“ซิงเกอร์” วางหมากรับโควิด-19 จับตาผิดชำระหนี้-รับพนง.เพิ่มหมื่นอัตรา

“ซิงเกอร์” ปรับกลยุทธ์เตรียมรับมือพิษไวรัสโควิด-19 มอนิเตอร์สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ สั่งงดอีเวนต์-รถตระเวน หันเจาะลูกค้ารายบุคคล กระหน่ำโปรฯ แรง รับหน้าร้อน ฟรีดาวน์-ติดตั้งฟรี มั่นใจอากาศร้อน-คนอยู่บ้าน ดันยอดสินค้าความเย็นแอร์-ตู้เย็น-ตู้แช่โต ทุบสถิติ พร้อมโฟกัสธุรกิจกำไรสูง เดินหน้าลุยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เร่งเพิ่มสาขา-ทีมขาย ประกาศเปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม 1 หมื่นอัตรา

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานการขายและการตลาด บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้บริโภคต่างจังหวัดยังไม่ชัดเจนนัก ปัจจุบันยอดขายสินค้าและยอดเก็บเงินผ่อนยังไม่มีสัญญาณว่าได้รับผลกระทบ แต่เชื่อว่าในระยะยาวการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แน่นอน

แต่เนื่องจากขณะนี้เพิ่งผ่านมาประมาณ 1 เดือน ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่บริษัทก็ได้มีการมอนิเตอร์และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้มีการเตรียมแผนและปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงได้หาแนวทางหรือมาตรการการผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ในกรณีที่ภาครัฐจะมีแนวทางหรือนโยบายในการช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งซิงเกอร์พร้อมจะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ สำหรับแนวทางการทำการตลาดในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย บริษัทมีคำสั่งให้สาขาทั่วประเทศงดกิจกรรมการออกบูท รวมถึงหน่วยรถตระเวน ซึ่งปกติจะเดินสายไปจัดตามตลาด-ตลาดนัด หรือแหล่งชุมชน รวมถึงที่พักของลูกค้า เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการขาย เปลี่ยนเป็นการให้พนักงานติดต่อไปยังลูกค้าที่มีศักยภาพเพื่อเสนอขายสินค้าให้โดยตรง แล้วจึงเดินทางเข้าพบกับรายที่สนใจ โดยมีการใช้มาตรการด้านความสะอาดอย่างเข้มงวด เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของภาครัฐและนโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม

“ตอนนี้กระแสไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น หันมาซื้อสินค้าที่ร้านขายของชำหรือร้านโชห่วยมากขึ้น เนื่องจากผู้คนไม่ต้องการเดินทางไปยังห้างค้าปลีกขนาดใหญ่-ร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และการทำงานที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ดีมานด์สินค้าทำความเย็น อาทิ เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น และตู้แช่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเริ่มสำรองอาหารของผู้บริโภคจำนวนหนึ่งก็ช่วยสร้างดีมานด์ตู้แช่ ซึ่งสามารถเก็บของได้มากกว่าตู้เย็นมีเพิ่มขึ้น สะท้อนจากยอดขายสินค้ากลุ่มนี้ของบริษัทที่เติบโตดี”

กระหน่ำโปรฯแรงรับหน้าร้อน

นายกิตติพงศ์ ระบุด้วยว่า พร้อมกันนี้ ซิงเกอร์ยังได้จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย โดยเน้นในเรื่องของ ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ และความรวดเร็วในการได้รับสินค้า เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น เช่น ฟรีดาวน์ หันมาใช้การเก็บเงินงวดแรกแทน, จัดส่ง-ติดตั้งฟรีใน 24 ชั่วโมง, ยกเว้นไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน (สำหรับร้านค้าที่มีใบประกอบการ) เป็นต้น รวมถึงการมีสินค้าหลายอย่างให้เลือกในราคาที่จับต้องได้ เช่น แอร์ ขนาด 1.2-1.8 หมื่นบีทียู ผ่อนระดับ 1,000-1,600 บาท/เดือน เมื่อผ่อน 29 งวด หลังจากก่อนหน้านี้ลอนช์แอร์ที่มีระบบอินเวอร์เตอร์ และระบบกรองอากาศ เพื่อตอบรับกระแสฝุ่น PM 2.5 และเทรนด์ประหยัดไฟ รวมถึงกระจายสินค้าไปสำรองในสาขาต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทาง

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้เริ่มศึกษาและประเมินแนวโน้มหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเบื้องต้นคาดว่าผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของซิงเกอร์อาจจะมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ และต้องการจะมีอาชีพหรือช่องทางหารายได้เสริมมากขึ้น เช่นเดียวกับเทรนด์ค้าปลีกที่แบรนด์และผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญและมุ่งไปยังช่องทางขายที่เป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และจะต้องเปิดสาขานอกห้างหรือศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

“จากนี้ไปเชื่อว่าเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเพิ่มตัวแทนขายให้มากขึ้น ด้วยจุดแข็งหลายด้านทั้งการเป็นอาชีพอิสระ สามารถทำได้ทุกที่ และไม่ต้องลงทุนสต๊อกสินค้า สินค้าที่ขายเป็นสินค้ามีแบรนด์ รวมถึงมีระบบเงินผ่อน และบริการหลังการขาย ช่วยหนุนการตัดสินใจของลูกค้า”

นายกิตติพงศ์ ย้ำด้วยว่า จากกลยุทธ์และการเตรียมพร้อมดังกล่าว มั่นใจว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษายอดขายและการเติบโตช่วงหน้าร้อนนี้ไว้ได้ โดยคาดว่ายอดขายแอร์จะสามารถทำลายสถิติปีที่แล้วได้แน่นอน เมื่อรวมกับธุรกิจสินเชื่อซึ่งปีนี้โฟกัสไปที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ด้วยการเพิ่มสาขาและทีมขายด้านนี้โดยเฉพาะ จาก 90 คน เป็น 180 คน จะทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่าเพิ่มจาก 3,600 ล้านบาทในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 5,800 ล้านบาท และคาดว่าระดับหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% จากตัวเลขประมาณ 9.4% เมื่อปีก่อน

หลังจากการปรับกลยุทธ์ต่อเนื่อง เน้นโฟกัสธุรกิจที่มีกำไรสูง ช่วยให้ปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้อีกครั้งด้วยตัวเลข 165.89 ล้านบาท จากรายได้รวม 2.61 พันล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุน 80.77 ล้านบาทเมื่อปี 2561

รับตัวแทนจำหน่าย 1 หมื่นอัตรา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุดขณะนี้ซิงเกอร์เริ่มประกาศผ่านเฟซบุ๊กรับสมัครตัวแทนขายเพิ่มอีก 1 หมื่นตำแหน่ง โดยเน้นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดห้าง เช่น พนักงานขายในห้าง พนักงานขายมือถือ-คอมพิวเตอร์ โดยชูเรื่องโอกาสสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Singer Thailand โฉมใหม่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากปรับให้รูปลักษณ์ทันสมัย และยังปรับให้ค้นหาสินค้าและข้อมูลแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายกิตติพงศ์ได้เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ว่า ซิงเกอร์จะโฟกัสการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่ทำกำไรมากกว่ายอดขายเช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ โดยจะมีการปรับรูปแบบการขาย-ธุรกิจหลายด้าน เช่น เลิกขายแบบจับคู่สินค้าซึ่งเสี่ยงหนี้เสียสูง และให้ความสำคัญกับธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมากขึ้น เพื่อช่วยให้สัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมีศักยภาพสูง และยังมีช่องทางที่จะเติบโตได้อีกมาก และมีโอกาสสร้างกำไรสูงกว่าการขายสินค้าเงินผ่อน ซึ่งบริษัทจะเน้นการเจาะกลุ่มเจ้าของรถที่เป็นบุคคลธรรมดา เช่น รถเก๋ง รถกระบะ หรือรถบรรทุกอิสระ

ขณะเดียวกันก็จะเร่งขยายทีมงานและสาขาธุรกิจสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมี 28 สาขา เป็น 60-100 สาขาทั่วประเทศในสิ้นปี พร้อมเดินหน้าเพิ่มศูนย์ฝึกเพื่อฝึกเทคนิคการขายสินเชื่อให้กับสมาชิกกว่า 3,000 รายในปีนี้ เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด รวมทั้งให้ความสำคัญกับสินค้ากลุ่มตู้น้ำหยอดเหรียญ ตู้แช่เครื่องดื่ม ตู้เติมเงิน และเครื่องทำเครื่องดื่มเกล็ดน้ำแข็ง ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเน้นแอร์ช่วงหน้าร้อนที่เป็นไฮซีซั่นและใช้โอกาสที่ดีมานด์แอร์มีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยการเปิดตัวแอร์อินเวอร์เตอร์ขนาดเล็กลง พร้อมระบบฟอกอากาศ รับดีมานด์การติดแอร์ในห้องนอนและความกังวลเรื่องฝุ่น PM 2.5 ตามด้วยตู้เย็นสไตล์เรโทรรับเทรนด์นิยมดีไซน์ย้อนยุค