แบรนด์กีฬาดังฝ่าโควิด พาเหรดสินค้าใหม่รับดีมานด์

Market Move

ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศยังคงพลิกผันสร้างเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลและธุรกิจหลายประเทศต้องเหยียบเบรกและกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยวได้ไม่นานก็พบการระบาดใหญ่อีกครั้ง จนความหวังที่จะจัดงานกีฬาโอลิมปิกในปีหน้าริบหรี่เต็มทน

แต่บรรดาแบรนด์สินค้ากีฬากลับกดคันเร่งเดินหน้าทำธุรกิจ ด้วยการลอนช์สินค้าใหม่ออกมารับดีมานด์ที่มาจากกระแสสุขภาพ พร้อมเดินหน้าวิจัยพัฒนาสินค้ารุ่นใหม่สำหรับเปิดตัวในช่วงหลังวิกฤตโรคระบาดอีกด้วย

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียน รีวิวรายงานว่า แบรนด์สินค้ากีฬารายใหญ่ในญี่ปุ่นทั้งไนกี้ เอสิคส์ มิซูโนะ และโยเน็กซ์ ต่างเดินหน้าเปิดตัวและวางตลาดสินค้าใหม่ในช่วงนี้กันอย่างคึกคัก แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้การแข่งขันต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมกีฬาในสถานศึกษาต้องถูกยกเลิกก็ตาม

โดย “ไนกี้” ยักษ์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติสหรัฐ กลับมาดำเนินธุรกิจในญี่ปุ่นตามปกติอีกครั้ง พร้อมเปิดตัวรองเท้า “แอร์ ซูม อัลฟ่า ฟลาย” สีใหม่ เพื่อตอบรับดีมานด์ที่พุ่งสูงหลังนักวิ่งที่สวมรองเท้ารุ่นนี้ทำสถิติความเร็วใหม่ได้ในงานวิ่งผลัดฮาโกเนะเอคิเดน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนสินค้าขาดตลาดไปนานหลายเดือน

ส่วน “โยเน็กซ์” ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาสัญชาติญี่ปุ่น เปิดตัวไม้เทนนิสรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เล็งเจาะกลุ่มมือสมัครเล่นระดับบนอายุ 30 ปีขึ้นไป ด้วยนวัตกรรมการออกแบบ และวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่ทำให้จุดสวีตสปอตสำหรับตีใหญ่ขึ้น 7% แต่น้ำหนักเบาลงกว่ารุ่นก่อน 5 กรัม หรือประมาณ 12% แต่ทนทานขึ้น 5% พร้อมเดินหน้าพัฒนาสินค้ารุ่นถัดไปแล้ว แม้ช่วงครึ่งปีแรกจะประสบปัญหาดีมานด์ลดลงอย่างหนัก จนยอดขายเดือนมีนาคมลดลง 20% และต้องล้มแผนธุรกิจระยะกลางที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไป

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์อื่น ๆ ที่เปิดตัวสินค้าใหม่เช่นกัน โดยเอสิคส์เปิดตัวรองเท้าสำหรับผู้หญิง หลังจากเมื่อต้นปีเปิดตัว “เมทัลเรเซอร์” รองเท้าวิ่งรุ่นใหม่ที่จะมาต่อกรกับแอร์ ซูม อัลฟ่า ฟลาย ของไนกี้ไปก่อนแล้ว ส่วน มิซูโนะ เปิดตัวเสื้อแจ็กเกตติดพัดลมระบายความร้อน

“จอห์น โดนาโฮ” ซีอีโอของไนกี้อธิบายว่า จากนี้การเล่นกีฬาและการออกกำลังจะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วโลกเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพ รวมถึงการออกกำลังกาย สอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทวิจัยอินเทจ ที่สอบถามชาวญี่ปุ่น 800 คนถึงปัญหาจากการใช้ชีวิตภายใต้มาตรการป้องกันโรคในช่วงที่่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 60% ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาออกกำลังกายไม่เพียงพอ และรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแอลง

ขณะเดียวกัน บรรดาแบรนด์สินค้ากีฬายังเร่งปรับตัวรับอานิสงส์จากกระแสอีคอมเมิร์ซที่บูมขึ้นในช่วงการระบาด สะท้อนจากยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซของเอสิคส์ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน “โกลด์วิน” (Goldwin) หนึ่งในผู้ผลิตและดิสทริบิวเตอร์สินค้ากีฬารายใหญ่ในญี่ปุ่นนั้น ยอดขายอีคอมเมิร์ซในปีงบประมาณ 2562เพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อน

โดยโยเน็กซ์ปรับโมเดลการกระจายสินค้าด้วยการเปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตัวเอง จากเดิมที่จะขายผ่านร้านสเปเชียลตี้สโตร์หรือร้านที่ขายสินค้ากีฬาโดยเฉพาะเท่านั้น


ทั้งนี้ สถาบันวิจัยยาโนะเคยประเมินว่าหากไม่นับผลกระทบจากการเลื่อนโอลิมปิกปี 2563 นี้ ตลาดสินค้ากีฬาของญี่ปุ่นจะเติบโต 1.8% และมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านเยน หลังจากปี 2562 มีมูลค่า 1.57 ล้านล้านเยน เติบโต 2.1% จากปีก่อนหน้า