แอสตร้าฯเผย ไม่พบการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เกล็ดเลือดต่ำเพิ่ม หลังฉีดเข็ม 2

แอสตร้าเซนเนก้า เผย ไม่พบการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำเพิ่มขึ้น หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 รายงานจากแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า อัตราของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันผิดปกติที่พบได้ยาก คือภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia syndrome หรือ TTS) ภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองนั้น ไม่แตกต่างจากอัตราการเกิดภาวะนี้ในประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีน

ข้อมูลที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet วันนี้ แสดงให้เห็นอัตราโดยประมาณของการเกิดภาวะ TTS หลังจากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง พบผู้ที่เกิดภาวะ TTS 2.3 ใน 1,000,000 คน และพบผู้ที่เกิดภาวะ TTS 8.1 ใน 1,000,000 คน หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก โดยอัตราการเกิดภาวะTTS หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สองไม่แตกต่างจากอัตราที่พบในประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีน

เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) กล่าวว่า “วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลในการลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 และมีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาด ถึงแม้จะมีรายงานการเกิดภาวะ TTS หลังจากการฉีดวัคซีนเข็มแรก ผลการวิเคราะห์นี้ได้สนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็มตามที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา เพื่อช่วยป้องกันโรคโควิด -19 รวมถึงไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบมากขึ้น”

การวิเคราะห์นี้ดำเนินการโดยใช้ฐานข้อมูลความปลอดภัยทั่วโลกของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งรวบรวมอาการไม่พึงประสงค์ทั้งหมดที่ได้รับรายงานจากการใช้ยาและวัคซีนทั่วโลก สำหรับการวิเคราะห์นี้ รายงานเกี่ยวกับภาวะ TTS ทั่วโลกได้รับการรวบรวมจนถึง วันที่ 30 เมษายน 2564 ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 14 วันหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง

ผลการทดสอบนี้สอดคล้องกับรายงานล่าสุดจาก Yellow Card ซึ่งเป็นรายงานรวบรวมและบันทึกข้อมูลด้านความปลอดภัยของหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงอัตราภาวะการเกิดTTS ในระดับต่ำหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง

ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุที่ชัดเจนสำหรับภาวะ TTS หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้แอสตร้าเซนเนก้ายังคงดำเนินการและสนับสนุนการสอบสวนอย่างต่อเนื่องในการศึกษาหาสาเหตุและกลไกที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ทั้งนี้อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ยากมากเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้เมื่อมีการตรวจพบและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม