อธิบดีกรมการแพทย์แนะ Home Isolation ทางรอดผู้ป่วยโควิด อัตรารอเตียงลดลง

อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ Home Isolation ความหวังทางรอดไทย หลังรับผู้ป่วยเข้าระบบ 6-8 หมื่นคน หนุนอัตราการรอเตียงลดลง เฉพาะสีแดงลงเกือบ 50% พร้อมแนะผู้ป่วยโควิดปฏิบัติตามแนวทาง 7 แยก ลดการกระจายเชื้อสู่คนรอบข้างได้

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยในงาน Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย จัดโดยเครือมติชน ในหัวข้อ “Home Isolation ทางรอดวิถีใหม่ ทำอย่างไรให้รอดจริง!” โดยระบุว่า ปัจจุบันภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนเตียง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องนำระบบแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาการรอเตียง และช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น

ขณะนี้ในส่วนของการรักษาผ่านระบบ HI เฉพาะผู้ป่วยเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑลมีผู้เข้ารับการรักษาสูงถึง 60,000-80,000 ราย แล้ว ขณะที่ต่างจังหวัดจะใช้ระบบดังกล่าวน้อยกว่า เนื่องจากมีความแตกต่างด้านบริบทกันสูง

โดยต่างจังหวัดจะมีคลินิก อนามัย แยกย่อยลงไปมากกว่า กทม. และปริมณฑล ประกอบกับมีสถานที่กว้างกว่าสามารถรองรับการจัดตั้ง รพ.สนาม ทำให้คนต่างจังหวัดเข้าถึงเตียงได้มากกว่า

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโควิด และเมื่อตรวจ ATK พบผลบวกสามารถเข้าระบบ HI ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งการทำ HI ขอเน้นย้ำว่าเป็นการแยกกักตัวคนเดียว โดยมีหลักการปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้

  1. แยกอยู่ คือการอยู่คนเดียว
  2. แยกกิน ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  3. แยกนอน ห้ามนอนร่วมกับผู้อื่น หากทำไม่ได้ ต้องเข้าสู่ระบบ Community Isolation (CI) แทน หรือการกักตัวในชุมชน ศูนย์พักคอยต่าง ๆ ซึ่งต้องตรวจ RT-PCR ขนานไปทีหลังด้วย
  4. แยกใช้ โดยไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  5. แยกห้องน้ำ ไม่ใช้ห้องน้ำกับผู้อื่น หรือหากจำเป็นต้องใช้ เวลากดน้ำต้องปิดฝาชักโครก และทำความสะอาดห้องน้ำหลังใช้ โดยการใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอก
  6. แยกทิ้ง นำขยะใส่ถุงแยกเฉพาะ เพื่อกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  7. แยกอากาศ ทำได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทั้งผู้ป่วยและญาติ (หากอยู่ร่วมบ้านกัน) พร้อมกับเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร

นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ระบบ HI แล้วจะได้รับถุงสำหรับการดูแลตนเองช่วยป่วยโควิด ประกอบด้วย เครื่องวัดไข้, เครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว, ยา, อาหาร 3 มื้อ, Telemonitor ติดตามอาการรักษา

โดยจะมีทีมแพทย์และพยาบาลจากสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น รพ. หรือคลินิก ช่วยติดตามอาการผ่านระบบเทเลเมดดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล ติดตามอาการผู้ป่วยเช้า-เย็น วันละ 2 เวลา ซึ่งจะระดมบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดที่มีภาระงานลดลงจากผู้ป่วยเข้ารับบริการน้อยลง เข้าช่วยติดตามอาการผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพผ่านการวีดิโอคอลอย่างใกล้ชิด

“การนำผู้ป่วยโควิดเข้าระบบเปรียบเสมือนการแยกปลาออกจากน้ำ กันคนติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ และแบ่งระดับการรักษาตามอาการ โดยปกติใน กทม. จะมีผู้ป่วยเฉลี่ย 4,000 คน/วัน ในจำนวนนี้ประมาณ 3,000 คน จะเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถเข้าระบบ HI หรือ CI ได้ ส่วนผู้ป่วยอาการเล็กน้อยไม่รุนแรงจะเข้าระบบ Hospitel หรือ รพ.สนาม”

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า หลังจากการนำระบบ HI มาใช้ ส่งผลให้อัตราการรอเตียงลดลงเป็นอย่างมาก เฉพาะสีแดงจากปกติมีการรอเตียงสูงสุดถึง 120 เตียง/วัน ก็ลดลงเหลือเพียง 60 เตียง/วัน และหากทำระบบดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น เชื่อว่าจะมีเตียงรองรับผู้ที่อาการหนักได้ และสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นเรื่อย ๆ