โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ถึงไทยเมื่อไหร่ ? เสี่ยงหัวใจอักเสบแต่กันโควิดหลายปี ?

โมเดอร์นา-ไฟเซอร์ ถึงไทยเมื่อไหร่
FILE PHOTO : REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/

สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงภาวะหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นา-ไฟเซอร์ พร้อมอัพเดตความคืบหน้าการดำเนินการจัดหาวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ของประเทศไทย 

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง ความเสี่ยงภาวะหัวใจอักเสบ ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA โดยอ้างข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา FDA ได้ออกประกาศ เพิ่มคำเตือนความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยากภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด19 ชนิด mRAN (Pfizer และ Moderna)

โดยการเพิ่มคำเตือนดังกล่าวนี้เป็นไปตามมติของคณะผู้เชี่ยวชาญจาก CDC ในการประชุมเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติของบุคลากรที่ให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

โมเดอร์นา-ไฟเซอร์ กับความเสี่ยงภาวะหัวใจอักเสบ

ข้อมูลของ CDC ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกามีรายงานการเกิด Myocarditis และ Pericarditis ในกลุ่มผู้มีอายุน้อย ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ราว 1,000 ราย ขณะที่มีการฉีดวัคซีนชนิดดังกล่าวแล้วกว่า 100 ล้านโดส โดยมีอัตราการเกิดภาวะหัวใจอักเสบ ภายหลังจากการฉีดวัคซีนชนิก mRNA โดยรวมประมาณ 12.6 รายต่อ 1 ล้านการฉีด

ผู้เชี่ยวชาญของ CDC ได้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด พบว่าภาวะที่พบได้ยากนี้มีรายงานมากในเพศชายอายุน้อย (16-39 ปี) โดยมักพบภายหลังการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 มากกว่าหลังการฉีดโดสแรก และอาจพบอาการได้ภายหลังจากได้รับวัคซีนแล้วหลายวัน อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับวัคซีนที่มีอาการดังกล่าวสามารถหายได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับการรักษาและมีการพักผ่อนที่เพียงพอ

สำหรับการเฝ้าระวังภาวะ Myocarditis และ Pericarditis ภายหลังการฉีดวัคซีนนั้น ผู้รับวัคซีนควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือรู้สึกว่ามีอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นแรงหลังฉีดวัคซีน โดยอาการที่เกิดขึ้นมักพบภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ CDC ยังคงมีคำแนะนำให้ผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงที่ทราบและอาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ FDA และ CDC อยู่ระหว่างติดตามรายงาน เพื่อรวบรวมข้อมูล รวมทั้งติดตามผลเพื่อประเมินผลลัพธ์ของการใช้วัคซีนในระยะยาว และจะมีการเผยแพร่ให้ทราบเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม

โมเดอร์นา-ไฟเซอร์ ต้านทานโควิดได้หลายปี

มติชน รายงานว่า ผลการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกไปเมื่อ 7 เดือนก่อน โดยนักวิจัยระบุว่า ผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ส่วนใหญ่มั่นใจได้ว่าจะมีภูมิต้านทานต่อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ยาวนานหลายปี

ดร.อัลลี เอลเลเบดี หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า การตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างแข็งแกร่งพบได้ที่ศูนย์กลางเจอร์มินอล ที่อยู่ในต่อมน้ำเหลือง และฝึกฝนแอนติบอดีให้รู้จักการต่อต้านเชื้อไวรัส โดย ดร.เอลเลเบดี ระบุว่า การตอบสนองนั้นจะอยู่นานเป็นเวลาหลายปี

การศึกษาดังกล่าวติดตามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คน เป็นเวลา 5 เดือนหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และพบว่า ศูนย์กลางเจอร์มินอลยังคงผลิตเซลส์ภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิดอยู่ แม้จะเป็นเวลา 15 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนไปเพียงเข็มเดียวก็ตาม และจะสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี โดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม

ดร.เอลเลเบดีกล่าวอีกว่า วัคซีนป้องกันผู้ฉีดได้จากสายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะป้องกันสายพันธุ์ที่ยังไม่มีการค้นพบได้หรือไม่ และหากมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมจากนี้การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่แนะนำ

ทั้งนี้ นักวิจัยศึกษาเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ แต่ก็คาดการณ์ไว้ด้วยว่าวัคซีนโมเดอร์นาที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ก็จะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิต้านทานไม่แตกต่างกัน

โมเดอร์นายันกันเดลต้าได้

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บริษัท โมเดอร์นา อิงก์ ยืนยันว่าวัคซีนบริษัท เมื่อฉีดครบทั้ง 2 โดสจะมีประสิทธิภาพในการสร้างแอนติบอดีต่อต้านสายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียได้

บริษัทยืนยันประสิทธิภาพจากการเก็บข้อมูลเลือดของผู้ที่เข้าร่วมการทดลอง 8 คน หนึ่งสัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณาตรวจสอบ (peer review) รวมทั้งยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานจริงอย่างไร

นายสเตฟาน บานเซล ซีอีโอโมเดอร์นา เผยว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะศึกษาโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อรวบรวมและแบ่งปันข้อมูล โดยข้อมูลจากการทดลองล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนโควิดของโมเดอร์นายังคงมีประสิทธิภาพที่จะสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโควิดระหว่างที่สายพันธุ์เดลต้ากำลังแพร่ระบาด นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติใช้งานวัคซีนโมเดอร์นาที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการรายงานพบสายพันธุ์เดลต้าเป็นประเทศแรก

ความคืบหน้าวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย

  • ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้กำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้แก่ รพ.เอกชน แล้ว
  • เคาะราคาขายที่โดสละ 1,100 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล
  • หลังจากนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะกำหนดราคากลางค่าบริการฉีดที่เป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลต่อไป
  • แต่ละ รพ.จะประกาศให้ประชาชนสั่งจองหรือยืนยันการจองอย่างเป็นทางการในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อส่งจำนวนการจองของแต่ละ รพ.ให้กับ อภ.อย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินการจัดสรรให้สอดคล้องกับจำนวนที่บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด นำเข้ามา
  • บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด จะทยอยจัดส่งให้ในงวดแรกในไตรมาส 4/2564 ประมาณจำนวน 3.9 ล้านโดส และงวดที่ 2 ในไตรมาส 1/2565 จำนวน 1.1 ล้านโดส
  • เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายจอห์น แกรมห์ ซีอีโอของซิลลิค ฟาร์มา ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จองซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเกือบเกลี้ยงแล้วในปีนี้ โดยการสั่งซื้อในปัจจุบันจะเป็นสำหรับปีหน้า

ความคืบหน้าวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทย

  • เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. วัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด ได้มายื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว โดยบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ยื่นเอกสารขออนุญาต และ อย.อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน
  • เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.อยู่ระหว่างการลงนามบันทึกการสั่งซื้อวัคซีน หลังจากนั้นบริษัทจะนำเอกสารมายื่นขอทะเบียนที่ อย. ซึ่งหากเอกสารทุกอย่างไว้ครบหมดแล้ว อย.สามารถอนุมัติได้ภายใน 1 เดือน
  • วันที่ 23 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และลงนามในเทอมชีท (Term Sheet) ร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย แต่ทางบริษัทแจ้งว่าสามารถส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ในไตรมาส 4
  • นายอนุทินเผยอีกว่า ยอดการสั่งซื้อ 20 ล้านโดส เป็นยอดที่บริษัทแจ้งว่าจะสามารถจัดสรรให้ประเทศไทยได้ภายในปีนี้ เพราะวัคซีนยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกมีความต้องการสูง และได้พยายามเจรจาเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด
  • ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.) นายอนุทินเผยว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาขั้นสุดท้าย หรือสัญญาซื้อขายกับทางไฟเซอร์ หลังจากคราวก่อนที่เซ็นเทอมชีทหรือหนังสือเหมือนเอ็มโอยู

“แต่ยังมีบางข้อความ ที่สำนักอัยการสูงสุดเร่งตรวจสอบอยู่ เพราะบางข้อความก็รับได้ บางข้อความก็ยังรับไม่ได้ และให้กรมควบคุมโรคเร่งเจรจา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กระทบกับการจัดส่ง เพราะมีข้อกำหนดอยู่ในเทอมชีตที่ระบุว่าจะส่งในไตรมาส 4 เพราะฉะนั้นวัคซีน mRNA ที่ใกล้มือเราที่สุดตอนนี้ คือ ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และก็ต้องให้กำลังใจคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พัฒนาวัคซีน mRNA ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก คาดหวังว่าจะนำมาใช้ได้ในอนาคตอันใกล้” นายอนุทินกล่าว