โรงพยาบาลเปิดศึก! งัด “ไพรซ์วอร์” ชิงคนไข้

หากจะใช้คำว่า “หายใจได้เต็มปอดมากขึ้น” ก็คงไม่ผิดนักสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่วันนี้ผู้ป่วยคนไทยจะเริ่มทยอยกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่อาจจะยังไม่เต็มร้อยหากเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเมื่อช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทางการเริ่มเปิดประเทศและเปิดรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย และมีโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 65 แห่งที่เข้าร่วมโครงการสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine & AHQ)

ล่าสุดข้อมูลจากศูนย์บริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีคนไข้ชาวต่างชาติและญาติ หรือผู้ติดตาม เดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศมากกว่า 1,600 คนแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารและดำเนินการอีกมากกว่า 2,600 คน

ถึงวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และหลาย ๆ คนคาดว่าจากนี้ไปสถานการณ์ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ

ขณะนี้แม้ว่าในภาพรวมของจำนวนคนไข้จะเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในส่วนของคนไข้นอกตัวเลขเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 80-85% แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ในส่วนของคนไข้ในก็มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 70-80%

แต่อีกด้านหนึ่ง โรงพยาบาลทุกค่ายก็ยังต้องออกแรงทำการตลาดอย่างหนัก ควบคู่กับการเร่งหารายได้จากบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมจากโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและสถานกักตัวทางเลือก เพื่อสร้างรายได้มาชดเชยกับรายได้ที่หายไปตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจ ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของโรงพยาบาลที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าอาจจะดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวลและถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อที่ลดลง ภาพการเลิกจ้าง การปิดกิจการที่มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อดึงคนไข้หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าหลัก ๆ เป็นการแข่งเพื่อแย่งลูกค้าในประเทศหรือคนไทยเป็นหลัก มีการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอย่างหนัก โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับไฮเอนด์ในย่านใจกลางเมือง ที่เดิมเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างประเทศและกลุ่มลูกค้าคนไทยที่มีกำลังซื้อสูง

การที่บำรุงราษฎร์จัดแคมเปญ “สเปเชียลดิสเคานต์” ด้วยการให้ส่วนลดถึง 40% สำหรับค่าห้องพักผู้ป่วยใน และส่วนลด 20% ค่ายา เวชภัณฑ์ lab และ X-ray สำหรับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และยิงยาวไปจนถึงสิ้นปี นอกจากมีเป้าหมายเพื่อดึงลูกค้าคนไทยเพื่อทดแทนคนไข้ชาวต่างชาติลดลงอย่างน่าใจหายแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เป็นการตีกันคู่แข่งไปในตัว

นี่เป็นกลยุทธ์การ “รีเซตไพรซ์” เพื่อลบภาพของค่ารักษาพยาบาลที่สูงของบำรุงราษฎร์ที่เคยมีมาเมื่อในอดีต และนี่ยังไม่รวมถึงการขนโปรแกรมสุขภาพอีกมากกว่า 150 แพ็กเกจ มาเพื่อที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ในราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น หรือล่าสุดก็ยังให้ส่วนลดถึง 5,000 บาทในการลงทะเบียนออนไลน์สำหรับซื้อแพ็กเกจตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

ขณะที่ รพ.กรุงเทพ ล่าสุดได้ปรับรูปแบบการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ โดยการประกาศพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับช้อปปี้ เปิดตัวออฟฟิเชียลสโตร์กับมหกรรม Shopee 11.11 Big Sale ในการจัดแพ็กเกจตรวจสุขภาพ พร้อมโปรโมชั่นลดราคาพิเศษ และเป็นการคัดเลือกชุดตรวจสุขภาพต่าง ๆ ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายของช้อปปี้ อาทิ ชุดตรวจสุขภาพหลักประจำปี ชุดตรวจสุขภาพวิวาห์ ชุดตรวจสุขภาพหัวใจ ชุดตรวจสุขภาพสมอง ชุดตรวจมะเร็งเต้านมและปากมดลูก ชุดตรวจสุขภาพเด็กและสุขภาพฟันตามวัย รายการเสริมความงาม รายการตรวจสุขภาพฟันและการใส่รากฟันเทียม รายการผ่าตัด อาทิ เลสิกไร้ใบมีด RELex การผ่าตัดศัลยกรรมความงาม เสริมหน้าอก เสริมจมูก ฯลฯ

ล่าสุดการมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งใหม่ “เมดปาร์ก” เกิดขึ้นและเพิ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเป็นโรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มเป้าหมายระดับไฮเอนด์เช่นกัน การแข่งขันโรงพยาบาลในย่านดาวน์ทาวน์จึงร้อนระอุมากขึ้น ทั้งแง่ของการแย่งชิงคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา แม้จะมีเรื่องความตื่นกลัวไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยและกระทบกับธุรกิจโรงพยาบาล แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายธุรกิจโรงพยาบาลก็เริ่มกลับคืนมา และค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น คนไข้กลับมาใช้บริการหนาตามากขึ้น แต่ตอนนี้สิ่งที่กระทบกับธุรกิจโรงพยาบาลเป็นเรื่องของเศรษฐกิจล้วน ๆ

หากสังเกตจะพบว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือ โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งจึงทยอยงัดแคมเปญออกมาดึงลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เปาโล สาขาพหลโยธิน (สะพานควาย) มีโปรแกรมพิเศษเป็นการขายแพ็กเกจผ่านออนไลน์ เช่น ดีลสุขภาพดี มีโปรฯ Healthy Friday Deal ทุกวันศุกร์ (จอง-จ่ายได้เฉพาะวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563) ตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B ตรวจหาไวรัสตับอักเสบ A และ C ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับและลำไส้ ตรวจการทำงานของตับ (SGOT, SGTP) และตรวจไขมันเกาะตับ ในราคาเพียง 590-990 บาท

จากก่อนหน้านี้ที่เปาโลเพิ่งสิ้นสุดแคมเปญโปรแกรมตรวจ Check & Sure 20 รายการ (กันยายน-31 ตุลาคม 2563) พร้อมอัลตราซาวนด์ ในราคา 6,900 บาท และรับความคุ้มค่าเพิ่ม 5 ต่อ ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยระบบดิจิทัลแมมโมแกรม, ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน, ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่าง, ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก 1 ส่วน, เอกซเรย์เข่า, เอกซเรย์หลัง ในราคา 390 บาท/โปรแกรม เช่นเดียวกับพญาไทที่มีแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ในราคา 7,900 บาท รับฟรีประกันสุขภาพ คุ้มครอง 1 แสนบาท

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแคมเปญทางการตลาดที่โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งออกมาเพื่อสร้างรายได้ในช่วงโค้งท้าย และประคับประคองให้ผ่านพ้นปีนี้ไปก่อน อย่างน้อยที่สุดโรงพยาบาลหรือบริการทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งจำเป็น และผู้ประกอบการทุกค่ายล้วนมั่นใจว่าความต้องการจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว