กม.เมาแล้วขับ…โทษหนัก ทุบ “เหล้า-เบียร์” เวียดนามสะดุด

เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง โดยเฉพาะเบียร์ที่ได้ชื่อว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด ยูโรมอนิเตอร์ฯ ที่ระบุว่า อัตราการบริโภคเบียร์ในเวียดนามระหว่างปี 2547-2561 เพิ่มขึ้นถึง 284% หรือเกือบ 3 เท่า โดยเมื่อปี 2561 ชาวเวียดนามดื่มเบียร์เฉลี่ย 43 ลิตรต่อครัวเรือนต่อปี ครองตำแหน่งผู้บริโภคเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แต่ดูเหมือนในปี 2563 นี้จะมีปัจจัยใหม่มาสั่นคลอนการเติบโตของตลาดเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนามเสียแล้ว

ล่าสุดสำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า ปี 2563 นี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนามกำลังอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นครั้งแรก โดยยอดขายเบียร์ช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคมนี้มีตัวเลขลดลงไปถึง 25% แม้แต่เบียร์ยอดนิยมไฮเนเก้นก็ยังมียอดขายยังลดลง 4.6% รุนแรงที่สุดในรอบ 6 เดือน

“ลวง ซัน ซุง” เลขาฯของสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบียร์เวียดนาม สะท้อนว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเบียร์ทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ยอดขายเดือนมกราคมลดลงอย่างรุนแรงจนต้องระดมโปรโมชั่นลดราคาแบบเข้มข้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย แม้ว่ากำลังจะใกล้ถึงวันตรุษญวนหรือวันปีใหม่ของชาวเวียดนามซึ่งปกติแล้วถือเป็นช่วงไฮซีซั่น

“แม้สมาคมจะยังไม่มีตัวเลขยอดขายชัดเจน แต่ภาพร้านนั่งดื่มและผับบาร์ที่เงียบเหงาลงอย่างชัดเจนในช่วงนี้ สามารถสะท้อนความร้ายแรงของสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี”

โดยบรรดาผู้ผลิตเบียร์ในเวียดนามเชื่อว่า การหดตัวนี้เป็นผลจากกฎหมายฉบับใหม่ “เมาแล้วขับ” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่พบว่ามีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อาทิ หากขับขี่จักรยานยนต์อาจต้องเสียค่าปรับสูงสุด 8 ล้านด่อง หรือประมาณ 10,500 บาท สูงกว่าอัตราเดิมถึง 2 เท่า พร้อมพักใบขับขี่นาน 2 ปี จากเดิมเพียง 5 เดือน ส่วนการขับขี่รถยนต์หรือรถบรรทุกสามารถถูกปรับสูงสุดได้ถึง 40 ล้านด่อง หรือประมาณ 52,000 บาท และยกเลิกใบขับขี่

ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับขึ้นด้วยเช่นกัน โดยช่วง 2 สัปดาห์นี้ฝ่ายจราจรของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ดำเนินคดีผู้กระทำผิดไปแล้วกว่า 6,279 คดี คิดเป็นค่าปรับรวมกัน 2.1 หมื่นล้านด่อง นับเป็นอัตราโทษที่สูงและการบังคับใช้เข้มงวดมากเป็นประวัติการณ์ สำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อว่าแทบไม่มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการดื่ม จนแม้แต่ข้าราชการยังสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลางานได้

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นักดื่มหลายรายต้องคิดหนักหากจะดื่มสังสรรค์ก่อนกลับบ้าน

“สมาคมฯเข้าใจความจำเป็นและสนับสนุนการเพิ่มความเข้มงวดเพื่อป้องกันความเสียหายจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ กม. ฉบับนี้อาจสุดโต่งเกินไป ตัวอย่างเช่น แม้ผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ก็อาจถูกปรับสูงถึง 8 ล้านด่อง” ลวง ซัน ซุง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนาม คงต้องหาทางปรับตัวในระยะยาว เพราะกฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากภาคประชาชน หลังการเมาแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุสลดหลายครั้งในปี 2562 และภาพสถานที่เกิดเหตุของหลายเหตุการณ์ถูกเผยแพร่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก นำไปสู่การประท้วงในกรุงฮานอยเรียกร้องการแก้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนในการเสียชีวิตถึง 97,000 ครั้งต่อปีในเวียดนาม

ด้วยสภาพติดบ่วงเช่นนี้ ทำให้ฝั่งร้านอาหาร ผับบาร์ รวมไปถึงตัวผู้บริโภคเริ่มหาทางออกกันเอง โดยหลายแห่งให้ส่วนลดหรือออกค่าบริการเรียกรถแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้กับลูกค้าเพื่อเดินทางกลับบ้าน-ที่ทำงาน ส่วนนักดื่มบางรายเลือกขังตัวเองในรถนานหลายชั่วโมงเมื่อถูกเรียกจอด เพื่อรอให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง และยอมเสียค่าปรับ 2 ล้านด่อง หรือประมาณ 2,600 บาท ฐานขัดขืนพนักงาน

จากนี้ต้องจับตาดูกันว่า ทางฝั่งผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะใช้กลยุทธ์แบบไหนมารับมือกับสถานการณ์นี้ หลังหลายรายทุ่มลงทุนหวังรองรับการเติบโตของตลาดไปก่อนหน้าแล้ว

นี่อาจจะเป็นช่วงของการปรับตัวครั้งสำคัญของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเวียดนาม