ทำไมลิขสิทธิ์บอลยูโรในไทยถึงไม่มีใครแย่งกันซื้อ

บอลยูโร 2020
ภาพจากเฟซบุ๊ก NBT2HD

ลิขสิทธิ์บอลยูโร 2020 วุ่น จากพิษเศรษฐกิจ-โควิด “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” ควัก 300 ล้านบาท ซื้อ 51 แมตซ์ถ่ายสดNBT

ดีลร้อนแห่งปีก็คงไม่ผิดนัก เพราะไทยเพิ่งได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 มาหมาดๆ เพียง 30 ชั่วโมงก่อนที่การแข่งขันแมตซ์แรกจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา

ปรากฎชื่อสปอนเซอร์คนสำคัญ “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ Aerosoft  ที่มีศักดิ์เป็นพี่ชายของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีอุตสาหกรรม  ด้วยการควักเงินกว่า 300 ล้านบาท คว้าสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโร 2020 แบบฟรีๆ

ด้วยการถ่ายทอดสดผ่านช่อง NBT2HD ครบ 51 นัด  ส่วนการแข่งขันพร้อมกัน 2 คู่ จะมีฟรีทีวีอีกช่องเข้าร่วมถ่ายทอดสดด้วย

ย้อนดูเคสบอลโลก

หากย้อนกลับมาพิจารณา ปัจจัย เหตุผล ว่า ทำไมลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬา จึงไม่มีเอกชนรายใด กล้าเสี่ยง

เคสสำคัญน่าสนใจ คือ กรณีฟุตบอลโลก2014 ที่อาร์เอสได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในไทย โดยมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนในการหารายได้จากการขายกล่อง ซันบ็อกซ์ และรายได้จากการสมัครสมาชิก ทำให้ช่องฟรีทีวีที่อยู่บนแพลตฟอร์มจานดาวเทียมต้องจอดำ โดยขณะนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ก็เพิ่งเริ่มต้นขึ้น

ท้ายที่สุด กสทช. ออกกฎ must have  เข้ามาควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุจอดำขึ้นอีก

หลังจากนั้น เอกชน ก็ออกอาการ กล้าๆ กลัวๆ เพราะเมื่อซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วก็ต้องแบ่งให้ทุกแพลตฟอร์มออกอากาศด้วย

ขณะเดียวกันการแข่งขันฟุตบอลโลก2018 ก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกับยูโร2020 ครั้งนี้มาแล้ว เพราะไม่มีภาคธุรกิจเข้าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก2018 มาออกอากาศแม้จะอยู่ในกฎ must haveที่กำหนดให้ช่องฟรีทีวีต้องออกอากาศรายการกีฬา 7 รายการ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกีฬาซีเกมส์ (South-East Asian Games, SEA Games)

การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games) การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย หรือเอเชียนเกมส์ (Asian Games) การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games) และการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)

โดย ครั้งนั้น รัฐบาลให้เอกชน  9 ราย เช่น บีทีเอส ไทยเบฟฯ กลุ่มซีพี กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ปตท. เป็นต้น ร่วมลงขันกันเข้าซื้อลิขสิทธิ์กว่า 1,400 ล้านบาท  และยังไม่นับรวมเม็ดเงินการตลาดที่แต่ละรายต่างทุ่มงบลงไปอีก บางรายสูงถึง 100 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินโฆษณา รายได้ที่เอกชนแต่ละรายได้รับกลับน้อยกว่าค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายไป

ต้นทุนกีฬาพุ่ง พิษโควิด

ขณะที่  ความแตกต่างลิขสิทธ์บอลโลก กับ ยูโร คือ ฟุตบอลยูโร ไม่ได้อยู่ในกฎ must have

นั่นหมายถึง เอกชน หรือ  แม้แต่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(T.V POOl) ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อมาออกอากาศก็ได้

ประกอบกับ ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์กีฬาก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเศรษฐกิจโดยรวมปีนี้ที่ไม่เติบโต เพราะต้องเผชิญกับพิษโควิด-19

ดังนั้นการเสี่ยงซื้อลิขสิทธิ์กีฬาในราคาสูงๆช่วงนี้ อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย และอาจจะหารายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นเหตุผลอันดับแรกๆที่ เอกชน ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ

จากเคสบอลโลก2014 ถึง ฟุตบอลยูโร2020 ครั้งนี้ การแก้ปัญหา ด้วยการดึงเอกชนกระเป๋าหนักเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ อาจจะไม่ใช่ทางออกระยะยาว แต่เป็นการแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น ๆ


ซึ่งบอลยูโร 2020 อาจจะไม่ใช่เคสสุดท้าย  คอบอลชาวไทยก็ต้องลุ้นระทึกต่อว่า  บอลโลกครั้งหน้า จะมี ป๋า กระเป๋าหนักอีกไหม ซึ่งถ้าไม่มีเอกชน สนใจ รัฐบาล ก็ต้องเป็นผู้ควักกระเป๋าจ่ายแน่นอน