ข่าวดี! ประชาชนทั่วไปกลุ่มเสี่ยง 13 จังหวัด เตรียมฉีดไฟเซอร์สัปดาห์นี้

Photo by JUSTIN TALLIS / AFP

กลุ่มคนสูงวัย – 7 โรคเรื้อรัง – หญิงตั้งครรภ์ 13 จังหวัดเสี่ยง เตรียมฉีดไฟเซอร์สัปดาห์นี้ เน้นกลุ่มไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ส่วนบูสเตอร์โดสเข็ม 3 สำหรับประชาชนทั่วไปลุ้นฉีดปลายปี 64 – ต้นปี 65

วันที่ 8 สิงหาคม 2564 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่นำเข้ามาเมื่อปลายเดือน ก.ค. 64 นั้น ขณะนี้เริ่มฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าแล้วกว่า 57,000 คน

โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3-4 ส.ค. เร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งใจเริ่มฉีดวันที่ 9 ส.ค. 64 ถึง 5 วัน เนื่องจาก สธ. เล็งเห็นความสำคัญในการกระจายวัคซีนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีบุคลากรการแพทย์บางส่วนราว 30% ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปก่อน จึงเหลือบุคลากรด่านหน้าที่รอไฟเซอร์ประมาณ 70% และที่ต้องทยอยส่งวัคซีนไปให้พอดีในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากบางส่วนต้องกันวัคซีนให่แก่บุคลากรทางการแพทย์ต่างจังหวัดที่เคยเป็นด่านหลัง และขึ้นเป็นด่านหน้า เพื่อรับผู้ป่วยโควิดต่างจังหวัดที่มากขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ใน 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์หลังกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 1 สัปดาห์ หรือจะได้ฉีดในช่วงกลางสัปดาห์นี้นั่นเอง

โดยเน้นไปที่กลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการให้โอกาสคนที่มาฉีดวัคซีนช้า ช่วยให้ภูมิคุ้มกันขึ้นเร็ว ทั้งนี้ เมื่อไปถึงพื้นที่ฉีดหรือ รพ. จะทยอยให้ฉีดภายใน 31 วัน ส่วนอีก 16 จังหวัดที่เพิ่งถูกเพิ่มเป็นพื้นที่เสี่ยงจะได้รับไฟเซอร์ในลอตถัด ๆ ไป


อย่างไรก็ดี วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเทคโนโลยี mRNA ที่เพิ่งเคยใช้ในไทยเป็นครั้งแรก และความพิเศษของวัคซีนนี้คือ การใช้ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ แต่จากการสำรวจผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้วัคซีนชนิด mRNA สูง ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา 300 ล้านโดส

พบอาการไม่พึงประสงค์ 2 อาการ ได้แก่ 1.กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ 2.เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ จำนวน 1,226 ราย หรือคิดเป็น 4 คน ในล้านคน ถือว่าพบได้น้อยมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ไทยต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าอาการเหล่านี้มักพบในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 16-20 ปี ส่วนใหญ่พบหลังฉีดเข็มที่ 2 ไม่เกิน 7 วัน และทักเกิดขึ้นจากเพศชายสูงกว่าเพศหญิง อาทิ เพศหญิงอายุ 18-24 ปี พบ 23 ราย ขณะที่เพศชายในกลุ่มอายุเท่ากันพบ 219 ราย 

แต่ข่าวดีคืออาการดังกล่าวสามารถรักษาหายได้ตามอาการ และยังไม่เคยพบการเสียชีวิตจากอาการนี้ แต่มีคำแนะนำหลังการฉีดงดการออกกำลังกายหนัก เพื่อลดความเสี่ยงหัวใจทำงานหนัก ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลง

นอกจากนี้ สำหรับการกระจายวัคซีนเดือน ส.ค. ที่มีวัคซีนราว 10 ล้านโดส ทั้งจากไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค โดยปกติกระทรวงสาธารณสุขจะส่งวัคซีนสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส 

โดยวัคซีนกว่า 80% จะถูกส่งไปต่างจังหวัด ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งไป 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ที่มีผู้ป่วยโควิดสูงและมีการแพร่ระบาดหนัก ซึ่งจะพุ่งเป้ากลุ่ม 608 ฉีดให้ได้เร็วที่สุด 70% ในแต่ละพื้นที่

ส่วนที่เหลือจะไปพื้นที่ กทม. เขตที่มีการระบาดสูงสุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ฉีดผู้สูงอายุที่มีทะเบียนบ้านใน กทม. เกิน 80% แล้ว สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีทะเบียนในพื้นที่ กทม. น่าจะมีราว 200,000 คน ซึ่งจะทยอยฉีดให้ครบตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับปริมณฑลที่ตั้งเป้าฉีดให้ครบ 70% ขึ้นไป 

เมื่อถามถึงกรณีผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม นานแล้วซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันลด จะมีแผนบูสเตอร์โดสหรือไม่นั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า มีแผนบูสเตอร์โดสแน่นอน อย่างที่เห็นล่าสุดคือการฉีดเข็ม 3 ให้แก่บุคลากรด่านหน้าก่อน

สำหรับกลุ่มที่จะฉีดบูสเตอร์ต่อไปคือกลุ่มที่มีความเสี่ยง แต่อาจจะไม่ใช่ด่านหน้า เรียกว่ากลุ่มด่านกลาง เสี่ยงกลาง ๆ ควบคู่กับกลุ่มเสี่ยง 608 สูงวัย โรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์

ส่วนประชาชนทั่วไปจะเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งคาดว่า จะบูสเตอร์โดสกลุ่มที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ได้ในปลายปี 64 ไปจนถึงต้นปี 65 นี้