วัคซีนทางเลือกดีมานด์ทะลัก รุมจองโมเดอร์นา 10 ล้านโดส

วัคซีนโมเดอร์นา
(Photo by GUILLAUME SOUVANT / AFP)

รพ.เอกชนเด้งรับโมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม ทยอยสำรวจดีมานด์ เผยแผนหารือองค์การเภสัชฯ ขยายปริมาณการนำเข้าเป็น 10 ล้านโดส เตรียมเคาะราคา คาดถึงไทยเร็วสุดสิงหาคม “อนุทิน” ยันมิถุนายน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบตามแผน “ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์” จ่อขึ้นทะเบียน

ความชัดเจนของการนำเข้าวัคซีนทางเลือกที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากวัคซีนโมเดอร์นา ที่นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการเร่งจัดหาวัคชีนทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย รวมทั้งล่าสุดจากกระแสข่าวการมีวัคซีนตัวใหม่ ซิโนฟาร์ม โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ที่ได้ยื่นเอกสารและอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนจาก อย. ทำให้โรงพยาบาลเอกชนเริ่มมีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ

แห่สำรวจดีมานด์วัคซีนทางเลือก

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับรองการขึ้นทะเบียนตำรับยาของวัคซีนโควิดโมเดอร์นา ที่นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา แล้วเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เริ่มทยอยทำการสำรวจความต้องการในการฉีดซีนทางเลือก โมเดอร์นา ผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ของกูเกิล โดยมีการเปิดสำรวจความต้องการทั้งกรณีที่เป็นบุคคลและบริษัท หรือองค์กร ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียน ระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ (อีเมล์)

ซึ่งการสำรวจความเห็นดังกล่าวจะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า แบบสำรวจนี้ทำเพื่อสำรวจจำนวนความต้องการในการจองวัคซีนเท่านั้น ไมใช้การจองวัคซีนจริง ไม่มีการเก็บเงินมัดจำหรือค่าวัคซีนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การนำเข้าวัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนที่นอกเหนือจากการจัดการของภาครัฐ โดยหลักจะเป็นการนำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และองค์การเภสัชฯจะนำมากระจายต่อให้โรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการจะนำไปฉีดให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปริมาณการนำเข้าอาจจะต้องขยายเป็น 10 ล้านโดส จากเบื้องต้นที่มีตัวเลขประมาณ 5 ล้านโดส ส่วนราคาขณะนี้ยังไม่ได้มีการสรุปหรือกำหนด คาดว่าปลายสัปดาห์นี้ (24-28 พฤษภาคม) น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งโดยหลักจะเป็นการคิดจากต้นทุนวัคซีน บวกค่าบริการ บวกค่าประกัน และเวลาการนำเข้าคาดว่าอาจจะเป็นประมาณตุลาคมนี้ หรือหากเร็วสุดอาจจะเป็นเดือนสิงหาคม-กันยายน

“คำนวณคร่าว ๆ โมเดอร์นา ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 35-37 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อบวกค่าบริการ บวกประกัน ราคาต่อโดสน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท บวกลบนิดหน่อย และจะเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า นอกจากโมเดอร์นาแล้ว หากซิโนฟาร์มที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. ได้รับการขึ้นทะเบียนและมีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งก็พร้อมจะซื้อเพื่อนำมากระจายหรือเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน หรือบริษัทที่สนใจ โดยส่วนตัวเชื่อว่าขณะนี้ ประชาชนจำนวนมากต้องการมีตัวเลือกที่มากกว่าที่เป็นอยู่ และพร้อมที่จะเสียเงินจ่ายซื้อวัคซีนเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีการสำรวจดีมานด์ อาทิ กลุ่มบางกอกเชน ฮอสปิทอล หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์, โรงพยาบาลวิมุต เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งได้เริ่มได้มีความเคลื่อนไหวในการเน้นการให้ความรู้เรื่องวัคซีนทางเลือก ผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลพระราม 9 และโรงพยาบาลนนทเวช

รพ.เอกชนแห่จองโมเดอร์นา

นายแพย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเครือธนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ได้ติดต่อขอซื้อวัคซีนโมเดอร์นา จาก อภ. 5 ล้านโดส และจากการสำรวจความต้องการที่ผ่านมาพบว่า มีองค์กรใหญ่ ๆ ติดต่อมาเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการเกินกว่า 2 ล้านโดส

ทั้งนี้ หาก อภ.อนุญาตนำเข้าครบ 5 ล้านโดส ส่วนหนึ่งจะนำมาฉีดให้ผู้ที่สนใจในโรงพยาบาลธนบุรี อีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายต่อให้แก่โรงพยาบาลเอกชนรายอื่น ๆ ที่ต้องการเพื่อกระจายวัคซีนต่อไป

เช่นเดียวกับ พญ.ศิเรมอร ทองสิมา รองผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน เปิดเผยว่า ขณะนี้นครธนได้จองวัคซีนกับองค์การเภสัชกรรมจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ตามจำนวนที่ต้องการหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ความต้องการวัคซีนทั่วโลกยังมีสูง โควตาของไทยอาจต้องไปเบียดกับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้ได้วัคซีนจำนวนหนึ่งมา อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าวัคซีนทางเลือกนี้จะเข้ามาช่วงไตรมาส 4

ขณะที่ นายธานี มณีนุตร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการของเครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ พบว่ามีบุคคลทั่วไปและกลุ่มองค์กรที่แจ้งความประสงค์เข้ามากว่า 25,000 ราย และยังคงมีเข้ามาต่อเนื่อง และคาดว่าวัคซีนจะเข้ามาได้ราวไตรมาส 4 ปีนี้

“ซิโนฟาร์ม” จ่อขึ้นทะเบียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายืนยันมีกำหนดส่งมอบในเดือนมิถุนายน โดยสัญญาระบุว่า กรมควบคุมโรค และแอสตร้าฯตกลงกันทุกเดือน ในการกำหนดวัคซีนที่ฉีดได้ในแต่ละเดือน กรมควบคุมโรคจะหารือกับแอสตร้าฯเพื่อวางแผนแต่ละเดือน

ส่วนตัวเลข 6 ล้านโดส 10 ล้านโดส เป็นไกด์ไลน์ ไม่ได้กำหนดในสัญญา และมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ตอนนี้กระทรวงแรงงานก็จะฉีดเอง สธ.ก็ต้องมาปรับ แต่วัคซีนต้องฉีดให้หมด ไม่มีเก็บ

นายอนุทินยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ไฟเซอร์ยื่นเอกสารเทอมชีตมาแล้ว และส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่ารับเงื่อนไขได้หรือไม่ มีเวลา 14 วัน ในการเซ็นลงนามโดยกรมควบคุมโรค หากเซ็นแล้ว ไฟเซอร์จะยื่นเอกสารมาจดทะเบียน หลังจากนั้น 30 วัน จะมาคุยกันเรื่องสัญญาจัดซื้อ จัดหา และการจัดส่ง จากนี้ถึงสิ้นปีทั้งหมด 20 ล้านโดส เงื่อนไขอะไรรับได้ก็รับ

“วันนี้วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ใคร ๆ ก็สามารถซื้อได้ มีหลายทางเลือก ตอนนี้มีซิโนแวก แอสตร้าเซนเนก้า จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และโมเดอร์นา ถ้าวันศุกร์นี้ (28 พ.ค.) ไม่มีอะไรผิดพลาด เอกสารซิโนฟาร์มครบ ก็น่าจะมีซิโนฟาร์มด้วย และถ้าไฟเซอร์ส่งเอกสารครบ ก็น่าจะมีไฟเซอร์ตามมา” นายอนุทินกล่าว