จับตาจัดซื้อ ATK พันล้าน ลดสเป็ก-เปิดประมูล ใครได้ใครเสีย !

Photo by REUTERS

ถึงวันนี้แม้ว่าคนไทยจะสามารถหาซื้อชุดตรวจโควิด-19 ประเภท Rapid Test Antigen หรือ Antigen Test Kits (ATK) สำหรับการตรวจด้วยตัวเองได้แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า สินค้าจำเป็นชนิดนี้ยังมีจำกัด หาซื้อได้ยาก และราคาค่อนข้างสูง ในท้องตลาดทั่วไปราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 250-300 บาท/ชุด ยากที่คนทั่ว ๆ ไปจะเข้าถึง

เมื่อคลิกเข้าไปตรวจสอบจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะพบว่าขณะนี้มี ATK แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ที่ได้รับการอนุญาตมากถึง 29 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2564) จากบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายหลายราย และมีแหล่งผลิตหลักจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา สเปน สวิตเซอร์แลนด์

จากการระบาดของโควิด-19 ที่หนักหน่วงยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นที่มาของการเร่งจัดหา ATK เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน

มีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจ ATK ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชนทุกคนทุกสิทธิ

ขณะที่ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบประมาณสำหรับการจัดหาชุดตรวจ ATK ดังกล่าวจะเป็นการใช้จ่ายจากงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ

โดยให้เครือข่าย รพ.ราชวิถีไปดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท และปริมาณชุดตรวจที่คาดว่าจะใช้ราว 8.5 ล้านชุด

พร้อมกับวางแนวทางการจ่ายชุดตรวจ ATK ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงผ่านร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 และคลินิกพยาบาล

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 สิงหาคม) องค์การเภสัชกรรมได้ส่งเผยแพร่เอกสารการแถลงข่าวไปยังสื่อมวลชน โดย นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถีให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของ สปสช. สำหรับใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก

และเพื่อให้การจัดหามีความชัดเจน โปร่งใส เกิดการแข่งขัน และเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ ได้ชุดตรวจ ATK ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

ทั้งนี้ สปสช.ได้ปรับข้อกำหนดคุณสมบัติส่งให้องค์การดำเนินการจัดหา โดยเชิญบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.มายื่นซองเสนอราคาในวันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 นี้

ซึ่งองค์การจะตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติต่าง ๆ และประกาศบริษัทผู้ชนะการเสนอราคา พร้อมส่งให้โรงพยาบาลราชวิถีรับทราบราคา ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

คาดว่าภายในสิงหาคม 2564 จะส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ สปสช.กำหนดต่อไป

ขณะที่ นายแพทย์เกรียงติศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อรองราคา สปสช. แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า

ถึงขณะนี้ขบวนการในการจัดซื้อ ATK ถือว่าล่าช้ามากเนื่องจากองค์การเภสัชกรรมที่ให้ สปสช.กลับไปแก้ระเบียบใหม่ ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ เนื่องจากคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กจว) 0405.2 (ว 115) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้สามารถทำได้ในช่วงที่มีภาวะเร่งด่วนจำเป็น

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หนักขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก สปสช.เล็งเห็นว่า ATK จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสู้กับโควิด

และมอบหมายให้คณะกรรมการต่อรองราคาเร่งศึกษาประเมินราคา รวมทั้งหารือกับผู้นำเข้าและมีการต่อรองราคา โดยยึดเรื่องคุณภาพ ความแม่นยำเป็นหลัก ในแง่คุณภาพผ่านการรับรอง อย.อย่างเดียวไม่พอ

แต่เราต้องการคุณภาพที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองด้วย ถัดมาราคาต้องไม่แพง และส่งมอบให้ทันทีหรือเร็วที่สุด

โดย สปสช.เจาะจงจะซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่ WHO รับรอง ทั้ง 2 ยี่ห้อมีผลคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1% เพราะเขาซื้อแจกเขาใช้ทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังต่อรองราคาได้เหลือเพียง 120 บาท จากที่ WHO ซื้อประมาณ 150 บาท ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง ขายให้ WHO ประมาณ 160 บาท แต่ลดให้เรา 140 บาท ทั้งหมดเป็นราคาที่รวมค่าขนส่ง เลขาฯ

สปสช.จึงผลักดันจนเป็นที่มาของการอนุมัติงบฯกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดองค์การเภสัชกรรมไม่ยึดหลักตามที่ สปสช. ส่งมาให้ และใช้วิธีขององค์การเภสัชกรรมเอง

“เหตุผลที่ สปสช.ไม่สามารถทำเรื่องตรงไปที่องค์การเภสัชกรรมได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในยุค คสช.ระบุว่า สปสช.ไม่มีสิทธิซื้อเอง ต้องตั้งเรื่องผ่านโรงพยาบาลราชวิถีที่เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้ให้บริการ ไปให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อแทน”

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ย้ำว่า เรื่องของโควิดช้าไม่ได้ วันนี้หากมีการตรวจที่เร็ว คนไข้ก็จะได้รับการรักษาเร็ว เมื่อรักษาและหายเร็วก็จะทำให้โซนสีเหลือง-สีแดงลดลง คนตายน้อยลง

สมมุติว่ามีชุดตรวจเข้ามา 5 แสนชุด ตรวจเจอ 10% หรือ 5 หมื่นคน เราก็จะแยกคนไข้กลุ่มนี้ออกมาเพื่อไม่ให้ไปแพร่กระจายเชื้อต่อ

อีกด้านหนึ่ง ATK ยังจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของโรงพยาบาลที่จะนำไปตรวจหาโควิดสำหรับคนไข้ที่จะต้องเข้าผ่าตัดฉุกเฉินหรือเร่งด่วน เพราะการทำเรียลไทม์พีอาร์ซี (RT-PCR) ต้องใช้เวลานาน 6-12 ชั่วโมง

หรือมากกว่านั้นกว่าจะรู้ผลซึ่งอาจไม่ทันการณ์ ดังนั้น คุณภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์พยาบาลที่ทำหน้าที่ หรือ ATK ให้ผลไม่แม่นยำ คลาดเคลื่อน แพทย์พยาบาล ก็มีความเสี่ยง หรือต้องติดโควิดกันทั้งวอร์ด ดังนั้น จึงเลือกที่มั่นใจที่สุด

นี่อาจจะเป็นที่มาของสิ่งที่หลาย ๆ คนเป็นห่วง…กลัวว่าจะได้ของแพงและคุณภาพไม่ดีพอ