สธ.แจงไทม์ไลน์ แอสตร้าเซนเนก้า ยันไม่ได้สั่งช้า-เจรจาขอ 61 ล้านโดส

แอสตร้าเซนเนก้า
REUTERS/Yves Herman/File Photo

สธ.เปิดไทม์ไลน์แอสตร้าฯ โต้หนังสือหลุด เผยวัคซีนเข้าไทยรวม 8.1 ล้านโดส รัฐเจรจากับบริษัทต่อเนื่อง ขอวัคซีน 61 ล้านโดสในสิ้นปี 64

วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 จากกรณีวัคซีนโควิด-19 ในไทยขาดแคลน ไปจนถึงหนังสือหลุดเรื่องการขอเพิ่มจำนวนวัคซีนเป็นจำนวนเดือนละ 10 ล้านโดส จากเดิมที่เคยตกลงไว้เดือนละ 3 ล้านโดสระหว่างแอสตร้าฯ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า แจกแจงต้อตอปัญหาเกิดจากไทยสั่งวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น ๆ นั้น

ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) เปิดเผยถึงกรณีการเจรจากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยระบุว่า สำหรับการรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-16 ก.ค.2564 รวมทั้งสิ้น 8,193,500 โดส โดยแบ่งได้ดังนี้

1.วันที่ 28 ก.พ. จำนวน 117,300 โดส 

2.วันที่ 28 พ.ค. จำนวน 242,100 โดส 

3.วันที่ 4 มิ.ย. จำนวน 1,787,100 โดส 

4.วันที่ 16 มิ.ย. จำนวน 610,000 โดส 

5.วันที่ 18 มิ.ย. จำนวน 970,000 โดส 

6.วันที่ 23 มิ.ย. จำนวน 593,300 โดส 

7.วันที่ 25 มิ.ย. จำนวน 323,600 โดส 

8.วันที่ 30 มิ.ย. จำนวน 846,000 โดส 

9.วันที่ 3 ก.ค. จำนวน 590,000 โดส 

10.วันที่ 9 ก.ค. จำนวน 555,400 โดส 

11.วันที่ 12 ก.ค. จำนวน 1,053,000 โดส 

12.วันที่ 16 ก.ค. จำนวน 505 ,700 โดส 

ทั้งนี้ การจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มตั้งแต่การระบาดโควิดระยะแรกในเดือน เม.ย. และในเดือน ส.ค. กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิดได้ภายในประเทศ 

จากนั้นวันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น

วันที่ 9 ต.ค. 63 รมว.สธ.ได้ออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินฯ วันที่ 17 พ.ย. 63 ครม.เห็นชอบการจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้า 26 ล้านโดส 

ต่อมา 27 พ.ย. 2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล คือ แอสตร้าฯ ประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค และวันที่ 5 ม.ค. 2564 ครม.เห็นชอบสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส 

วันที่ 20 ม.ค. อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน วันที่ 23 ก.พ. ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เพิ่ม 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส

กระทั่งวันที่ 2 มี.ค. ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน ซึ่งกรมควบคุมโรคก็มีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส โดยประสานกับแอสตร้าฯประเทศไทย จากนั้นวันที่ 25 มี.ค.2564 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย

“สังเกตได้ว่าเวลาเราส่งสัญญาไป ทางแอสตร้าฯลงนามสัญญากลับมาจะใช้เวลา 2 เดือน ซึ่ง คร.ได้รับสัญญาวันที่ 4 พ.ค. เห็นได้ว่าเรามีการดำเนินการต่อเนื่อง และใช้เวลาพอสมควร ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย.2564 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ กรอบ 61 ล้านโดสตั้งแต่มิ.ย.-ธ.ค.64” อธิบดีกรมควบคุมโรค

อย่างไรก็ดี สำหรับหนังสือที่บริษัทแอสตร้าฯ ส่งถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอยืนยันว่าเป็นหนังสือที่บริษัทขอบคุณที่นายอนุทินสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัท แอสตร้าฯ

ส่งผลให้แอสตร้าฯ สามารถผลิตวัคซีนได้ในภูมิภาคอาเซียน และนอกอาเซียน ทั้งหมด 8 ประเทศ รวมทั้งรายงานด้วยว่า การส่งวัคซีนให้ตั้งแต่ต้น ซึ่งกำหนดการส่งวัคซีนตกลงกันว่า จะส่งมอบได้ในโรงงานที่ผลิตในไทยช่วง มิ.ย. แต่ก็ส่งให้ไทยล่วงหน้าตั้งแต่ ก.พ.

ส่วนประกาศต่อมามีการพูดถึงวัคซีนที่มีการสั่งจองกับเขา โดยไทยจองมากที่สุดในภูมิภาค 61 ล้านโดส จาก 8 ประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของวัคซีนที่มีการจองในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบริษัทยืนยันว่า จะส่งให้เราได้อย่างน้อย 1 ใน 3 จากวัคซีนที่ผลิตได้ 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค มีหนังสือแจ้งบริษัทแอสตราฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. โดยแจ้งขอวัคซีนล่วงหน้าทุกเดือน เพื่อให้ครบ 61 ล้านโดส ดังนี้

1.เดือน มิ.ย. จำนวน 6 ล้านโดส 

2.เดือน ก.ค. จำนวน 10 ล้านโดส 

3 เดือน ส.ค. จำนวน 10 ล้านโดส 

4.เดือน ก.ย. จำนวน 10 ล้านโดส 

5.เดือน ต.ค. จำนวน 10 ล้าน โดส 

6.เดือน พ.ย. จำนวน 10 ล้านโดส 

7.เดือน ธ.ค. จำนวน 5 ล้านโดส 

นพ.โอภาส ย้ำว่าการส่งหนังสือเป็นการยืนยันว่าไทยต้องการวัคซีนเท่าไร แต่การส่งมอบก็ขึ้นกับกำลังการผลิตของแอสตร้าฯ ดังนั้น การขอจึงอาจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับรายละเอียดในหนังสือที่ว่า แอสตร้าฯจะส่งให้ 3 ล้านโดสนั้น ในหนังสือได้อ้างอิงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย 63 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล 

โดยในเดือน ก.ย.63 ตอนนั้นมีการสอบถามว่า ความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยมีเท่าไรข้อมูลเบื้องต้นในตอนนั้น ฉีดได้ 3 ล้านโดส แต่ความเป็นจริง กรมควบคุมโรคไม่เคยบอกเป็นทางการ ว่าเราจะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดส เพราะจริง ๆ เรามีการแจ้งเป็นทางการกับแอสตร้าฯว่า เรามีขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส หากมีวัคซีนเพียงพอ 

ดังนั้น ข้อมูลที่ว่าแอสตร้าฯ จะส่งให้เราได้เท่าไร มีสองส่วนคือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิตของเขา ซึ่งสองส่วนนี้ต้องเชื่อมต่อกันและเป็นการส่งวัคซีนจริง

เมื่อถามว่าก่อนทำสัญญามีการระบุตัวเลขอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ในชุดสัญญา 3 ฝ่าย ประกอบด้วยแอสตร้าฯ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นการจองล่วงหน้า จึงระบุไม่ได้ว่า เขาผลิตเท่าไหร่อย่างไร การผลิตและการส่งมอบจึงต้องเจรจาเป็นรายเดือน 

ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศ ทางแอสตร้าฯ ก็ไม่ได้แจ้งเราในสัดส่วนตอนทำสัญญา แต่ในสัญญาระบุว่า หากต้องส่งออกไปต่างประเทศ ขอให้ไทยสนับสนุน ไม่ขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร

“แอสตร้าฯ ยังส่งวัคซีนให้เราต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ราว 15 ล้านโดส/เดือน หากคิด 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต ไทยจะได้ 5 ล้านโดส แต่ก็ต้องมีการเจรจา เพราะเรายืนยันว่า อย่างไรเสีย 61 ล้านโดสหากเป็นไปได้ต้องได้ภายในสิ้นปี ซึ่งก็ต้องมีการเจรจารายเดือนต่อไป ส่วนที่มีข่าวว่า จะขยาย พ.ค.65 ก็ต้องเจรจาต่อไป แต่แอสตร้าฯ ไม่เคยระบุกรณีนี้”