ร้านกาแฟ 3.8 หมื่นล้านเดือด OR เข้าตลาดหุ้น หนุน “อเมซอน” โตกระฉูด

ร้านกาแฟ Amazon

ตลาดร้านกาแฟ 3.8 หมื่นล้านร้อนฉ่า “อเมซอน” กางแผนผุดสาขาแบบรัว ๆ หลังบริษัทแม่ “โออาร์” เข้าตลาดหุ้น ตั้งเป้า 5 ปี ทะลุ 5,800 แห่ง เฉลี่ยปีละกว่า 500 สาขา สยายปีกลุยนอกปั๊มน้ำมัน วงการชี้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น รายกลาง-รายเล็กดิ้นปรับตัวฝุ่นตลบ โอดอำนาจต่อรองไม่พอ หาทำเลทอง-วัตถุดิบยาก ทำต้นทุนสูง

หลังการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ด้วยการระดมทุนมากถึง 5.3 หมื่นล้านบาท พร้อมกับเป้าหมายการขยายสาขาร้านกาแฟอเมซอน หนึ่งในธุรกิจเรือธงให้มีจำนวนสาขาถึง 5,800 แห่งภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีสาขามากกว่า 3,200 แห่ง หรือเฉลี่ยต้องเปิดแบบปูพรมมากกว่า 520 สาขา/ปี

อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ตลาดกาแฟสดที่ว่ากันว่ามีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท กระเพื่อมขึ้นมาทันที

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านกาแฟและเจ้าของแฟรนไชส์ร้านกาแฟสดรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเร่งสปีดขยายสาขาของร้านอเมซอนดังกล่าวจะเอฟเฟ็กต์กับตลาดร้านกาแฟสดมากขึ้น จากเดิมที่ตลาดนี้ก็มีการแข่งขันรุนแรงอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการขยายสาขาและการหาทำเลหรือโลเกชั่นดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน สถานที่หรือหน่วยงานราชการ จะทำได้ยากขึ้น หรือหากทำได้ก็จะมีต้นที่สูงขึ้น จากอำนาจต่อรองและเงินทุนที่เป็นรอง เนื่องจากปัจจุบันโลเกชั่นหลักในการขยายธุรกิจของร้านกาแฟอเมซอนก็ไม่ใช่ในปั๊มแล้ว แต่ที่ผ่านมาได้เริ่มขยายสาขาไปโลเกชั่นรองลงมา ไม่ว่าจะเป็น อาคารพาณิชย์ตามชุมชน คอมมิวนิตี้มอลล์ และอื่น ๆ

“จากการแข่งขันที่สูงขึ้น จากนี้ไปจะต้องปรับแผนการดำเนินและกลยุทธ์ทางการตลาดเป็นระยะ ๆ เช่น สาขาไหนที่ไม่มีกำไรหรือเลี้ยงตัวเองไม่ได้ก็ต้องปิด และหาทำเลใหม่มาทดแทน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการทำการตลาดในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น”

สอดคล้องกับความเห็นของผู้บริหารร้านกาแฟระดับเอสเอ็มอีรายหนึ่งที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากการที่ ปตท.มีการเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่ง และมีเน็ตเวิร์กที่ใหญ่สำหรับการดำเนินธุรกิจร้านกาแฟในอนาคต ทั้งโรงงานคั่วกาแฟ โรงเบเกอรี่ ระบบซัพพลายและโลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง ซึ่งทำให้สามารถคุมต้นทุนในบริษัทได้เป็นอย่างดี มีกำไรมากขึ้น เนื่องจากสเกลของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น จะเป็นผลดีต่อระบบการขยายแบบแฟรนไชส์ และสามารถขยายและเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้ธุรกิจร้านกาแฟจากนี้ไปมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยกลุ่มร้านขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบบ้างพอสมควรในเรื่องของต้นทุนที่สูงกว่า และอาจจะทำให้ต้องขายสินค้าในราคาสูงกว่า ขณะเดียวกันก็จะหาทำเลได้ยากขึ้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องเร่งปรับตัวด้วยการเพิ่มลูกเล่น มีมิติมากขึ้น เช่น การเพิ่มโปรดักต์กาแฟ ที่อาจจะออกมาในรูปของสเปเชียลตี้คอฟฟี่มากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขัน

“ปีนี้ธุรกิจร้านกาแฟน่าจะมีความคึกคักและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดล้วนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ นอกจาก อเมซอน คาเฟ่ ก็ยังมีอินทนิลของบางจาก มีออลล์ คาเฟ่ ของเซเว่นอีเลฟเว่น รวมทั้งยังมีบาวคาเฟ่ ของซีเจ เอ็กซ์เพรส เป็นต้น”

แหล่งข่าวระดับสูงจากร้านกาแฟรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความได้เปรียบในเรื่องของเงินทุน เชื่อว่าจากนี้ไปการขยายสาขาของร้านกาแฟอเมซอน จะมุ่งไปที่โลเกชั่นระดับรอง ๆ มากขึ้น เช่น การเปิดทำเลนอกปั๊ม อาคารพาณิชย์ และพื้นที่อื่น ๆ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ตลาดร้านกาแฟมีการแข่งขันที่รุนแรงและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น และทำให้ธุรกิจร้านกาแฟรายอื่น ๆ ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันหรือไม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ของแต่ละค่ายที่จะปรับทัพออกมารับมือกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าร้านกาแฟเมืองไทยหลังจากนี้จะมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายมารุต ชุ่มขุนทด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” (Class Cafe) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ธุรกิจร้านกาแฟเป็นตลาดใหญ่ ทำให้มีนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็กกระโดดเข้ามาจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันการทำตลาดนั้นไม่ง่าย นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว ยังมีเรื่องการแข่งขันสูง

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าปัจจุบันกลยุทธ์การขยายสาขาแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์นัก เพราะการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงสูง แม้ว่าการมีสาขาจำนวนมากจะเป็นความแข็งแรง แต่บริบทวันนี้เปลี่ยนไป ดิจิทัลดิสรัปชั่นเข้ามาทดแทนและเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ส่วนตัวมองว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่กระทบกับคลาส คาเฟ่ เนื่องจากวิชั่นของการเติบโตวันนี้ ได้เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลมาแทนการขยายสาขา เพราะหัวใจของคลาส คือ digital disruption ดังนั้นจึงต้องสร้างพฤติกรรมใหม่ สร้างโปรดักต์ใหม่ให้แข็งแรงมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองเรื่องของเมล็ดกาแฟที่เป็นวัตถุดิบหลัก รายเล็กอาจจะหาซื้อได้ยากและมีราคาสูงขึ้น สำหรับคลาส คาเฟ่เอง ได้หันไปนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว” นายมารุตกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านความเคลื่อนไหวของร้านกาแฟอินทนิล ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นร้านกาแฟเบอร์ 2 รองจากอเมซอน ล่าสุดร้านกาแฟอินทนิลยังเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ครบ 1,000 สาขา ภายในปี 2564 จากปัจจุบันมีสาขาประมาณ 600 สาขา ทั้งสาขารูปแบบสแตนด์อะโลน ในสถานีบริการน้ำมัน และนอกสถานีบริการน้ำมัน อาทิ ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนาระบบแฟรนไชส์สำหรับนักลงทุนที่สนใจ