่อมโยงกับบัญชีธนาคาร บัตรเดบิตและบัตรเครดิต มีการเติมเงินสดผ่านเคาน์เตอร์ CenPay รองรับการใช้งานกับระบบพร้อมเพย์ และ QR code พร้อมรับคะแนน The 1 Card ทุกครั้งที่ใช้จ่าย

“โครงสร้างพื้นฐานและผู้บริโภคไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเปิดให้บริการ โดยดอลฟินจะทำตลาดแบบ location based ปูพรมพื้นที่ให้บริการไล่ไปทีละจุด เพื่อสร้างอิมแพ็กต์กับผู้ใช้ให้มากที่สุด เริ่มจากย่านสีลม อโศก และสยาม ที่จะพร้อมใช้งานได้ทุกร้าน ไม่ใช่แค่เฉพาะในเครือเซ็นทรัล”

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ กลุ่มนักศึกษา พนักงานบริษัท และลูกค้าบัตร The 1 Card ที่มีกว่า 15 ล้านคน โดยตั้งเป้าว่าภายใน 12 เดือนจะมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นไปใช้ 4-5 ล้านดาวน์โหลด และมียอดผู้ใช้งานระดับ 10 ล้านราย ภายใน 3-4 ปี

“ธุรกิจอีเพย์เมนต์ อีวอลเลต ไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำกำไรมหาศาล แต่จะมีดาต้ามหาศาล ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ นำไปต่อยอดได้อีกมาก ซึ่ง JD.com ยังมีอีกหลายเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการเงิน ฟินเทค ที่รองรับการก้าวสู่ดาต้าอีโคโนมี และยืนยันว่า เราไม่ได้ต้องการมาแข่งกับแบงก์ แต่ต้องการเป็นพันธมิตร”

สำหรับ “ดอลฟินวอลเลต” จะโดดเด่นด้านการทำ E-KYC (electronic know-your-customer) ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า และ optical character recognition (เทคโนโลยีการรู้จำตัวอักษร)

นายรุ่งเรืองกล่าวว่า ตลาดอีวอลเลตในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดเป็นเจ้าตลาด เพราะส่วนใหญ่ยังให้บริการชำระเงินในวงจำกัด ต่างจาก “ดอลฟิน” ที่เชื่อมบริการได้กับร้านค้าพันธมิตรจำนวนมาก เฉพาะที่เป็นจุดรับชำระของธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ที่เป็นพันธมิตรก็มีมากกว่า 60% ของตลาด หรือกว่า 3 ล้านร้านค้า จึงยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก โดยคู่แข่งสำคัญ คือ “เงินสด” ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหาพันธมิตรเพื่อสร้างสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าในการใช้งาน และรู้สึกเสียโอกาสหากเลือกจ่ายด้วยเงินสด

“ธุรกิจดิจิทัลไม่สามารถระบุได้ชัดว่าจะต้องลงทุนเท่าไร หรือคืนทุนเมื่อใด เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ สำคัญที่จะสร้างมาร์เก็ตแคปได้มาก และจะสเกลฐานลูกค้าให้ได้อย่างไร”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!