“ซิงเกอร์” เพิ่มดีกรีบุกออนไลน์ งัดแอป-ยูทูบเสริมทัพนักขาย

“ซิงเกอร์” เดินหน้าเพิ่มช่องทางขาย ประกาศรุกออนไลน์ ผุดกลยุทธ์ O2O ทั้งแอปพลิเคชั่น ช็อปปิ้งบนมือถือ พร้อมเปิดช่องรายการทำอาหาร-ดีไอวายบนยูทูบ สร้างการรับรู้สินค้า-บริการ พร้อมศึกษาโมเดลรับชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต เพิ่มโอกาสขายให้ทีมพนักงานเดินตลาด ชี้ข้อดีเพียบ ลดความเสี่ยงเรื่องหนี้สูญ-ขยายฐานลูกค้า

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและบริการให้สินเชื่อเงินผ่อน “ซิงเกอร์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้ไปบริษัทมีนโยบายจะให้ความสำคัญกับการขายสินค้าผ่านช่องทางที่เป็นออนไลน์รวมถึงอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมกับการเดินตลาดของพนักงานที่เป็นจุดแข็งเดิม และเป็นช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้หลักของซิงเกอร์ด้วยการนำแนวคิด O2O หรือออนไลน์ทูออฟไลน์ที่เป็นการดึงผู้บริโภคจากออนไลน์มาปิดการขายในออฟไลน์มาใช้เสริมกลยุทธ์การเดินตลาด

นายกิตติพงศ์ระบุด้วยว่า ตามแผนนี้ซิงเกอร์จะใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ที่บริษัทสร้างและบริหารเอง, แอปพลิเคชั่น Singer home สำหรับอุปกรณ์มือถือทั้ง ISO และ Android รวมถึงช่อง Singer Thailand บนยูทูบมาเป็นช่องทางสร้างการรับรู้ข้อมูลสินค้าและโปรโมชั่น รวมถึงรับคำสั่งซื้อก่อนจะส่งทีมพนักงานขายเข้าไปปิดการขาย

“โดยจะใช้แอปพลิเคชั่น Singer home ที่บริษัทเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นหัวหอกสำหรับเป็นช่องทางช็อปสินค้าและบริการโดยเฉพาะ ด้วยฟังก์ชั่นแสดงข้อมูลสินค้าและโปรโมชั่น รวมถึงการยืนยันตัวตน และส่งเอกสารเช่าซื้อเพื่อให้ลูกค้าเลือกสินค้าและส่งคำสั่งซื้อ จากนั้นจึงส่งทีมขายเข้าไปพบลูกค้าเพื่อรับเอกสารตัวจริง ปิดการขาย และนำสินค้าไปส่ง รวมถึงยังอาจเสนอขายสินค้า-บริการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้สามารถรองรับความหลากหลายของไลน์อัพสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสขายของพนักงานให้มากขึ้น”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาการเปิดรับชำระ-ผ่อนค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตของสถาบันการเงินต่าง ๆ

โดยแม้จะขัดกับโมเดลการขายสินค้าเงินผ่อนที่ปกติบริษัทเป็นผู้ให้สินเชื่อเอง และได้รับกำไรจากดอกเบี้ยซึ่งเป็นจุดแข็งและรายได้หลักมาตลอด แต่การรับชำระ-ผ่อนค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตของสถาบันการเงินนี้ บริษัทจะไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงในเรื่องของหนี้ที่อาจจะสูญเช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสขายสินค้าและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน

สำหรับช่อง Singer Thailand บนยูทูบนั้น กลยุทธ์หลัก ๆ จะมุ่งเจาะตลาดดีไอวาย (Do it yourself-DIY) หรือกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมสร้างของใช้-ทำอาหารด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ชอบทำอาหารและงานหัตถกรรม นับตั้งแต่ทางการมีการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งอาจจะมีปัจจัยมาจากการที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องการจะสร้างรายได้เสริม ซึ่งอาหารและสินค้าหัตถกรรมเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม บริษัทจึงนำกระแสนี้มาสร้างการรับรู้แบรนด์และไลน์สินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ จักรเย็บผ้า, หม้ออบลมร้อน, เตาแก๊ส และอื่น ๆ ด้วยการทำคอนเทนต์วิดีโอแจกสูตรอาหาร, ไอเดียงานหัตถกรรมต่าง ๆ ในชื่อรายการ “กินหรูหลักร้อย” และ “บ้านอิ่มสุข” เน้นความง่าย-วัตถุดิบราคาถูกสามารถทำได้ที่บ้าน โดยใช้สินค้าซิงเกอร์เป็นอุปกรณ์ในการทำหรือเป็นของประกอบฉาก


“เชื่อว่ากลยุทธ์ออนไลน์ทั้ง 2 ส่วนนี้จะช่วยเสริมแกร่งการขายของบริษัทในปีหน้าได้เป็นอย่างมาก” นายกิตติพงศ์กล่าว