ขุมทรัพย์ใหม่ ATK ระอุ ธุรกิจรุมแย่งเค้ก 5 พันล้าน

Photo by Ina FASSBENDER / AFP

การอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาและใช้ชุดตรวจ แรบิด แอนติเจน เทสต์ (rapid antigen test) แบบ home use ได้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสู้กับโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนัก และยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน

เบื้องต้น ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ชุดตรวจ แรบิด แอนติเจน เทสต์ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า antigen test kid (ATK) วางขายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิก รวมถึงร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มี เภสัชกร ประจำ ส่วนราคาชุดตรวจแรบิด แอนติเจน เทสต์ สำหรับประชาชน จะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท แต่ละยี่ห้อ ราคาจะเฉลี่ยตั้งแต่ 200-300 บาท

มือเก๋าโดดร่วมวงเพียบ

ล่าสุด (12 สิงหาคม) จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) ระบุว่า ขณะนี้มีชุดตรวจสำหรับโควิดประเภท rapid antigen test หรือ antigen test kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิต/นำเข้า ทั้งสิ้น 34 บริษัท โดยชุดตรวจ ATK ดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากฐานผลิตในประเทศจีน 18 ยี่ห้อ รองลงไปเป็นเกาหลี 8 ยี่ห้อ สหรัฐอเมริกา 3 ยี่ห้อ ไต้หวัน 3 ยี่ห้อ สวิตเซอร์แลนด์ 1 ยี่ห้อ และสเปน 1 ยี่ห้อ

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด ด้วยการตรวจข้อมูลการจดทะเบียนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ จะพบว่ากว่า 95% ของบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายชุดตรวจ ATK ล้วนเป็นบริษัทที่คร่ำหวอดในวงการมานาน บางรายจดทะเบียนตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2512 หรือมีอายุมากถึง 52 ปี

โดยบริษัทส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ บางรายเน้นขายเครื่องมือ อุปกรณ์ น้ำยาทางการแพทย์ใช้ในการตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค หลายรายนำเข้าและจำหน่ายสินค้ากลุ่ม diagnostics, เครื่องมือแพทย์และน้ำยาให้กับโรงพยาบาล

เรียกได้ว่าล้วนเป็นผู้คร่ำหวอดและมีประสบการณ์มายาวนาน ในจำนวนนี้ยังมีบริษัทขนาดใหญ่ชั้นแนวหน้าที่ได้รับการยอมรับในวงการที่คุ้นเคยกันมานาน ทั้งบริษัท ซีเมนส์ เฮลท์แคร์ จำกัด บริษัท ทรู เฮลท์แคร์ จำกัด บริษัทในเครือยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ จำกัด รวมถึงบริษัท บีเจซี เฮลท์แคร์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ร่วมอยู่ด้วย

หน้าใหม่ร่วมวงหวังแจ้งเกิด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากบริษัทที่มีประสบการณ์และคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจอุปกรณ์และ
เครื่องมือแพทย์แล้ว ยังมีบริษัทที่อยู่นอกวงการ และบริษัทเพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่จำนวนหนึ่ง ที่ให้ความสนใจกับตลาดชุดตรวจโควิด-19 ที่เพิ่งจะเปิดกว้างครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยหลักใหญ่มาจากมั่นใจว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีในอนาคต

ยกตัวอย่าง กรณีของ บริษัท ซูววีนาวว์ จำกัด ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อ 19 กรกฎาคม 2554 ที่ทำธุรกิจการขนส่ง และขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร และแตกไลน์มาเป็นผู้นำเข้าเอทีเค จากประเทศจีน เช่นเดียวกับ บริษัท สเปเชียลตี้ อินโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เดิมทำธุรกิจผลิตน้ำหอม เครื่องสำอาง และเครื่องหอมอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสารสกัดจากพืชสมุนไพร ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น ก็ก้าวข้ามไลน์มาในตลาดนี้อีกราย ด้วยการนำเข้าชุด ATK จากประเทศเกาหลี

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้ อาทิ บริษัท ยูโรฟินส์ ฟู๊ด เทสติ้ง จำกัด จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ โดยมี ยูโรฟินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ แอลยูเอ็กซ์ เอสเออาร์แอล ประเทศลักเซมเบิร์ก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็นำเข้าชุด ATK จากประเทศจีน

ขณะที่ บริษัท โครเวอร์ โกรฟ จำกัด จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อ 26 มิถุนายน 2563 ประกอบการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ในทางการแพทย์ (ยกเว้นทางทันตกรรม) นำเข้าชุด ATK จากประเทศจีนเช่นกัน ส่วน บริษัท อาร์เค เมดเทค จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นำเข้าเพื่อจำหน่าย ยา และอุปกรณ์การแพทย์ ก็เริ่มนำเข้าชุด ATK จากประเทศจีนเช่นกัน

รวมถึง บริษัท จีโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อมกราคม 2564 ที่มี นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ประกาศตัวนำเข้าชุด ATK จากประเทศจีน

และนอกจากบริษัทของนักธุรกิจชาวไทยแล้ว ในจำนวนนี้ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยกับทุนต่างประเทศ อาทิ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ที่เป็นบริษัทร่วมทุนไทย-รัสเซีย ให้บริการเกี่ยวกับการบริหารงานด้านพาณิชยกรรมการค้าระหว่างประเทศ

นายอิสรัมภ์ ศรียิ่งยงค์ (ไทย) ถือหุ้น 51% ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เอ.จี (รัสเซีย) 25% และแบล็กฟ็อกซ์ แคปปิตอล จำกัด (รัสเซีย) 24% ตั้งบริษัทเมื่อปี 2557 และยังมีบริษัทที่เป็นการจับมือระหว่างนักธุรกิจไทยและไต้หวัน ในนาม บริษัท เจ.เอ.ซี.อินดัสตรี้ จำกัด ขายผลิตภัณฑ์ดูแลผม เครื่องสำอาง ที่กระโดดเข้ามาบุกตลาดนี้เช่นกัน

ตลาดพันล้านอนาคตสดใส

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพย์รายหนึ่งแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากตลาดชุดตรวจ ATK เป็นตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ ดังนั้นในแง่ของการรวบรวมตัวเลขมูลค่าตลาดรวมอาจจะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนนักว่ามีมากน้อยแค่ไหน

แต่เบื้องต้นหากประเมินจากการตั้งงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อชุดตรวจแจกให้ประชาชนประมาณ 8.5 ล้านชิ้น เชื่อว่ามูลค่าตลาดก็น่าจะมีมากกว่า 1 พันล้านบาท และตลาดนี้ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก และอาจจะเป็นตัวเลขถึง 5-6 พันล้านบาท ก็เป็นไปได้

เนื่องจากชุดตรวจเป็นสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และต้องมีการใช้ต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ อาจจะ 1-2 อาทิตย์/ครั้ง ดังนั้น ในแง่ของดีมานด์จึงมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดหนัก และยังไม่มีวัคซีนเข้ามาแก้ปัญหา


คาดว่าจากนี้ไปคงจะมีหลาย ๆ บริษัทเข้ามาจดเบียนเพิ่มขึ้น หรืออีกด้านหนึ่ง บริษัทเดิมที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้วก็จะมีการนำชุดตรวจยี่ห้อใหม่เข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น