ธุรกิจเรือสำราญระส่ำ โควิด-19 พ่นพิษทุบยอดจองหด

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เอเชียได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจเรือสำราญ เมื่อแบรนด์ใหญ่ ๆ จากทั่วโลกต่างเบนเข็มหันมาเปิดเส้นทางและทำตลาดในย่านนี้กันอย่างคึกคัก หวังชิงโอกาสจากจำนวนชนชั้นกลางในประเทศต่าง ๆ
โดยเฉพาะจีนที่เพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนเรือที่ให้บริการเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูลของสมาคมเรือสำราญนานาชาติระบุว่า ปี 2562 มีเรือสำราญให้บริการในภูมิภาคเอเชียถึง 79 ลำ เพิ่มเกือบ 2 เท่า จาก 43 ลำ ในปี 2556 หรือเพียง 6 ปี เช่นเดียวกับความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มจาก 1.5 ล้านคน เป็น 4 ล้านคน

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ปีนี้กระแสการเติบโตเริ่มส่อแววสะดุด หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสปอดอักเสบอู่ฮั่น ทำให้เรือสำราญหลายลำพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือนับพันคนต้องถูกกักกันโรคหรือถูกปฏิเสธการเทียบท่าจากหลายประเทศ จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เช่น เรือไดมอนด์ พรินเซส

ซึ่งถูกกักกันโรคที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น และมีผู้ติดเชื้อกว่า 200 คน จาก 3,700 คน และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเรือเวสเตอร์ดัม พร้อมผู้โดยสาร 2,200 คน ที่ถูกปฏิเสธการเทียบท่าจากหลายประเทศ เพราะมีประวัติรับผู้โดยสารจากฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เทียบท่าที่กัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีเรือสำราญอีกจำนวนหนึ่งถูกกักกันโรคในท่าเรือต่าง ๆ เช่น เรือเวิลด์ดรีม ซึ่งถูกกักกันโรคนาน 4 วันก่อนทางการฮ่องกงจะอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเรือ หลังผลตรวจผู้ป่วยบนเรือเป็นลบ แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ย่อมส่งผลกับสภาพจิตใจของผู้โดยสาร

“เอ็ดกา เฉิน” หนึ่งในผู้โดยสารของเรือเวิลด์ดรีมให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ตนคงไม่เลือกท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญอีกครั้งในเร็ววันนี้แน่ เพราะการเสี่ยงติดไวรัสที่อาจถึงตายได้มันเครียดและน่ากลัวเกินไป

สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ประกอบการหลายรายที่ระบุว่า หลังจากข่าวเรือไดมอนด์ พรินเซส, เวสเตอร์ดัม และเวิลด์ดรีม แพร่ไปทั่วโลก ทำให้ต้องยกเลิกการเดินทางหลายเที่ยว โดย “รอยัล แคริบเบียน ครุยส์” (Royal Caribbean Cruises) ผู้เล่นอันดับ 2 ของตลาดเปิดเผยว่า บริษัทยกเลิกการเดินทางในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้วถึง 18 เที่ยว เช่นเดียวกับ “คาร์นิวัล” (Carnival) รายใหญ่อีกรายที่ยอมรับว่าปีนี้รายได้จะลดลงแน่นอน เพราะตลาดจีนมีสัดส่วนถึง 4% ของผู้โดยสารทั้งหมด และเดิมมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 5% ในปีนี้

ไปในทิศทางเดียวกับ “อินครุยซิ่ง แทรเวล เอเชีย” (Incruising Travel Asia) ตัวแทนท่องเที่ยวเรือสำราญในฮ่องกง ที่ระบุว่า ตามปกติแล้วทั้งปีจะมีการยกเลิกเพียงไม่กี่ราย แต่ปีนี้แค่เดือนมกราคม มีผู้ยกเลิกแล้ว 10 ราย และเริ่มกระทบถึงยอดจองช่วงหน้าร้อนแล้วแม้แต่นักวิเคราะห์ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่ชัดเจนได้

“แฮรี่ เคอติส” นักวิเคราะห์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สทิเน็ต กล่าวว่า ปัจจุบันยังเร็วไปที่จะคาดการณ์ความเสียหายของวงการเรือสำราญ เพราะการระบาดครั้งนี้ยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งผู้บริโภคนิยมจองเที่ยวเรือสำราญกันมากที่สุด จึงต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายก่อน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า วงการเรือสำราญน่าจะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ เพราะช่วงหลายปีที่่ผ่านมามีเหตุร้าย
ของวงการเรือสำราญเกิดขึ้นหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นกรณีเรือคอสต้า คอนคอร์เดียเกยตื้นและอับปางจนมีผู้เสียชีวิต 32 รายเมื่อปี 2555 หรือเหตุไฟไหม้เรือคาร์นิวัล ไทรอัมพ์ในปี 2556 ทำให้เครื่องยนต์และห้องน้ำทั่วเรือใช้ไม่ได้ จนผู้โดยสารต้องติดอยู่บนเรือพร้อมกลิ่นของเสียตลบอบอวนนาน 4 วัน และอื่น ๆ อีกหลายครั้ง แต่จำนวนผู้โดยสารยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีผู้ใช้บริการเรือสำราญทั่วโลกรวมกว่า 30 ล้านคน

จากนี้ไปคงต้องคอยดูว่า เมื่อถึงเวลานั้นผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร